การบริโภคและอุตสาหกรรมนม นมเป็นอาหารธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยธาตุอาหารครบทุกหมู่ คือ โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ คาร์โบไฮเดรต และไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลนม หรือแล็กโทส (lactose) และโปรตีนที่เรียกว่า เคซีน (Casein) จะพบในธรรมชาติคือ ในนมหรือน้ำนมเท่านั้น นมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการพัฒนาร่างกายและสมองของเด็กและเยาวชน |
นมเป็นอาหารธรรมชาติที่อุดมด้วยธาตุอาหารครบถ้วน |
นมมีส่วนประกอบดังนี้ ๑. น้ำ เป็นสื่อกลางให้สารอาหารหลายชนิดละลาย ทำให้สะดวกในการบริโภค โดยเฉพาะเด็กอ่อน หรือทารก ที่ยังไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร ๒. ไขมัน ตามปกติเรียกไขมันจากน้ำนมว่า มันเนย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางโภชนาการ และเศรษฐกิจ ให้พลังงาน ตลอดจนสารอาหาร และวิตามินเอ ดี อี และ เค นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญ ใช้ในการกำหนดราคาซื้อขายน้ำนมดิบ เพราะสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมนมได้ นมให้ไขมันเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับขนมปัง นมผง ถั่วเหลือง หรือเนื้อ การดื่มนม จึงไม่ทำให้อ้วน ๓. โปรตีน ในน้ำนมเกือบทั้งหมด ประกอบด้วยสารอาหารโปรตีน ที่เรียกว่า เคซีน โกลบุลิน (globulin) อัลบูมิน (albumin) ในปริมาณค่อนข้างสูง และมีกรดอะมิโน (amino acid) อยู่ ๑๙ ชนิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างเนื้อเยื่อ เลือด และกระดูก นอกจากนี้ยังมีเอนไซม์ชนิดต่างๆ อีกด้วย ๔. สารประกอบที่มีไนโตรเจน ตามปกติ นมจะมีแร่ธาตุไนโตรเจนอยู่ประมาณร้อยละ ๐.๕ ๕. แล็กโทส เมื่อถูกย่อยแล้ว จะกลายเป็นกลูโคส (glucose) และกาแล็กโทส (galactose) น้ำตาลกาแล็กโทสนี้ เป็นส่วนประกอบของซีรีโบรไซด์ (cerebroside) ซึ่งพบมากในเยื่อหุ้มสมอง และเยื่อหุ้มประสาท ดังนั้นทารกและเด็ก จึงมีความต้องการแล็กโทส เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของสมอง ๖. วิตามิน ในนมมีวิตามินเอ บี ๑ (ไทอามีน-thaiamine) บี ๒ บีรวม บี ๖ บี ๑๒ ซี ดี และดี ๓ ซึ่งช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิด อัมพาต โรคผิวหนัง โรคลำไส้ โรคฟันผุ เป็นต้น ๗. แร่ธาตุในน้ำนม มีลักษณะเป็นเถ้า ประกอบด้วย โพแทสเซียม แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส คลอไรด์ ซิเทรต เหล็ก ทองแดง และไอโอดีน |