เล่มที่ 21
วีรสตรีไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สมเด็จ พระสุริโยทัย

            วีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย เกิดขึ้นในระหว่างสงครามไทยกับพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ นั้น ยังมีข้อความควรทราบ แต่มิได้กล่าวในพระราชพงศาวดารหลายประการ ดังนี้

            ๑. เคยมีข้อความในพงศาวดารไทยกล่าวว่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ยกกองทัพมาตีเมืองไทยก่อนสงครามครั้งนี้แล้ว ครั้งหนึ่ง ข้อความนี้ผิด

            สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า ผู้เขียนพงศาวดารตอนนั้น คำนวณปีครองราชย์ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิผิดไป ทรงอธิบายแก้ข้อความนี้ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ในส่วนคำอธิบาย ในตอนท้ายเล่ม ๑

            ดังนั้นการยกทัพมาตีเมืองไทยครั้งนี้ จึงเป็นครั้งแรก

            ๒. เหตุที่ไทยกับพม่า ไม่เคยทำสงครามกันมาก่อน ทั้งนี้เพราะมีราชอาณาจักรมอญตั้งอยู่ระหว่างไทยกับพม่า และไทยก็มีสัมพันธภาพอันดีกับมอญ ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

            ๓. ในเวลาต่อมา พม่าเริ่มมีอำนาจทางทหารสูงขึ้น ในสมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ จนสามารถตีอาณาจักรมอญ ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าได้ แสดงว่า พม่ามีอำนาจสูงสุดในภูมิภาคนี้

            ๔. พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ทรงย้ายเมืองหลวงของพม่าจากเมืองตองอู ไปอยู่ที่เมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมอญ ประชาชนพม่า มอญ และชาติอื่นๆ จึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดี ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่า พระเจ้าหงสาวดีเป็นชนชาติมอญ

            ข้อความทั้ง ๔ ประการนี้คงจะทำให้เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นในสงคราม พ.ศ. ๒๐๙๑ ดีขึ้น

            ถึงแม้พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ทรงทราบถึงความสำคัญของราชอาณาจักรไทย แต่ทรงเปรียบเทียบว่า พระองค์มีกำลังทหาร พร้อมทั้งแม่ทัพ ซึ่งมีกำลังความสามารถ และจำนวนมากกว่าฝ่ายไทย หากจะยกกำลังมาตีราชอาณาจักรไทยไว้เป็นประเทศราช ก็คงทำได้ไม่ยากนัก

            พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ จึงจัดกองทัพใหญ่ประกอบด้วย ช้าง ม้า และทหารสามแสนคน พร้อมทั้งแม่ทัพผู้มีฝีมืออีก ๓ ท่าน คือ

            ๑. บุเรงนอง พระมหาอุปราช
            ๒. พระเจ้าแปร
            ๓. พระยาพะสิม

            กองทัพใหญ่ของพม่าผ่านเขตแดนไทย มาจนถึงเมืองกาญจนบุรี และเมืองสุพรรณบุรี ข้าราชการ และพลเมืองทั้งสองเมือง ไม่สามารถต่อต้านทหารพม่าได้

            ข่าวกองทัพพม่าที่ใหญ่ยิ่ง ทำให้คนไทยเล่าลือกันด้วยความหวาดกลัวทั่วเมืองอยุธยา

            สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงทราบว่า เมืองหน้าด่านทั้งสอง เสียแก่พม่าแล้ว จึงทรงปรึกษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า ควรจะรับศึกอย่างไร ในที่สุดลงความเห็นว่า ให้เตรียมรับศึกที่อยุธยา โดยกวาดต้อนพลเมือง ที่อยู่บริเวณนอกเมือง ให้เข้ามาอยู่ในเมือง จัดทหารขึ้นประจำป้อมบนกำแพงเมือง ซึ่งมีประมาณ ๑๖ ป้อม นอกจากนี้แล้วยังส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ออกไปตั้งค่ายรอบเมืองอีก ๔ ค่าย ในทิศทางซึ่งคาดว่า กองทัพพม่าจะยกเข้ามาคือ ทางเหนือ ทางใต้ ทางตะวันตก และทางตะวันออก

            ที่ทุ่งนารอบเมืองอยุธยานั้นเป็นที่ลุ่ม น้ำจะเริ่มท่วมตั้งแต่ฤดูฝนคือ เดือนกรกฎาคม และจะมีน้ำท่วมขังติดต่อไป จนถึงฤดูน้ำเหนือไหลมาเพิ่มคือ เดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน

            กองทัพพม่ายกมาถึงอยุธยาประมาณเดือนมีนาคม ดังนั้นจึงจะมีเวลาเพียง ๕ เดือนจะถึงฤดูฝน ถ้าเข้าเมืองอยุธยาไม่ได้ตามเวลานี้ ก็จะต้องยกทัพกลับ โดยที่ฝ่ายไทยไม่ต้องทำการรบ

            นอกจากนี้ อยุธยายังมีน้ำล้อมรอบต่อจากกำแพง ซึ่งแข็งแรง ในลำน้ำนี้สามารถนำเรือบรรทุกปืนใหญ่ไล่ยิงข้าศึก ซึ่งจะเข้ามาใกล้ฝั่งได้

            ถ้าหากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะประทับอยู่ในกำแพงเมือง คงจะไม่มีเหตุภัยเกิดขึ้น



ทุ่งนาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามักจะมีน้ำท่วมในฤดูฝน

            สาเหตุที่สมเด็จพระมหา จักรพรรดิ ตัดสินพระทัยยกกองทัพออกมานอกกำแพงเมืองก็คือ พระองค์ต้องประสงค์จะเสด็จออก เพื่อบำรุงขวัญทหาร และอยากทรงทราบความจริงว่า ทหารข้าศึกมีจำนวนมากดังคำเล่าลือหรือไม่

            ในการที่ตัดสินพระทัยจะะเสด็จออกไปนอกเมืองนี้ ทำให้สมเด็จพระสุรโยทัยผู้ทรงมีความสามารถในการใช้อาวุธ และทรงบังคับช้างได้อย่างชำนาญ ทรงมีความห่วงใยพระราชสวามี จึงทูลขอตามเสด็จ โดยแต่งพระองค์เป็นชายในเครื่องทรงพระมหาอุปราช ยังมีพระโอรสทั้งสองพระองค์ คือ พระราเมศวร และพระมหินทราธิราช ตามเสด็จด้วย

            ขบวนทัพของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เคลื่อนออกจากกำแพงเมืองไปทางทิศเหนือเข้าสู่บริเวณทุ่งภูเขาทองกว้าง ใหญ่ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของกองทัพหน้าของพม่า ซึ่งมีพระเจ้าแปรเป็นแม่ทัพ กองทหารพม่าตั้งค่ายเรียงรายเต็มท้องทุ่ง สมดังคำเล่าลือ

            พระเจ้าแปรประทับอยู่บนคอช้าง เตรียมพบรบพร้อมอยู่ เพราะได้รับข่าวว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกทัพออกมาจากกำแพงเมืองแล้ว เมื่อทั้งสองขบวนเข้ามาใกล้กัน พระเจ้าแปรจึงให้สัญญาณพลรบเข้าโจมตีทันที

            ถึงแม้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะมิได้เตรียมพระองค์ เพื่อออกมาทำศึก แต่ก็ทรงต่อสู้กับพระเจ้าแปรอย่างสมพระเกียรติ หากแต่ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงมีโอกาสออกสนามรบน้อยกว่าพระเจ้าแปร เพราะทางพม่ามีการรบพุ่งติดต่อกันมานานแล้ว

            ในที่สุดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเสียที ช้างพระที่นั่งหันหลังหนี พระเจ้าแปรจึงขับช้างไล่ฟันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปอย่างกระชั้นชิด สมเด็จพระสุริโยทัยเห็นพระราชสวามีตกอยู่ในอันตราย จึงรีบขับช้างเข้าขวางไว้ โดยมิได้คำนึงว่า อยู่ในลักษณะเสียเปรียบ

            ช้างพระเจ้าแปรเสยช้างสมเด็จพระสุริโยทัย จนเท้าหน้าทั้งสองลอยพ้นพื้นดิน แล้วพระเจ้าแปรจึงใช้ของ้าวฟันสมเด็จพระสุริโยทัยจากพระพาหา (บ่า) ขาดมาถึงกลางพระองค์ จึงสวรรคตบนคอช้าง ส่วนพระราชโอรสทั้งสองขับช้างเข้ากันข้าศึก นำช้างพร้อมทั้งพระศพสมเด็จพระราชชนนีกลับเข้าเมืองไปได้

            การต่อสู้ในวันนั้นจึงยุติลง ในวันต่อมากองทัพพม่าก็ตีค่ายทหารไทย ที่อยู่รอบนอกเมืองได้หมด แต่ทหารพม่าทุกกองทัพ ไม่สามารถตีเมืองอยุธยาได้
            
            เวลาล่วงไป กองทัพพม่าเริ่มขาดเสบียงอาหาร เพราะมีจำนวนมาก ขณะนั้นกองทัพไทยจากพิษณุโลก และหัวเมืองฝ่ายเหนือ เตรียมลงมาช่วยล้อมกองทัพพม่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้จึงตัดสินพระทัยยกทัพกลับทางเหนือผ่านเมืองตาก ในการที่ไม่กลับทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ เพราะได้ทำลายแหล่งเสบียงอาหารหมดแล้ว

            สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยที่สวนหลวง แล้วสร้างวัดอุทิศพระราชกุศลพระราชทาน วัดนี้มีชื่อว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์ แต่ไม่มีพระนามสมเด็จพระสุริโยทัยปรากฏอยู่ด้วย

            เวลาผ่านไปหลายร้อยปี จนกรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชครั้งสุดท้าย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ บ้านเมืองบอบช้ำมาก บ้านเรือนราษฎร วัด วัง ถูกทำลาย เพราะไฟไหม้ และด้วยการขุดทำลายของโจรผู้ร้าย



พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณสวนหลวงแต่ครั้งกรุงเก่าเป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัย

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสนพระทัยในประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ได้ทรงฟื้นฟูการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา และจะเสด็จมาทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงอดีตมหาราช ที่กรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้น มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งชื่อ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา เป็นผู้สนใจในประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของกรุงศรีอยุธยา ท่านผู้นี้สามารถสืบหาพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นวัดสวนหลวงสบสวรรค์ได้ แต่ไม่มีโบสถ์วิหาร ที่จะแสดงว่า เป็นวัดเหลืออยู่ มีแต่พระเจดีย์องค์เดียว และพระเจดีย์องค์นี้อยู่ในบริเวณกรมทหารบก

            ครั้นถึงรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรื้อฟื้นการค้นหาวัดสวนหลวงสบสวรรค์อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ได้เสด็จไปสักการะพระเจดีย์ ซึ่งทรงแน่พระทัยว่า คงเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย และให้เรียกพระเจดีย์นี้ว่า "พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย" นอกจากนี้ข้าราชบริพารของพระองค์ ยังขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จารึกข้อความบนแผ่นศิลาอ่อน กล่าวถึงวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย ตั้งเอาไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับพระเจดีย์องค์นี้ด้วย นับ ว่าเป็นครั้งแรกที่ระบุพระนามของสมเด็จพระสุ ริโยทัย

            กาล ล่วงมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยในประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน ในอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชปรารภว่า ควรจะสร้างพระราชานุสาวรีย์ถวายสมเด็จพระสุริโยทัย



