เล่มที่ 12
การพัฒนาการเกษตรในชนบท
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ชนิดของสัตว์เลี้ยง

สัตว์เลี้ยงที่ถือว่ามีความสำคัญ และสามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกร คือ

๑. สัตว์เคี้ยวเอื้อง

            ได้แก่ สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ แพะ และแกะ ซึ่งเป็นสัตว์สี่กระเพาะ เมื่อกินอาหารเข้าไปแล้ว จะคายออกมาเคี้ยวเอื้องอีกครั้ง ก่อนจะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์

สัตว์เคี้ยวเอื้องอาจแบ่งแยกประเภทออกได้ ตามวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการเลี้ยงดังนี้คือ

๑.๑ โคเนื้อ

            โคที่เลี้ยงในบ้านเรา เป็นโคขนาดเล็ก มีการเจริญเติบโตช้า ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้ใช้งานเช่น ไถนา ทำไร่ และเทียมเกวียนหรือล้อ เพื่อใช้ในการขนส่งระยะสั้นๆ หลังจากเลิกใช้งานแล้ว ก็ส่งเข้าโรงฆ่า ชำแหละออกมาเป็นเนื้อวัวสำหรับบริโภค

โคที่นิยมเลี้ยงในบ้านเรา
เป็นโคขนาดเล็ก

            ปัจจุบัน ทางราชการได้นำโค พันธุ์เนื้อจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงหลายพันธุ์ และพบว่าโคเนื้อพันธุ์อเมริกันบราห์มัน หรือโค ลูกผสมอเมริกันบราห์มัน (เช่น โคพันธุ์เดราต์มาสเตอร์) สามารถเลี้ยง และเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา นอกจากนี้ยังมีความทนทานต่อโรคเหมือน โคพื้นเมืองของไทย

โคนมลูกผสมขาวดำ
(Holstein Friesian)

๑.๒ โคนม

            โคพื้นเมืองของไทยให้ นมน้อยประมาณวันละ ๒-๓ ลิตร ทางราชการ จึงได้ทดลองนำโคพันธุ์จากต่างประเทศ เข้ามาเลี้ยงหลายพันธุ์ด้วยกัน และพบว่า โคพันธุ์แท้ ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา ยังไม่มีความเหมาะสมกับบ้านเรา โดยเฉพาะมีการแพ้โรคต่างๆ มาก และมักจะเสียชีวิตหลังจากนำเข้าไม่นานนัก จึงได้ผลิตโคลูกผสม โดยใช้โคพันธุ์นมจากต่างประเทศที่นำเข้ามา ผสมกับวัวพื้นเมือง และพบว่า โคนมลูกผสมขาวดำ (โฮลสไตน์ ฟรีเชียน) กับโคพื้นเมือง เป็นโคนมลูกผสม ที่ให้นมดีที่สุด บางตัวให้นมสูงถึง ๓๘ ลิตรต่อวัน และทั่วๆ ไปให้นมมากกว่า ๑๐ ลิตรต่อวัน

กระบือพันธุ์พื้นเมืองตัวเมีย

๑.๓ กระบืองานหรือกระบือปลัก

            กระบือบ้านเราเรียกทั่วๆ ไปว่า กระบือปลัก หรือกระบือที่เลี้ยงไว้ เพื่อใช้งานเป็นหลัก ให้น้ำนมน้อย ประมาณวันละ ๑-๒ ลิตร และเมื่อเลิกใช้งานแล้ว ก็ส่งเข้าโรงฆ่าเอาเนื้อมาบริโภค

๑.๔ กระบือนมหรือกระบือแม่น้ำ

            กระบือชนิดนี้ เป็นกระบือที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อเลี้ยงเอาไว้รีดนมโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า กระบือแม่น้ำ เป็นการเรียกตามชาวต่างประเทศ ที่เรียกว่า ริเวอร์บัฟฟาโล (River buffalo)


กระบือลูกผสมพันธุ์มูร์ราห์ (Murrah) กับพันธุ์พื้นเมืองตัวเมีย

กระบือนมมีหลายพันธุ์แต่ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเราคือ กระบือพันธุ์มูร์ราห์ ซึ่งมีการให้นมประมาณวันละ ๗-๘ ลิตร แต่ บางตัวให้นมสูงถึง ๒๐ ลิตรหรือกว่านั้น

