ประกาศของกระทรวงพาณิชย์เรื่อง มาตรฐานเครื่องเงินไทย ลงวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ให้คำนิยาม "เครื่องถม" ว่าหมายถึง วัตถุที่ทำหรือประกอบขึ้น ด้วยโลหะเงิน และลงยาถม และคำว่า "ยาถม" หมายความว่า สารเคมีที่มีโลหะเงินเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘ ของน้ำหนัก ("โลหะเงิน" หมายความว่า โลหะเงินที่อนุญาตให้มีโลหะอื่นเจือปนได้ไม่เกินร้อยละ ๗.๕ ของน้ำหนัก โลหะที่ใช้เจือปนโลหะเงินก็คือ ทองแดง เพื่อทำให้เนื้อเงินแข็ง และเหมาะสมที่จะนำมาทำเครื่องถม ในน้ำหนัก ๑๐๐ กรัม ของเนื้อเงินผสมมาตรฐาน จะเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์ ๙๒.๕ กรัม เนื้อทองแดง ๗.๕ กรัมเป็นอย่างน้อย เนื้อเงินผสมมาตรฐาน ที่เรียกว่า เงินสเตอร์ลิง มีเนื้อเงินร้อยละ ๙๒.๕ และมีโลหะอื่น เช่น ทองแดง อีกร้อยละ ๕)
ผลิตภัณฑ์เครื่องถมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ประวัติความเป็นมาของเครื่องถม
หลักฐานเอกสารเรื่อง เครื่องถม มีดังนี้ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๖ โรงพิมพ์รุ่งเรือง พระนครพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๘ มีข้อความตอนหนึ่ง อธิบายว่า
"การทำถม คำอังกฤษว่า niello ในเอ็นไซโคลพิเดียบริแทนนิกา อธิบายไว้ว่า เป็น คำแบบอิตาลีจากคำละติน nigellum แผลงมาจากคำว่า niger ซึ่งแปลว่า ดำ ความรู้ที่เกี่ยว กับกรรมวิธีและวัตถุที่ใช้ในการทำถมนั้น ส่วนใหญ่จะทราบได้จากหนังสือของอีแรคลิอุส ชาวโรมัน ผู้เป็นนักประพันธ์ อาจจะอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ของฮีโอพิลุส นักบวช ซึ่ง เขียนในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หรือ ๑๘ และของเบนเวนูโต เชลลินี กับ กีออกีโอ วาชารี เขียนในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ การทำถมส่วนมากทำกับเครื่องเงิน เพราะเหตุที่ความสุกสกาว ของเนื้อเงินนั้นตรงกันข้ามกับความดำของยาถม จึงเป็นสีตัดกันทำให้ลวดลายงามเด่น เครื่องถมที่เก่าที่สุดเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ เป็นของในสมัยโรมัน (ประมาณตั้งแต่สร้างกรุงโรม ๒๑๐ ปีก่อนพุทธกาล ถึง พ.ศ. ๑๐๑๙) ตัวอย่างอันงดงามมีเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นรูปนายทหารโรมัน เชื่อว่าเป็นฝีมือในพุทธศตวรรษที่ ๖ (พ.ศ.๕๔๔-๖๔๕) อีก ชิ้นหนึ่งประมาณว่าทำไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ ๙ เป็นหีบเครื่องสำอางของสตรีจากสมัยโรมัน ลงมาจนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ศิลปะการทำถมดูเหมือนจะมีทำกันอยู่เป็นปรกติในบาง ส่วนของทวีปยุโรปเป็นอย่างน้อย แต่ในรัสเซียและอินเดียนั้นได้ทำกันตกทอดสืบมาจนถึง ในสมัยปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์อังกฤษมีสมบัติอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นรูปกระดูกท้องแข็ง (fibular) เงิน ถมธรรมดาประดับด้วยแผ่นทองลายดุน แม้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับของสแกนดิเนเวีย และ ของอังกฤษอย่างที่สุด แต่ของชิ้นนี้ก็ขุดพบในหลุมฝังศพแห่งหนึ่งในเคิร์ซ (Kerch) ประเทศ รัสเซีย ศิลปอุตสาหกรรมนี้ได้รับการวิวัฒนาขึ้นสู่ความสมบูรณ์อย่างสูงสุดในอิตาลีตลอดเวลา แห่งสมัยกลาง (พุทธศตวรรษ ๑๓-๒๐ ถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๘-๑๕) ได้ใช้ในการแต่งถาด เรี่ยไรตามโบสถ์ แต่งหน้าแท่นบูชาและของอื่นๆ ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ลงยาสีดำ (black enamel) กับถม (niello) จะดูคล้ายคลึงกัน และในบางกรณีก็เป็นการยากที่จะชี้ลงไป ว่าแตกต่างกันโดยดูด้วยตาเปล่า แต่ตามกรรมวิธีประดิษฐ์นั้นไม่เหมือนกัน
ตัวยาในการทำถมเป็นส่วนผสมของโลหะต่างๆ ล้วน (metallic) ไม่ใช่เป็นวัตถุพวก แก้วใส (vitreous) ดังเช่นตัวยาในการลงยา ส่วนผสม คือ เงิน ๒ ทองแดง ๑/๓ ตะกั่ว ๑/๖ ส่วน"
เครื่องถมเป็นประณีตศิลป์ของไทยที่เก่าแก่ ซึ่งมีมาแต่สมัยอยุธยา เราจะพบว่า ถมที่เก่าที่สุด เป็นถมดำ ถมนี้จะเป็นศิลปะดั้งเดิม ที่ไทยคิดขึ้นเอง หรือว่าได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศทางยุโรป ก็ยากที่จะหาหลักฐานได้ การลงพื้นสี เช่น สีดำ ลงบนวัตถุที่สลักลายวัตถุนั้น จะเป็นสีทอง หรือสีเงิน ทางยุโรปเรียกกันว่า ทูลาซิลเวอร์ (Tula Silver) แต่ทูลาซิลเวอร์จะออกเป็นสีเขียวๆ คล้ายปีกแมลงทับ หรือที่เราเรียกกันว่า "เมฆพัด" เมฆพัดเป็นส่วนผสมของโลหะ เช่นเดียวกับตัวยาถม ต่างกันที่เมฆพัดมีแต่ตะกั่วกับทองแดง ส่วนตัวยาถมมีตะกั่ว ทองแดง และเงิน ตามนัยนี้จึงมีบางท่านคิดว่า ไทยทำถมได้เอง โดยปรับปรุงขึ้นจากเมฆพัด
เครื่องถมเป็นประณีตศิลป์ของไทยที่เก่าแก่ มีกรรมวิธีการทำอย่างละเอียด ประณีต