พระราชานุสาวรีย์จารึกวีรกรรมสมเด็จพระสุริโยทัย ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

            ในวโรกาสที่สมเด็จพระนาง เจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาลจึงจัดการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยถวาย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ



พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยที่ทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างเป็นอุทยานที่ สวยงาม และมีอ่างเก็บน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ในการกสิกรรมได้ด้วย

            คณะ กรรมการเลือกทุ่งนาบริเวณทุ่งมะขามหย่อง ทางทิศเหนือของทุ่งภูเขาทอง ซึ่งเป็นสมรภูมิที่สวรรคต เนื่องจากบริเวณทุ่งนานี้ เป็นที่ลุ่ม มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปี จึงมีปัญหาเรื่องการต้องถมที่ ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์มาก แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานคำแนะนำให้ขุดให้ลึกลงไปอีก จนสามารถใช้เป็นอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แล้วนำดินที่ขุดขึ้นมาไปถมส่วนหนึ่งให้เป็นเนินดิน เชื่อมต่อไปถึงขอบทุ่ง ซึ่งเป็นที่แห้ง เพื่อสร้างพระราชานุสาวรีย์บนเนินดินแห่งนี้ ส่วนที่เป็นน้ำให้สร้างค่ายพม่าโผล่ให้เป็นปลายรั้วของค่าย และป้อมบนประตูค่าย อนุชนไทยจะได้เห็นของจริงว่า เวลาน้ำท่วมท้องทุ่ง ค่ายพม่าจะต้องแช่อยู่ในน้ำ

            พระราชานุสาวรีย์ที่ทุ่ง มะขามหย่อง เป็นอุทยานที่สวยงาม ประกอบด้วยสวน ไม้ดอก ไม้ใบ และอ่างเก็บน้ำ

            องค์ ประธานของพระราชานุสาวรีย์ คือ พระรูปองค์สมเด็จพระสุริโยทัย แต่งพระองค์เป็นพระมหาอุปราชประทับบนคอช้าง มีขนาดพระองค์ และตัวช้างใหญ่ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของขนาดจริง เพราะตั้งอยู่บนพระแท่นสูงโดดเด่น




อนุสาวรีย์แม่ทัพฝ่ายพม่า จำลองเหตุการณ์วีรกรรมสมเด็จพระสุริโยทัยที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

            มีองค์ประกอบพระราชานุสาวรีย์ตั้งอยู่เบื้อง หน้า ได้แก่ แม่ทัพทั้ง ๔ ของพม่า นั่งอยู่บนคอช้าง หันหน้าตรงกับพระราชานุสาวรีย์ แต่เนื่องจากองค์ประกอบนี้ตั้งอยู่ บนลานดินเบื้องล่าง จึงสร้างขนาดเท่าของจริง

            อนุสาวรีย์แม่ทัพพม่าทั้ง ๔ จากซ้ายไปขวา ได้แก่

            พระมหาอุปราชบุเรงนอง
            พระเจ้าแปร
            พระเจ้าตะเบงชะเวตี้
            พระยาพะสิม

            พระราชานุสาวรีย์พร้อมทั้งองค์ประกอบ สร้างเสร็จ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

            ท้าวเทพกระษัตรี - ท้าวศรีสุนทร

            พม่ายก กองทัพเรือมาตีเมืองท่าของไทย ทางฝั่งทะเลอันดามัน ก็เพื่อแย่งเมืองท่า จอดรับส่งสินค้า ที่จะผ่านไปมาระหว่างยุโรปกับประเทศฝรั่งตะวันออก

            จุด มุ่งหมายของพม่า นอกจากจะยึดเมืองท่า ยังต้องการทรัพยากรมีค่าในเมืองเหล่านี้คือ แร่ดีบุก

            พ.ศ. ๒๓๒๘ กองทัพเรือพม่าจึงเดินทางมาตีเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดพังงา) พม่าตีเมืองทั้งสองได้ในเวลาไม่ช้า แล้วเดินทางมุ่งไปยังเมืองถลาง ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะถลาง (ในปัจจุบันนี้คือ เกาะภูเก็ต)

            เมื่อมี ข่าวว่า พม่ากำลังยกทัพจะตีเมืองถลาง ท่านเจ้าเมืองซึ่งป่วยอยู่ก็ได้ถึงแก่กรรม ทางราชการยังมิได้ตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งแทน คุณหญิงจันภริยาของท่าน เป็นผู้องอาจกล้าหาญ ถึงแม้จะทราบว่า เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งมีเจ้าเมืองเป็นชายได้แพ้แก่พม่าไปแล้ว ท่านก็ยังไม่คิดจะยอมให้กองทัพพม่าเข้ายึดเมืองเอาง่ายๆ

            ท่านเป็น ผู้นำชักชวนน้อง หญิง ชาย เครือญาติ และพลเมืองหญิงชายให้สละ ชีวิตป้องกันบ้านเมืองไว้จนวาระสุดท้าย ท่านจัดหาอาวุธ ฝึกหัดพลเมืองให้ใช้อาวุธใน ระยะเวลาอันสั้นด้วยความรีบด่วน แบ่งแยกกันทำค่ายไว้รับกองทัพเรือพม่า ในจุดที่จะยก พลขึ้นบก

            การจัด กองทัพพลเรือนหญิงชายที่ไม่เคยเป็นทหารมาก่อน เป็นงานที่ยาก แต่เมื่อทุกคนรักชาติ และนับถือคุณหญิงจัน กองทัพพลเรือนก็สามารถควบคุมการรบได้อย่างดี

            พม่าล้อม จุดสำคัญของเมืองถลางเป็นเวลาเดือนกว่า จนขาดเสบียงอาหาร และไม่สามารถทำสงครามคืบหน้าไปได้ จึงต้องยกกองทัพกลับ

            ภาย หลังเมื่อสงครามสิ้นสุดลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทราบถึงวีรกรรมของคุณหญิงจัน และคุณมุก น้องสาว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุก น้องสาว เป็นท้าวศรีสุนทร

            ท้าวเทพกระษัตรีมีบุตรชายเป็นต้นสกุล ประทีป ณ ถลาง
            น้องชายของท่านเป็นต้นสกุล ณ ถลาง
            ส่วนท้าวศรีสุนทร ไม่ปรากฏว่า มีบุตรชายสืบสกุล

            ท้าวสุรนารี
            
            เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเหตุการณ์ ที่ไม่มีผู้ใดเชื่อว่า จะเป็นไปได้ คือ เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองไทย ได้ยกกองทัพมาถึงเมืองนครราชสีมา แล้วออกคำสั่งให้กวาดต้อนพลเมืองทั้งหมด เดินทางไปเวียงจันทน์

            ใน ขณะนั้นเจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาปลัด (ที่ปรึกษาเจ้าเมือง) เดินทางไปราชการที่เมืองขุขันธ์ (ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ) ข้าราชการที่เหลืออยู่ จึงมีแต่ชั้นผู้น้อย ไม่มีอำนาจจะต่อสู้เจ้าอนุวงศ์ได้ ดังนั้นทหารลาวจึงนำพลเมืองนครราชสีมา เดินทางออกไปเมืองเวียงจันทน์ ส่วนเจ้าอนุวงศ์อยู่ในเมืองเพราะเลือกเมืองนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางการชุมนุมกองทัพลาว เนื่องจากเป็นเมืองที่มีอาหารบริบูรณ์และกึ่งกลางทาง เข้ามายังกรุงเทพมหานคร

