กลวิธีในการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ การพัฒนาชนบทตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลายนั้น เน้นเรื่องที่สำคัญ เป็นกลวิธี และแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้ ๑. การช่วยให้พึ่งตนเองได้ ความยากจนของชาวชนบทเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนส่วนใหญ่ของชาติ รัฐบาลเองยอมรับว่า มีชาวชนบทจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านคน ที่ยากจน และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และมีพระราชประสงค์ จะช่วยให้ราษฎรพัฒนาจนสามารถพึ่งตนเองได้ ตามแนวพระราชดำริ ดังนี้ "...การเข้าใจถึงสถานการณ์และสภาพ- การณ์ของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้น ในการช่วยเหลือแต่ละครั้งแต่ละกรณี จำเป็นที่เราจะพิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นก่อน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เราจะช่วยให้เข้าใจด้วยว่า เขาอยู่ในฐานะอย่างไร สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร เพียงใด อีกประการหนึ่ง ในการช่วยเหลือนั้น ควรจะยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขา เพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป..." การพัฒนาที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ อาจใช้ผู้นำในหมู่บ้านที่ชาวบ้านเคารพนับถือ เป็นผู้ชักนำ ช่วยกันสร้างสรรค์ความเจริญให้กับหมู่บ้าน โดยเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ไปก่อน หรืออาจอาศัยพระหรือเจ้าอาวาสก็ได้ ทั้งนี้ ทรงใช้คำว่า "การระเบิดจากข้างใน" หมายความว่า ทำให้ชุมชนหมู่บ้านหรือชุมชนชนบทแข็งแรงก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอก เข้าไปปะทะกับชุมชนหมู่บ้าน ที่ยังไม่ทันได้เตรียมตัวหรือตั้งตัว โดยทรงยกตัวอย่างว่า การพัฒนาในลักษณะของการสร้างถนน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างมากมายนั้น บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่า จะประสบผลสำเร็จ เป็นการพัฒนาให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ สิ่งที่พระองค์ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการทำให้ชุมชนแข็งแรง คือ การที่ประชาชนรู้จักรวมตัวกันในรูปของกลุ่ม เพื่อไปสู่รูปของสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน หรือเพื่อทำมาหากินร่วมกัน | |||
เกษตรกร กำลังใส่ปุ๋ยบำรุงดิน | |||
แนวพระราชดำริดังกล่าว ทำให้เกิดโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎร โดยเน้น "หลักการพึ่งตนเอง" ในลักษณะต่างๆ มากมาย ดังเช่น โครงการธนาคารข้าว โครงการธนาคารโค-กระบือ โครงการที่มีลักษณะการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ โครงการที่มีลักษณะผสมผสานการดำเนินงานในด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การเกษตร การจัดพัฒนาที่ดินให้แก่ราษฎรที่ยากจนและไร้ที่ดินทำกิน ฯลฯ โครงการเหล่านี้ มีจุดประสงค์หลักคือ ให้ราษฎรสามารถ "อยู่ได้" หรือสามารถ "พึ่งตนเองได้" นั่นเอง ๒. การส่งเสริมความรู้ในการทำมาหากิน ตามหลักวิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสมแก่ราษฎร เกษตรกรรมเป็นอาชีพพื้นฐานของสังคม ชนบทไทยมาทุกยุคทุกสมัย ประชากรของประเทศประมาณ ๒ ใน ๓ อยู่ในภาคเกษตรกรรม การพัฒนาการเกษตร จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาชนบท และประเทศเป็นส่วนรวมมาตลอด โดยสาขาเกษตรเป็นสาขาที่ได้รับความสำคัญอย่างสูง ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติทุกฉบับ | |||
การเพาะเห็ด อาชีพหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมในศูนย์ศึกษาการพัฒนา | |||
