เล่มที่ 10
โรคตา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ตาบอดที่พบในเด็ก ส่วนมากเกิดจากการบาดเจ็บ ที่ทำให้เป็นแผลที่ตา แล้วมีการอักเสบตามมา ทำให้ตาบอดได้ การระวังรักษาตาเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างมาก แพทย์จะหยอดตาเด็กเกิดใหม่ทุกคนด้วยเกลือเงินไนเทรต หรือยาปฎิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระหว่างการคลอด สิ่งที่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุตา และกระจกตามีหลายอย่าง ได้แก่ การเล่นของแหลมคม หรือสารเคมี เช่น กรด ด่าง การเล่นดอกไม้ไฟ การที่ตาได้รับฝุ่นละออง ตลอดจนแสงสว่างจ้า หรือความร้อนเป็นระยะเวลานาน เช่น แดดตอนเที่ยงวัน แสงสะท้อนจากกระจกรถยนต์ เป็นต้น แม้ว่าตาจะมีสิ่งป้องกันที่ดีตามธรรมชาติ เช่น น้ำตา หนังตา ก็ไม่สามารถจะป้องกันอันตรายต่างๆ ดังกล่าวได้ทั้งหมด กระจกตาที่ถูกแสงร้อนนานๆ จนบวมและขุ่น ลมทำให้ผิวเยื่อตาแห้งเร็ว ถ้ามีฝุ่นละออง และเชื้อโรค ก็จะทำให้ตาอักเสบง่ายและเร็วขึ้น การป้องกันที่ดี คือ หลีกเลี่ยงจากสิ่งดังกล่าว แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ควรสวมแว่นตาขณะเดินทาง หรือเมื่อออกกลางแดด

อาหารประเภทต่าง ๆ

            การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ประเภท เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ เกลือแร่ และวิตามินนานาชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบีรวม และวิตามินซี จะช่วยให้ตาแข็งแรง และแผลหรือการอักเสบหายเร็วขึ้น การนอนพักผ่อน การออกกำลังกาย การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ควรทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย จะช่วยให้สุขภาพของตาดีขึ้น และปราศจากโรค

            นอกจากโรคตาที่เกิดจากการอักเสบต่างๆ แล้ว ยังมีโรคเกี่ยวกับสายตาที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเป็นเพราะความผิดปกติ ของส่วนประกอบของตา เช่น สายตาพร่าต่างแนว สายตาสั้น เมื่อเกิดโรคเช่นนี้มักจะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยชัด หรืออาจปวดศีรษะ

            ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับตาและโรคตา ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือรักษาเอง ควรรีบไปหาแพทย์ทันที

โรคตาที่พบบ่อย และเกิดขึ้นตามวัยต่างๆ แบ่งเป็น ๔ ระยะ ดังนี้

            ๑. ระยะ ๓ เดือนแรก ของการตั้งครรภ์ ในขณะที่เด็กในครรภ์มารดากำลังเจริญเติบโต โดยเฉพาะในระยะ ๓ เดือนแรกนั้น ส่วนที่จะเกิดเป็นตา กำลังยื่นออกมาจากสมอง และไม่มีสิ่งปกคลุมป้องกันอันตรายดีพอ ถ้ามารดาขาดอาหาร ตาที่เพิ่งงอกออกมาก็จะได้รับอันตรายได้ง่าย ถ้ามารดาป่วยเป็นโรคติดเชื้อ ที่ทำให้มีการอักเสบของถุงน้ำคร่ำ เช่น จากเชื้อบัคเตเรีย เชื้อไวรัส โดยเฉพาะโรคหัดเยอรมัน หรือแม้แต่การใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ตาที่กำลังเจริญอยู่นั้นหยุดเจริญ หรือเจริญผิดปกติ

            ๒. วัยเด็กเล็กก่อนเข้าเรียน คือ อายุระหว่าง ๓-๕ ปี มักพบโรคตาอักเสบเป็นหนอง ต้อแก้วตา หรือต้อกระจก ต้อหิน มะเร็งของจอตา และการเกิดอันตรายต่อลูกตา

            ๓. วัยเรียน และวัยทำงาน คือ อายุระหว่าง ๔-๓๙ ปี มักพบสายตาพิการ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาพร่าต่างแนว ตาเหล่ และตาส่อน ซึ่งแก้ไขได้ โดยใช้แว่นตา หรือทำผ่าตัด ภยันตรายต่อตาในวัยนี้มีมาก เพราะต้องออกจากบ้านมากกว่าวัยอื่น อันตรายเหล่านี้ ได้แก่ ผงหรือฝุ่นละอองที่สกปรกเข้าตา เยื่อตาถลอก แล้วทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนอง แผลทะลุ

            ๔. วัย ๔๐ ปีขึ้นไป โรคที่พบบ่อย คือ ต้อแก้วตา ซึ่งทำให้มีอาการสายตามัว รักษาแก้ไขได้โดยการผ่าตัด ต้อหิน ถ้าไม่รักษาจะทำให้ตาบอดอย่างถาวร