            ฝ่ายพระยา ปลัด ซึ่งอยู่ที่เมืองขุขันธ์ทราบเรื่องว่า เจ้าอนุวงศ์เข้าเมืองนครราชสีมา ได้แล้ว กำลังให้ทหารนำพลเมืองไปนครเวียงจันทน์ พระยาปลัดเป็นห่วงพลเมือง และครอบครัว จึงขออนุญาตเจ้าเมืองนครราชสีมาไปหาเจ้าอนุวงศ์ ยอมเป็นเชลยเพื่อเดินทางไปกับ ครอบครัวชาวนครราชสีมา

            เมื่อพระยา ปลัดไปถึงนครราชสีมา ทหารลาวคุมเชลยออกไปแล้ว พระยาปลัดจึงติดตามไปจนพบกัน พระยาปลัดมีคู่คิดคือ คุณหญิงโม ซึ่งเป็นภริยาของท่าน ได้วางแผนให้คนไทยอ่อนน้อมเกรงกลัวทหารลาว ไม่แสดงความโกรธแค้นเป็นศัตรู พวกผู้หญิงก็ให้ช่วยทำอาหารเลี้ยงพวกลาว เมื่อนายทหารลาวต้องการหญิงไทยคนใด ก็ให้ยินยอมไม่ขัดขืน ทหารลาวจึงเห็นใจและสงสารคนไทย ครั้นแล้วคนไทยก็ขอมีด ขวาน และปืน เพื่อไปล่าสัตว์ หาผักมาทำอาหารเลี้ยงทหารลาว ซึ่งทางทหารลาวก็ยินยอมให้ตามคำขอร้อง

            คน ไทยแอบนำมีด ขวาน ไปตัดไม้ทำหอก หลาว และไม้พลอง แอบซ่อนไว้

            เมื่อมี โอกาสเหมาะ วันหนึ่งจึงเลี้ยงอาหาร และสุราพวกทหารลาวเป็นพิเศษ เมื่อทหารเมาสุรา และนอนหลับ คนไทยหญิงชายก็จับอาวุธขึ้นฆ่าทหารลาวตายเป็นอันมาก และได้อาวุธทหารลาวไว้ใช้ต่อไป ทหารที่รอดตายก็หนีไปเมืองนครราชสีมา ฝ่ายไทยจึงมีกำลัง ใจรวมกันตั้งค่ายต่อสู้ลาวที่ทุ่งสำริด เพราะจะกลับเมืองนครราชสีมาก็ไม่ได้ เจ้าอนุวงศ์ส่ง ทหารสามพันคนมาปราบ ทางฝ่ายไทยมีอาวุธซึ่งยึดได้จากลาวบ้าง ทำเองบ้าง ลุกขึ้นต่อสู้ อย่างเข้มแข็ง คุณหญิงโมเป็นหัวหน้าฝ่ายผู้หญิง เข้าต่อสู้ข้าศึกอย่างกล้าหาญทัดเทียมกับผู้ชาย ทหารลาวเสียชีวิตไปประมาณสองพันคน จึงยอมถอยทัพกลับนครราชสีมา เจ้าอนุวงศ์ไม่ ทราบแน่ว่าทางเชลยไทยมีกำลังขึ้นมาอย่างไร เข้าใจว่าคงมีทัพเจ้าเมืองนครราชสีมามาช่วย หรือกองทัพมาจากกรุงเทพฯ ส่งมา ดังนั้นจึงล้มเลิกความตั้งใจจะมาตีกรุงเทพมหานคร แล้วสั่งให้เผาเมืองนครราชสีมา ถอยทัพกลับไปตั้งรับกองทัพไทยแถวหัวเมืองภาคอีสาน และในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่กองทัพไทย

            เมื่อสงคราม สงบแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความกล้าหาญของคุณหญิงโม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท้าวสุรนารี

            ส่วนพระยาปลัดผู้สามี ก็ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็น เจ้าพระยามหิศราธิบดี

            ท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรม พ.ศ. ๒๓๙๕ เมื่ออายุ ๘๑ ปี ท่านไม่มีบุตรธิดา สืบสกุล