แม้ว่าผลการพัฒนาที่ผ่านมา จะทำให้ภาคเกษตรกรรม ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมากก็ตาม เกษตรกรรมก็ยังเป็นสาขาการผลิต ที่มีปัญหาต่างๆ อีกหลายประการ ปัญหาหลักประการหนึ่งของการพัฒนาการเกษตร ในปัจจุบัน ก็คือเรื่องของประสิทธิภาพการผลิต ปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร ก็คือความรู้ ความเข้าใจในการผลิต ตามหลักวิชาการสมัยใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง ให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว ดังพิจารณา ได้จากแนวพระราชดำริ ดังนี้ "...ชีวิตของเกษตรกรหรือของคนทุกคน หารกิน มีเสื้อใส่ แล้วก็มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค ... ในด้านอาชีพของเกษตรกร ต้องมีการเพาะปลูก การเพาะปลูกหรือการทำมาหากินนี้ก็ต้อง อาศัยหลักวิชา หลักวิชาตั้งแต่พืชพันธุ์ใดที่สมควร วิธีการใช้ปุ๋ย ใช้เครื่องทุ่นแรง คือวิชาการนั้นเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ... ในเรื่องวิชาการก็เช่นเดียวกัน สมัยนี้เขาใช้เครื่องมือทุ่นแรง เขาใช้ปุ๋ย เขาใช้วิชาการ แต่วิชาการเหล่านี้มันก็แพง ฉะนั้น ถ้าพยายามที่จะปฏิบัติให้อยู่ในขอบเขตของกำลังเสียก่อน แล้วก็ค่อยเสริมสร้างขึ้นมาให้ค่อยๆ มีวิชาการมากขึ้น ก็จะมั่นคง..." พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวพระราชดำริประการต่อมาคือ การสร้างเสริม สิ่งที่ชาวชนบทขาดแคลน และเป็นความต้องการอย่างสำคัญ คือความรู้ ทรงเห็นว่า ชาวชนบทควรจะมีความรู้ในเรื่องการทำมาหากิน การทำ การเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในเรื่องนี้ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี "ตัวอย่างของความสำเร็จ" ในเรื่องการพึ่งตนเอง ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรในชนบทได้มีโอกาส ได้รู้ได้เห็นถึงตัวอย่างของความสำเร็จนี้ และนำไปปฏิบัติได้เอง จึงทรงปรารถนาที่จะให้ตัวอย่างของความสำเร็จทั้งหลาย ได้กระจายไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ประเด็นต่อไปที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ การนำเอาความรู้ในด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เข้าไป ให้ถึงมือชาวชนบทอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เป็นขบวนการเดียวกัน เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ชาวบ้านรับได้และสามารถนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลแท้จริง
หลักในการพัฒนาของพระองค์ประการแรกคือ การพัฒนาโดยยึดปัญหา และสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ดังนั้น การพัฒนา ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในลักษณะของการศึกษา ทดลอง วิจัย จึงเกิดขึ้นเป็น "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรสามารถเข้ามาเรียนรู้ ดูงาน ฝึกอบรม ด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือน และศิลปาชีพ จากของจริงที่ประชาชนจะสามารถ นำไปปฏิบัติได้จริง ๓. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาตินั้นถือได้ว่า เป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐาน ที่เป็นฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว จากผลการพัฒนา ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นประการสำคัญนั้น จึงทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆ มุ่งเน้นเฉพาะการเพิ่มผลิตผลของทุกๆ สาขาการผลิต โดยไม่คำนึงถึงปัญหา และข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ ฯลฯ เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว จนในที่สุดทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ได้เสื่อมโทรม และเหลือน้อยลงเป็นลำดับ | |||
การปลูกเสริมป่า เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ | |||
แนวทางในการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรม ของทรัพยากรธรรมชาติ มีเป้าหมายแยกออกได้เป็น ๒ ประการ คือ ประการแรก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ประการที่สอง ประชาชนรวมกลุ่ม เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และสภาพแวดล้อมในระยะยาว การดำเนินการดังกล่าว สามารถแยกเป็นส่วนได้ ดังนี้ ๓.๑ การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรที่มนุษย์ได้ บริโภคใช้สอย เช่น การทำไม้ การเก็บหาของป่า ผลิตไม้แปรรูป ฯลฯ ทำให้เกิดรายได้แก่ประชาชน และประเทศชาติ และยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อความ สำเร็จของการพัฒนาชนบท โดยเฉพาะในแง่ ของการแก้ปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม อันมีสาเหตุ มาจากป่าไม้ถูกทำลายด้วย | |||
ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำธารที่ควรได้รับการอนุรักษ์ | |||
แนวพระราชดำริของพระองค์ ในด้านนี้ ได้ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาและบำรุง รักษาป่าไม้โดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ เพื่อเป็นการบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มตอนล่างของภาคเหนือ และในบริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง ตลอดจนเพื่อถนอมน้ำไว้ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธาร ในที่ลุ่มตอนล่างในฤดูแล้ง ดังเช่น โครงการหลวงในภาคเหนือ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการพัฒนา และบำรุงรักษาป่าไม้ เป็นต้น ๓.๒ การอนุรักษ์ดิน สำหรับงานด้านการอนุรักษ์ดิน นั้น มีกิจกรรมตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องในด้านนี้ แบ่งออกได้ เป็น ๓ ประเภทดังนี้ ๓.๒.๑ การพัฒนาที่ดิน ได้แก่ การสนับสนุนให้เกษตรกรได้เรียนรู้ เข้าใจวิธีการ อนุรักษ์ที่ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งอาจไปปฏิบัติได้เอง ทรงมีพระราชดำริว่า การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ไม่ไถหรือลอกทิ้งไป (ปอกเปลือก) และต้องสงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้ง โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้าง พังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและบำรุงดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิต ด้านการพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกร ในบางพื้นที่มีการพัฒนาปรับปรุงดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ดินพรุ ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ฯลฯ ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก โดยทรงเน้นว่า ในกระบวนการพัฒนาที่ดินทั้งหมด ดังกล่าวนี้ จะต้องชี้แจงให้ราษฎร ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์มีส่วนร่วมและช่วยลงแรงด้วย ๓.๒.๒ การจัดสรรและปฏิรูปที่ดิน ได้แก่ การพัฒนาที่ดินว่างเปล่าแล้วจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน ได้ประกอบอาชีพใน รูปของหมู่บ้านสหกรณ์ ทั้งนี้ โดยให้สิทธิทำกิน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง และจัดบริการ ขั้นพื้นฐานให้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา สามารถอยู่ได้เป็นหลักแหล่งโดยไม่ต้องทำลายป่า อีกต่อไป การจัดพื้นที่ต่างๆ ดังกล่าวนั้น ทรง มีหลักการว่า ต้องวางแผนการจัดให้ดีเสียตั้งแต่ต้น โดยใช้แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศช่วยด้วย โดยไม่ควรทำแผนผังที่ทำกินเป็นลักษณะตาราง โดยไม่คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ แต่ควรจัดสรรที่ทำกิน ตามแนวพื้นที่รับน้ำ จากโครงการชลประทาน ๓.๒.๓ การดำเนินการเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทรงสนับสนุนให้เร่งออกโฉนดที่ดินเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ถือครองอีกประมาณ ๖๖.๓ ล้านไร่ ที่ยังไม่มีเอกสารแสดงสิทธิใดๆ และพื้นที่อีกประมาณ ๖๕.๖ ล้านไร่ มี เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น นส.๓ ซึ่งยังไม่ สมบูรณ์เท่าโฉนดที่ดิน นอกจากนี้ ในบริเวณที่ดินป่าสงวนเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐบาล ที่รัฐบาลจะออกโฉนดให้นั้น ก็ทรงมีพระราชดำริว่า ควรให้เพียงสิทธิทำกินแบบมรดกตกทอดแก่ทายาท ซึ่งนำไปขายไม่ได้ ต่อมา รัฐบาลจึงได้รับแนวพระราชดำริไปดำเนินการ โดยได้ออกใบสัญญารับรองสิทธิทำกิน (สทก.) เป็นขั้นตอน เช่น สทก.