เล่มที่ 12
การพัฒนาการเกษตรในชนบท
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ต้นกำเนิดฝนหลวงและมูลเหตุ

            ฝนหลวงก่อกำเนิดจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกร ในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค สำหรับคน สัตว์เลี้ยง และเกษตรกร อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนที่ทิ้งช่วงระยะยาว ในระหว่างฤดูฝน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร
            จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ เยี่ยม พสกนิกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ตราบเท่าทุกวันนี้ ทรงพบเห็นว่า ภาวะแห้งแล้งได้ทวีความถี่และมี แนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ นอกจากภาวะแห้งแล้ง ที่มักเกิดขึ้นจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่ายังเป็นสาเหตุให้สภาพสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สภาพอากาศจากพื้นดินถึงระดับฐานเมฆ ไม่เอื้ออำนวยต่อการกลั่นรวมตัว ของก้อนเมฆ และยากต่อการเหนี่ยวนำให้ฝนตกลงสู่พื้นดิน ทำให้ฝนไม่ตก หรือปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ ซึ่งสร้างความเดือดร้อน และเสียหาย ให้แก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยส่วนรวมของชาติเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ทรงเล็งเห็นว่า ก่อนที่จะถึงสภาพที่สุดวิสัย หรือยากเกินกว่าจะแก้ไข การทำฝนหลวงน่าจะเป็นมาตรการ หนึ่งที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรภาพย่อทิศทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรภาพย่อทิศทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ
            ทรงเชื่อมั่นว่าด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย คือ มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็น ฤดูฝนของประเทศนานถึง ๖ เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม พัดพามวลอากาศ อุ่นและชื้นจากมหาสุมทรอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปี และมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นฤดูหนาวพัดพามวลอากาศเย็นและแห้ง จากผืนแผ่นดินใหญ่จีนนานเพียง ๓ เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ แต่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวของประเทศ และมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน นานเพียง ๒ เดือน พัดพามวลอากาศอุ่นและชื้น จากทะเลจีน เข้าสู่ประเทศไทยแต่ปริมาณฝนไม่สูงนัก อิทธิพลของมรสุมดังกล่าวนี้ จะทำให้สามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนได้เป็นผลสำเร็จ