เล่มที่ 3
ทรัพยากรป่าไม้
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กำเนิดของป่าไม้

            ป่าไม้ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในรูปของพืชดั้งเดิมเมื่อประมาณ ๓๕๐ ล้านปี แล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปร เป็นไม้ใหญ่นานาชนิด เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ได้เจริญเติบโตขึ้น แล้วก็เสื่อมโทรมและล้มตายลง จนในที่สุด พรรณไม้บางชนิดก็สูญพันธุ์ไป มีพรรณไม้ชนิดใหม่เกิดขึ้นทดแทน เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของดินฟ้าอากาศ พรรณไม้จำพวกที่เกิดขึ้นก่อนเมื่อประมาณ ๑๘๑ ล้านปีมาแล้ว ได้แก่ ไม้ในตระกูลไม้สน ที่มีใบเรียวแหลมคล้ายเข็ม ต่อมาในระยะ ๔๖ ล้านปี จึงมีพรรณไม้พวกใบกว้าง เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ถือกำเนิด ขึ้นมา และได้เจริญเติบโตมาตราบเท่าทุกวันนี้

ป่าดงดิบ วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

            ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของมนุษย์ ในทวีปยุโรป เมื่อสมัยที่พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ และเป็นเจ้าของประเทศ ป่าไม้ หมายถึง พื้นที่ที่สงวนไว้ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ใช้เป็นที่ล่าสัตว์ แต่ในสมัยปัจจุบัน "ป่าไม้" หมายถึง บรรดาพื้นที่ที่มีพรรณไม้นานาชนิดปกคลุมอยู่ โดยมีจำนวนไม้ต้นขนาดต่างๆ มากกว่าพรรณไม้ชนิดอื่นๆ และมีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอที่สามารถผลิตไม้หรือของป่า ให้ประชาชนได้ใช้สอย หรือทำการค้า หรือมีอิทธิพลต่อดินฟ้าอากาศและระบบน้ำของแต่ละท้องถิ่น ที่ป่าไม้นั้นตั้งอยู่

            ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมีป่าไม้หลายชนิดขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศ ได้แก่ ลมฟ้าอากาศ โดยเฉพาะฤดูกาล และปริมาณของฝนที่ตกในปีหนึ่งๆ และระยะเวลาที่ฝนตก ถัดไปก็ได้แก่ ชนิดของดินซึ่งถ้าเป็นดินลึก อุดมสมบูรณ์ เก็บความชุ่มชื้นไว้ได้ดี ป่าก็มักจะเป็นป่าชื้น หรือป่าดงดิบที่ต้นไม้ไม่ผลัดใบในถิ่นที่แห้งแล้ง ฝนตกน้อย หรือที่มีฤดูฝน และฤดูแล้งแยกออกจากกันอย่างแน่นอน ป่าก็เป็นป่าแล้ง หรือป่าผลัดใบ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความสูงจากระดับน้ำทะเล ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดป่าไม้ชนิดต่างๆ กันด้วย

ป่าแล้ง (ไม้เต็ง รัง)
ในประเทศไทย ป่าไม้จำแนกออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

            ก. ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ หรือป่าดงดิบ
            ข. ป่าประเภทที่ผลัดใบ หรือป่าแล้ง

            ก. ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ

ยังจำแนกออกเป็นชนิดสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

            ๑.ป่าดงดิบ

ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ และภาคตะวันออกของประเทศไทย และตามพื้นที่ในบริเวณหุบเขาทางภาคอื่นๆ ด้วย มีพรรณไม้ที่มีค่า เช่น ไม้ยาง สยา ตะเคียน กระบาก

            ๒.ป่าดงดิบเขา

ขึ้นอยู่บนภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ ที่มีความสูงเกินกว่า ๘๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป มีพรรณไม้ที่สำคัญคือ ไม้ในตระกูลเดียวกับโอ๊ก และเชสนัตของเขตอบอุ่น คือ พวกไม้ก่อชนิดต่างๆ ไม้จำปีป่า หว้า และกำยาน