๑ สทก.๒ และ สทก.๓ อันเป็นใบรับรองสิทธิทำกินถาวร ๓.๓ การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ พื้นที่ทำการเกษตรในประเทศไทย นั้น มีทั้งสิ้นประมาณ ๑๔๗ ล้านไร่ ในจำนวน ดังกล่าวนี้มีเพียงจำนวน ๑๖ ล้านไร่เท่านั้นที่อยู่ ในเขตชลประทาน และพื้นที่ในเขตชลประทาน นี้มีเพียง ๔-๕ ล้านไร่เท่านั้นที่รับน้ำชลประทาน ได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า เกษตรกร ส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งการเกษตรน้ำฝนเป็นหลักอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากพื้นที่การเกษตรทั้งสิ้นประมาณ ๖๐ ล้านไร่ มีพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานเพียง ๑.๖ ล้านไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงเน้นเป็นพิเศษในเรื่องแหล่งน้ำ ทั้งนี้ พระองค์ทรงมีความเห็นว่า เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในชนบทนั้นประกอบอาชีพทางการเกษตร และเนื่องจาก พื้นที่เกษตรในชนบทส่วนใหญ่ ต้องพึ่งน้ำฝน จึงทำให้ผลิตผลที่ได้ไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร เป็นอย่างมาก ดังนั้น การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรด้านแหล่งน้ำ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรของประชาชน ส่วนใหญ่ของชาติ ๔. คุณภาพชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร โดยการให้ความสำคัญ ต่อปัญหาพื้นฐาน คือ เรื่องเกี่ยวกับปัจจัยสี่ คือ ต้องมีอาหาร การกินที่มีคุณภาพ มีเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยที่ถูกต้องตามสุขอนามัย การระวังรักษาสุขภาพร่างกายของประชาชน ให้พ้นจากโรคภัยที่คอยเบียดเบียน ตลอดจนการให้การศึกษา และการเสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรมให้แก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้ ทรงเห็นว่า การพัฒนาต่างๆ จะได้ผลนั้น จะต้องเริ่มต้น ด้วยการที่มี "กำลังคน กำลังใจ" ที่ดี เพื่อให้สามารถต่อสู้ฝ่าฟันกับปัญหาอุปสรรค ที่อาจ เกิดขึ้น และมีความเข้มแข็งที่จะพัฒนา เพื่อตนเอง และประเทศชาติต่อไป ดังในกรณีตัวอย่าง เช่น โครงการด้านสาธารณสุข ที่พระองค์ทรงเริ่มดำเนินการตั้งแต่เสด็จฯ นิวัติกลับพระนคร ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ คือ โครงการก่อสร้างอาคารการแพทย์ ของโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ตึกวชิราลงกรณ์ สภากาชาดไทย กิจกรรมต่อต้านโรคโปลิโอ ตราบจนปัจจุบัน ซึ่งยังมีหน่วยแพทย์พระราชทานในหลายๆ สาขา เพื่อคอยดูแลรักษาประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวชนบท ที่ห่างไกล เป็นต้น | |||
แพทย์พระราชทานตรวจรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย | นอกจากนี้ ในด้านการศึกษา ก็ได้ทรงเริ่มช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นกันดาร ในด้านการศึกษา ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น เรียกว่า โรงเรียนร่มเกล้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและกระจายการศึกษา ให้แก่บุตร ธิดาของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพในระยะยาวต่อไป การสนับสนุนการศึกษานี้ มิได้ทรงเจาะจง เฉพาะโรงเรียนระดับประถมเท่านั้น แต่ยังทรงคำนึงถึงโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา สำหรับแก้ปัญหาให้นักเรียนธรรมดา ที่ประสงค์จะศึกษาต่อ ได้มีโอกาสเข้าเรียนได้อย่างทั่วถึงเท่าที่จะทำได้ อีกด้วย นอกจากนี้ ก็ยังรวมถึงโรงเรียนพระดาบส ที่มีพระราชประสงค์ ให้ผู้ที่ต้องการมาศึกษา หาความรู้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ แต่ต้องติดเงื่อนไข ที่ไม่สามารถเข้าโรงเรียนรัฐบาล หรือเอกชนอื่นๆ ได้ ได้มีโอกาสมาศึกษาหาความรู้ด้านวิชาชีพ เพื่อไปประกอบอาชีพสร้างตนเองด้วย | ||
สิ่งต่างๆ ที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการพัฒนาประชากรด้านพื้นฐาน เพื่อให้มีคุณภาพที่จะสามารถดำรงชีวิต และพัฒนาตนเอง และบ้านเมืองให้เกิดความเจริญ |