กระบือพันธุ์นี้นอกจากให้นม แล้วยังใช้งานได้ด้วย และเมื่อรีดนมแล้วก็สามารถ ใช้เนื้อบริโภคได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันได้มีการนำกระบือมูร์ราห์ มาผสมกับกระบือบ้านเรา ปรากฏว่าลูกออกมา ให้น้ำนมมากขึ้น และสามารถใช้งานได้ดีเช่น กระบือพื้นเมือง และเนื้อก็มีคุณภาพดี

แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen)
ตัวเมีย

๑.๕ แพะ

            แพะพื้นเมืองของบ้านเรา มีเลี้ยงกันมากในภาคใต้ ตัวค่อนข้างเล็ก หนักประมาณ ๑๐-๑๘ กิโลกรัม และมีนมน้อย ทางราชการจึงได้นำแพะพันธุ์นมจากต่างประเทศ เข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา และพบว่า แพะพันธุ์ซาเนนเหมาะสม ที่จะเลี้ยงขยายพันธุ์ในบ้านเรา โดยเฉพาะซาเนนลูกผสม ซึ่งให้น้ำนมประมาณ วันละ ๒-๔ ลิตร และมีความทนทานต่อโรคมากกว่าแพะพันธุ์แท้ ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยง

แกะพันธุ์ดอร์เซต (Dorset)
ตัวเมีย

๑.๖ แกะ

            แกะพื้นเมืองเลี้ยงกันมาก ในภาคใต้เช่นเดียวกับแพะ ตัวมีขนาดเล็กมาก ประมาณ ๘-๑๒ กิโลกรัม แต่มีความทนทานต่อโรคดี ทางราชการได้ทดลองนำแกะพันธุ์ต่างๆ  เข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา และพบว่า แกะพันธุ์แท้ที่นำเข้ามา ยังไม่สามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมของบ้านเรา แต่แกะลูกผสมที่เกิดจากแกะพันธุ์ดอร์เซต และพันธุ์พื้นเมือง จะสามารถเลี้ยงในบ้านเราได้เป็นอย่างดี และมีน้ำหนัก ประมาณ ๒๕-๓๐ กิโลกรัม ซึ่งเหมาะสมจะนำมาใช้ส่งเสริมให้เลี้ยงแกะในบ้านเรา

๒. สัตว์กระเพาะเดียว

สัตว์กระเพาะเดียวที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศคือ สุกร ซึ่งมีการเลี้ยงกันมากทั่วประเทศ

สุกรพื้นเมืองเดิมมีชื่อต่างๆ กัน เช่น พวง แรด และอื่นๆ มีลำตัวค่อนข้างเล็ก แต่ให้ลูกดก และมีความทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี ซึ่งไม่เหมาะสมจะใช้เลี้ยงเพื่อธุรกิจการค้า

สุกรพันธุ์ดูร็อกเจอร์ซี (Duroc Jersy) ตัวเมีย

ต่อมาจึงได้มีการนำสุกรพันธุ์จากต่างประเทศ เข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา หลายพันธุ์ด้วยกัน และพบว่า สุกรพันธุ์แท้บางพันธุ์สามารถเลี้ยงได้ดีในบ้านเรา ซึ่งได้แก่ สุกรพันธุ์ต่อไปนี้

(๑) ดูร็อกเจอร์ซี
(๒) ลาร์จไวต์
(๓) แลนด์เรซ

            นอกจากนี้ก็ได้มีผู้นำสุกรพันธุ์ผสมเข้า มาเลี้ยงอีกหลายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นสุกรพันธุ์ ผสมซึ่งเกิดจากสุกรทั้งสามพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงนำสุกรพันธุ์เหมยซาน ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวน ๔ คู่ มาให้กรมปศุสัตว์ทดลอง เลี้ยงและขยายพันธุ์ พบว่าสุกรพันธุ์นี้สามารถ ให้ลูกดกมากเฉลี่ยครอกละ ๑๖ ตัว และมีบาง ครอกให้ลูกถึง ๒๔ ตัว สามารถเจริญเติบโต ได้ดีกว่าสุกรพื้นเมืองเดิม มีเนื้อมาก และเนื้อมี คุณภาพดี

สุกรพันธุ์ลาร์จไวต์ตัวผู้

            เพื่อให้สุกรนี้มีลักษณะดีขึ้นกว่าที่มีอยู่ เดิมกรมปศุสัตว์ได้นำสุกรพันธุ์นี้มาทดลองผสม กับสุกรทั้งสามพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น และพบว่า สุกรลูกผสมเหมยซานกับดูร็อกเจอร์ซี่ จะมีลักษณะ ดีที่สุดทั้งในด้านรูปร่างลักษณะ การเจริญเติบโต คุณภาพของเนื้อ และความทนทานต่อโรค

            สุกรพันธุ์ลูกผสมเหมยซาน และดูร็อกเจอร์ซี่ ที่กรมปศุสัตว์ผสมขึ้น เพื่อให้เกษตรกรในชนบทได้นำไปเลี้ยงนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า "สุกรมิตรสัมพันธ์"

๓. สัตว์ปีก

สัตว์ปีกที่มีการเลี้ยงกันในแง่ของการค้า คือ

๓.๑ ไก่

ไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงในบ้านเรา เป็นไก่ที่เจริญเติบโตช้า ให้ไข่น้อย และมีลำตัวค่อนข้างเล็ก แต่มีความทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี

ปัจจุบันมีผู้นำไก่จากต่างประเทศ มาเลี้ยงในรูปของการค้ากันมาก จนถึงกับมีการส่งเนื้อไก่ออกไปขายต่างประเทศจำนวนมาก ไก่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

ก. ไก่เนื้อ

ไก่เนื้อ คือ ไก่ที่เลี้ยง ประมาณ ๘ สัปดาห์ หรือ ๕๖ วัน ก็จะส่งตลาด หรือเข้าโรงฆ่า เป็นไก่ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว และมีเนื้อมาก หากมีการให้อาหารตามคุณภาพที่กำหนด

ไก่พื้นเมือง (ซ้าย-ตัวเมีย ขวา-ตัวผู้)

ไก่เนื้อที่นำเข้ามาเลี้ยงส่วน ใหญ่เป็นไก่ลูกผสมที่ผลิตจากบริษัทต่างๆ ใน ต่างประเทศ โดยประเทศของเรายังไม่สามารถ ผลิตไก่เนื้อที่มีคุณภาพดีเท่าต่างประเทศได้

ไก่เนื้อ (ซ้าย-ตัวเมีย ขวา-ตัวผู้)

ไก่เนื้อที่นำเข้ามาส่วนใหญ่ เป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งเมื่อเลี้ยงแล้วผสมพันธุ์ ลูกที่ ออกมาก็จะนำไปเลี้ยงเป็นไก่เนื้อส่งโรงฆ่า แต่ มีบางฟาร์มได้นำปู่ย่าตายายมาเลี้ยงเพื่อนำมา ผลิตพ่อแม่พันธุ์ แล้วจึงขยายเป็นไก่เนื้ออีกครั้ง

ข. ไก่ไข่

ไก่ไข่ในระยะเริ่มแรก ที่นำเข้ามาเลี้ยง เมื่อประมาณ ๔๐ ปี จนถึงเมื่อ ประมาณ ๑๕ ปีที่แล้วมา ส่วนใหญ่เป็นไก่พันธุ์แท้ ซึ่งได้แก่ ไก่พันธุ์โรดไอส์แลนด์แดง และพันธุ์เล็กฮอร์นขาวเป็นหลัก แต่ต่อมาได้มีการนำไก่ไข่ลูกผสมจากต่างประเทศ เข้ามาเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ จนอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้ไม่มีผู้ใดเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์แท้ก็ว่าได้ นอกจากไก่ของหน่วยงานของรัฐบาลง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำไก่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งรัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนจีนได้น้อมเกล้าฯ ถวายไข่ฟัก จำนวนหนึ่ง และได้พระราชทานให้กรมปศุสัตว์ นำไปฟักและเลี้ยงขยายพันธุ์ ปรากฏว่าไก่พันธุ์ นี้เลี้ยงได้ดีในบ้านเรา กินอาหารได้ทุกอย่าง มีการเจริญเติบโตดี ตัวผู้น้ำหนักประมาณ ๕ กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ และตัวเมียหนักประมาณ ๒.๐-๒.๕ กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ และมีไข่ดกกว่า ไก่พื้นเมืองมาก