            ๓.ป่าสน หรือป่าสนเขา

ในประเทศไทยป่าสนมักขึ้นอยู่บนเขาสูงในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีอยู่บ้างในบางจังหวัด เช่น จังหวัดเลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ที่ดินที่ขึ้นอยู่ก็ไม่สู้อุดมสมบูรณ์ หรือเป็นกรด พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สนสองใบ และไม้สนสามใบ ซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่สูงประมาณ ๒๐๐ และ ๗๐๐ เมตร ตามลำดับ จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ต้นสน บางทีก็ขึ้นอยู่เป็นหมู่ล้วนๆ ไม่มีไม้ชนิดอื่นปะปนแต่บางทีก็ปะปนอยู่กับพรรณไม้บางชนิด เช่น ไม้ก่อต่างๆ ไม้เหียง พลวง เต็ง รัง

            ๔. ป่าเลนน้ำเค็ม

ขึ้นอยู่ในที่ดินเลนริมทะเล และตามปากแม่น้ำใหญ่ๆ ซึ่งมีน้ำเค็มท่วมถึงทางชายฝั่งตะวันออก และตะวันตก พรรณไม้ที่สำคัญก็มีพวกไม้โกงกาง ถั่ว ประสัก แบะโปรงซึ่งเหมาะสมสำหรับทำฟืน และเผาถ่าน

ป่าดงดิบ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

            ข. ป่าประเภทที่ผลัดใบ หรือป่าแล้ง

จำแนกออกได้อีก ๒ ชนิด

            ๑.ป่าเบญจพรรณ หรือป่าผลัดใบผสม

ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ทั่วไปทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นภาคใต้ ในภาคเหนือมีไม้สัก แดง ประดู่ ตะแบก มะค่าโมง ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พรรณไม้ก็คล้ายคลึงกัน แต่มีไม้พยุงเป็นไม้สำคัญ ลักษณะของป่าเป็นป่าโปร่ง ประกอบด้วยพรรณไม้ขนาดกลาง พื้นป่าไม้รกทึบมาก ในฤดูแล้งต้นไม้เกือบทั้งหมดพากันผลัดใบ เพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในระหว่างที่พื้นดินแห้งแล้ง

            ๒.ป่าแพะ หรือป่าแดง หรือป่าโคก

ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงร้อยละ ๗๐ ของป่าชนิดต่างๆ ในภาคนี้ นอกจากนี้ ก็มักปรากฏยู่ตามสันเขา หรือลาดเขา และที่ราบที่ดินเลว และแห้งแล้งในภาคเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ ไม่ปรากฏว่ามีขึ้นอยู่ หากดินสมบูรณ์หรือมีความชุ่มชื้นดี ต้นไม้ก็มักมีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับทำไม้ท่อน แต่ในที่ดินเลว และแห้งแล้ง พรรณไม้ก็มีขนาดเล็กแคระแกร็น เหมาะสำหรับทำฟืน หรือเผาถ่าน หรือเป็นไม้เข็ม หรือเสากระทู้รั้วเท่านั้น พรรณไม้ที่สำคัญในป่าชนิดนี้ ได้แก่ ไม้เต็ง รัง เหียง พลวง ซาก รกฟ้า พยอม

ป่าชายหาด

นอกจากป่า ๒ ประเภทใหญ่ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีป่าประเภทอื่นอีก ซึ่งไม่สู้มีความสำคัญนัก ได้แก่

            ๑.ป่าชายหาด

ป่าชนิดนี้มีเนื้อที่เพียงเล็กน้อย ขึ้นอยู่ตามริมหาดชายทะเลทั่วไป ลักษณะเป็นป่าโปร่ง พรรณไม้ที่สำคัญ คือ ไม้กระทิง สนทะเล โพทะเล หูกวาง และมักมีต้นเตย และหญ้าต่างๆ ขึ้นอยู่เป็นไม้ชั้นล่าง

            ๒.ป่าบึงหรือป่าพรุ

ป่าชนิดนี้อยู่ในที่ราบลุ่ม ซึ่งมีน้ำจืดขังอยู่เกือบตลอดปี มีอยู่ในภาคกลาง และภาคใต้ เป็นส่วนใหญ่ แต่มีเนื้อที่ไม่มากนัก พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ถ่อน กระทุ่มน้ำ จิกอินทนิลน้ำ โสก หว้าต่างๆ