ความก้าวหน้า นับเป็นเวลาหลายปีก่อน พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มศึกษา และวิจัยเอกสารทางวิชาการ และทรงค้นคิดอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง เพื่อค้นหากรรมวิธี การทำฝนที่เป็นไปได้ และเหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย ก่อนที่จะพระราชทานแนวพระราชดำริ และข้อสมมุติฐานให้ลงมือทดลองปฏิบัติการ จนกระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้น้อมรับแนวทางพระราชดำริ และได้เริ่มให้มีการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ และ ได้ดำเนินการทดลองปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ในสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่แตกต่าง และในช่วงฤดูกาลต่างๆ กัน เพื่อพัฒนากรรมวิธี และเทคนิค จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการช่วยเหลือการทำนา ของจังหวัด พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งประสบภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง เป็นครั้งแรกตามที่ราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทาน ซึ่งประสบความสำเร็จ ช่วยให้รอดพ้นความเสียหายได้อย่างน่าพอใจ นับแต่นั้นมา จึงเป็นการค้นคว้าทดลอง ควบคู่กับการปฏิบัติการช่วยเหลือ ตามการทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องเรียนของราษฎร จากทุกภาคของประเทศ ทั้งนี้ ทรงร่วมและติดตามกิจกรรมนี้ ด้วยพระองค์เอง ทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด และเอาพระทัยใส่เป็นอย่างยิ่ง ทั้งการวิเคราะห์ วิจัย การค้นคว้าทดลอง การวางแผน และปรับแผนปฏิบัติการ และการประเมินผล รวมทั้งทรงพระกรุณาถ่ายทอดวิชาการ และพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิค แก่นักวิชาการด้วย จนทรงสามารถสรุปกรรมวิธีฝนหลวง พระราชทานให้ใช้เป็นหลักวิชาการ และเทคนิคในการปฏิบัติการฝนหลวงใน พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็น ต้นมา จนตราบเท่าทุกวันนี้ |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้คำแนะนำในการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง |
การทดลองค้นคว้าและการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือราษฎร ได้ก้าวหน้าและประสบ ความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ คณะรัฐมนตรีจึงได้ มีมติให้ใช้คำ "ฝนหลวง" เป็นทางราชการเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ และมีการตราพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการ ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้เป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงรับผิดชอบในภารกิจหลัก ดังนี้ ๑. การปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อป้องกัน และบรรเทาสภาวะแห้งแล้ง โดยการช่วยให้เกิด ฝนตกถี่ และเพิ่มปริมาณฝน แผ่เป็นบริเวณกว้าง ยิ่งขึ้นกว่าขบวนการเกิดฝนตามธรรมชาติเพื่อ ๑.๑ ป้องกันและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ๑.๒ เพิ่มปริมาณน้ำไหลให้แก่ต้นน้ำ ลำธาร หนองบึงธรรมชาติ อ่างและเขื่อนเก็บกัก น้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทาน น้ำประปา รวมทั้งน้ำใต้ดิน ๒. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง |