การทำไม้นั้นแบ่งออกได้กว้างๆ เป็น ๒ ตอน คือ การทำไม้ "ตอนป่า" และการทำไม้ "ตอนยวดยาน" การทำไม้แต่ละตอน มีวิธีการแตกต่างกันไปดังนี้
สวนสักอายุ ๓ ปี ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
การทำไม้ตอนป่า
การทำไม้ออกจากป่านั้น ไม่ว่าจะทำไม้ออกมา เพื่อใช้สอยส่วนตัว หรือเพื่อการค้า ถ้า ไม้ที่จะนำออกมานั้นเป็นไม้หวงห้าม คือ ไม้ชนิดดีมีค่า จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้เสียก่อน ไม้ชนิดที่สำคัญๆ เช่น ไม้สัก แดง ประดู่ หลุมพอ มะค่าโมง เต็ง รัง ฯลฯ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จะเข้าไปคัดเลือก และตีตราประจำต้น เพื่ออนุญาตให้ตัดได้ เมื่อตัดโค่นไม้ที่มีตราลงแล้ว ก็ใช้เลื่อยทอนต้นไม้ที่ล้มลงมานั้นเป็นท่อนๆ โดยปกติความยาวของไม้ที่ทอนออกเป็นท่อนนั้น จะต้องคำนึงถึงตลาดด้วย เช่น ในท้องที่ที่เป็นภูเขาสูงนำไม้ซุงออกมาได้ยาก ต้องทอนต้นไม้ให้เป็นท่อนสั้นๆ เพื่อให้น้ำหนักของไม้แต่ละท่อนเบาลง ถ้าท้องที่ที่ทำไม้ออกเป็นที่ราบ อาจทอนไม้เป็นท่อนยาวๆ ได้ ไม้ซุงที่นำออกมานั้น จะต้องพยายามทอนเอาเฉพาะส่วนที่ตรง และตัดส่วนที่เป็นง่าม หรือปุ่มตาออก เนื่องจากไม้ซุงที่ทำออกมาจากป่า ต้องการนำไปเลื่อยเป็นสำหรับปลูกบ้าน ดังนั้น ความยาวของไม้ซุงแต่ละท่อน จึงไม่ควรสั้นกว่าความยาวของห้องตามบ้านเรือนที่ปลูกกันทั่วๆ ไป คือ ไม่ควรสั้นกว่า ๔ เมตร เว้นแต่ว่าไม้ซุงที่ทำออกมานั้น จะนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น ทำเครื่องเรือน ทำไม้อัด หรือต่อเรือ ก็จำเป็นต้องกำหนดความยาวของท่อนซุง ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงานที่จะใช้ไม้นั้น
ต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก
ที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
สำหรับไม้ชนิดที่สำคัญๆ ซึ่งพนักงานได้ตีตราประจำต้นให้ตัดฟันได้ เมื่อล้มลง และตัดทอนแล้ว จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่า ไม้ที่ล้มนั้น มีตราถูกต้องหรือไม่ ทอนได้เป็นกี่ท่อน เมื่อตรวจสอบถกูต้องแล้ว เจ้าหน้าที่จะตีตรา ที่ท่อนซุงทุกท่อนไว้อีกครั้งหนึ่ง การตีตราตรวจสอบในครั้งนี้เรียกว่า "ตีตราชักลาก" เมื่อได้ผ่านวิธีการนี้แล้ว จึงจะชักลากไม้นั้นให้ห่างออกไปจากตอเดิมได้ ไม้ที่ล้มแล้ว ทอนไว้เป็นท่อนซุงนี้ ถ้าเป็นบริเวณที่มีภูเขาสูงชัน ผู้ทำไม้จะใช้ช้าง หรือรถแทรกเตอร์ ลากไม้ซุงนั้น มารวมไว้เป็นแห่งๆ ในที่ซึ่งรถยนต์ หรือพาหนะอย่างอื่น จะเข้ามาบรรทุกไม้นั้นต่อไปได้ การใช้ช้าง หรือรถแทรกเตอร์ลากไม้ซุง จากตอที่ตัดมารวมไว้เป็นแห่งๆ นี้เรียกว่า "ถอนตอ" ส่วนสถานที่ที่นำไม้ซุงมารวมไว้เป็นที่เดียวกันนั้น เรียกว่า "หมอนไม้" และการทำไม้ทั้งหมด ตั้งแต่โค่นล้มรวมถึงการชักลากมารวมกอง เพื่อเตรียมไว้บรรทุกรถยนต์ภายในบริเวณป่า เรียกรวมๆ กันว่า "การทำไม้ตอนป่า" การทำไม้ในที่ราบ อาจจะใช้รถยนต์ไปบรรทุกไม้จากตอที่เดียว โดยไม่ต้องถอนตอไปรวมกองไว้ก็ได้
การทำไม้ตอนยวดยาน
เมื่อได้ชักลากไม้มารวมกองไว้ที่หมอนไม้ในป่าแล้ว ผู้ทำไม้ก็จะขนส่งไม้ซุงนั้นต่อไปยังโรงเลื่อย หรือตลาดการค้า ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลออกไป การขนส่งช่วงนี้อาจจะใช้รถยนต์ รถไฟ หรือพาหนะอย่างอื่น ซึ่งเป็นการขนส่งนอกอาณาเขตป่าที่ทำไม้ เราเรียกการขนส่งตอนนี้ว่า "การทำไม้ตอนยวดยาน" ไม้ซุงที่ได้รับอนุญาตให้ทำออกจากป่า เมื่อจะขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ใด โดยใช้ยานพาหนะอะไร จะต้องขอรับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจสอบได้ว่า ไม้ซุงนั้นทำออกมาโดยถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมายแล้ว ก็จะออกหนังสือสำคัญในการขนส่งให้ หนังสือสำคัญนี้เรียกว่า "ใบเบิกทาง" ผู้ขนส่งไม้จะต้องนำใบเบิกทางติดตัวไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจเมื่อผ่านด่านป่าไม้ จึงจะขนไม้ซุงออกไปได้