การเก็บไข่ไก่

ในการปรับปรุงให้ไก่พื้นเมือง มีคุณภาพดีขึ้น ไก่เซี่ยงไฮ้จำนวนหนึ่ง ได้ถูกนำไปผสมข้ามพันธุ์กับไก่พื้นเมือง ซึ่งปรากฏว่า ไก่ลูกผสมที่ผลิตออกมา เลี้ยงง่าย โตเร็ว น้ำหนักมาก และให้ไข่ดกกว่าไก่พื้นเมืองมาก

๓.๒ เป็ด

เป็ดพื้นเมืองของเรามีเลี้ยงมากที่นครปฐม สมุทรปราการ และชลบุรี จึงมักเรียกชื่อเป็ดพื้นเมือง ตามแหล่งที่เลี้ยงว่า เป็ดนครปฐม เป็ดปากน้ำ และเป็ดชลบุรี เป็นต้น


ฝูงเป็ด

เป็ดพื้นเมืองตัวค่อนข้างเล็ก การ เจริญเติบโตช้า แต่มีไข่ดกดีพอสมควร มักจะพบบ่อยๆ ว่า เป็ดพื้นเมืองไข่เกิน ๒๐๐ ฟองต่อปี แต่ไข่มีขนาดเล็ก

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้มีการนำ เป็ดจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงในบ้านเราในระยะ หลังๆ

เป็ดที่นำเข้ามาเลี้ยงในบ้านเรา แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

ก. เป็ดไข่

เป็ดไข่ที่นำเข้ามาเลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่ เป็นเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์ เป็นเป็ดที่มีอัตราการไข่ค่อนข้างสูง บางตัวไข่ถึง ๓๐๐ ฟองต่อปี แต่บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องโรค จึงได้มาผสมข้ามพันธุ์กับเป็ดพื้นเมือง ปรากฏว่า เป็ดลูกผสมกากีแคมเบลล์ให้ไข่ดก และไข่ใหญ่กว่าเป็ดพื้นเมืองมาก จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป

ข. เป็ดเนื้อ

เป็ดเนื้อที่นำเข้ามาเลี้ยงในบ้านเรามีหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมมากที่สุดคือ เป็ดพันธุ์ปักกิ่ง และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้พระราชทานไข่เป็ดพันธุ์ปักกิ่ง ซึ่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนน้อมเกล้าฯ ถวาย ให้กรมปศุสัตว์ นำไปฟัก และเลี้ยงขยายพันธุ์ ปรากฏว่า เป็ดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา แต่บางครั้งก็ยังมีปัญหาเรื่องโรค จึงผสมเป็ดระหว่างพันธุ์ปักกิ่งกับพันธุ์พื้นเมือง ก็ปรากฏว่า เป็ดลูกผสมดังกล่าว มีการเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา และมีน้ำหนักมาก เมื่อถึงอายุส่งตลาด

ฝูงห่านขาว-เทา


๓.๓ ห่าน

ห่านที่เลี้ยงในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นห่านจีน มีทั้งชนิดตัวสีขาว และสีน้ำตาล ห่านกินอาหารได้ทุกชนิด ทั้งหญ้า ผัก เมล็ดพืช ปลา หรืออาหารผสม แต่เนื่องจากคนไทยยังไม่ค่อยนิยมบริโภค จึงมีการเลี้ยงค่อนข้างจำกัด

ไก่งวงสีเทาปนน้ำตาล

๓.๔ ไก่งวง

ไก่งวงสามารถกินอาหารต่างๆ ได้คล้ายกับห่าน เกษตรกรมักจะเลี้ยงปล่อยให้หาอาหารกินเอง

ไก่งวงที่เลี้ยงในบ้านเรามีทั้งชนิดสีขาว และสีเทาปนน้ำตาล แต่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก ยกเว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่อนข้างมากกว่าภาคอื่นๆ เพราะคนไทยยังไม่นิยมบริโภคไก่งวงมากนัก

นกกระทา

๓.๕ นกกระทา

นกกระทาที่เลี้ยง ในบ้านเราส่วนใหญ่นำมาจากประเทศญี่ปุ่น และ เลี้ยงเพื่อเอาไข่เป็นหลัก มีการเลี้ยงกันบ้างใน ภาคกลางแต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร