การดำเนินงานตามแนวคิด และวิธีการของการพัฒนาเกษตรกรรมสำหรับพื้นที่เฉพาะ จากแนวทางการดำเนินงานตามโครงการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง ๖ แห่ง แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การพัฒนาตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นการพัฒนาเกษตรกรรมสำหรับพื้นที่เฉพาะ ด้วยเหตุผลที่ว่า พื้นที่ประเทศไทย แม้จะ ไม่ใหญ่โต แต่ก็ไม่เล็กเกินไปนัก ความแตกต่างทางสภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างน้อยก็มีถึง ๖ ลักษณะ หรือ ๖ ภาค การพัฒนาในแต่ละภาค หรือแต่ละพื้นที่ ก็มีความแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น แนวทางการพัฒนาจึงได้เน้นเป็น พื้นที่ โดยหวังผลว่า ตัวอย่างของการพัฒนาของแต่ละศูนย์ฯ จะสามารถเป็นแบบอย่างการพัฒนาเกษตรกรรมในภาคนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทุกศูนย์ได้ใช้หลักการพัฒนา สำหรับพื้นที่เฉพาะเหมือนกันทั้งหมด จะแตกต่างกันเฉพาะวิธีการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่เท่านั้น โดยมีการศึกษาวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ก่อนการวางแนวทางการพัฒนาเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้แนวทางการพัฒนา สอดคล้องกับสภาพของเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม ในแต่ละพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาที่ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาด้านการตลาด และผลิตผลทางการเกษตรก็ตาม ในรายละเอียดของวิธีการดำเนินงาน ตามโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า สอดคล้องกับหลักการของการพัฒนาเกษตรกรรม ทั้งในด้านแนวคิด และวิธีการดังนี้ | |
บริเวณภายในโรงเพาะเห็ดศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ | |
๑. สอดคล้องกับแนวความคิดในการ พัฒนาเกษตรกรรม การใช้วิทยาการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงระบบเกษตรกรรมนั้น มีปัจจัยที่สำคัญ ๓ ประการ ที่เกี่ยวข้อง คือ ๑. ปัจจัยที่มาจากระบบเศรษฐกิจ ๒. ปัจจัยที่มาจากเกษตรกร ๓. ปัจจัยที่มาจากทรัพยากร ๒. สอดคล้องกับวิธีการพัฒนาเกษตรกรรม จากแนวความคิดในการพัฒนาเกษตรกรรม รวมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้การพัฒนามีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ ในการที่จะให้เกษตรกร มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมหลายประเภท ที่ต้องดำเนินการพัฒนา ในพื้นที่เฉพาะเป็นแห่งๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น การพัฒนาที่ดิน และแหล่งน้ำ การพัฒนาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ การพัฒนาด้านการตลาด เพื่อผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาวิทยาการการเกษตร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น | |
การเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพหลักอาชีพหนึ่งของเกษตรกร | ๒.๑ การพัฒนาที่ดิน ที่ดินเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ในการเกษตรกรรม การจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ และการอนุรักษ์ดิน ให้มีสภาพเหมาะสม กับการประกอบอาชีพทางการเกษตรตลอดไป เป็นกิจกรรมหลัก ในการพัฒนาที่ดิน เพื่อเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอนุรักษ์ดิน ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน |
๒.๒ การพัฒนาแหล่งน้ำ ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม เป็นประจำทุกปี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ในทุกด้านทุกสาขา โดยเฉพาะด้านการเกษตร ซึ่งเคยทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ต้องมีมูลค่าลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากความวิปริตของลมฟ้าอากาศ และความไม่สมดุลทางธรรมชาติ การพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนา และการดำรงชีพของมนุษย์ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในปัจจุบัน ๒.๓ การพัฒนาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกิดผลิตผล และมีกำไรมากที่สุด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยที่สำคัญชนิดหนึ่ง คือ พันธุ์พืช หรือพันธุ์สัตว์ที่ดี ให้ผลิตผลสูง และมีคุณภาพ การศึกษาค้นคว้าวิจัย และทดลองหาพันธุ์ชนิดใหม่ๆ ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์เดิมให้ดีขึ้น เป็นแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมแนวทางหนึ่ง | |
อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลน | |
๒.๔ การพัฒนาตลาดผลิตผลการเกษตร การพัฒนาเกษตรกรรมอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ คือ ด้านการตลาด เพื่อสนับสนุนการผลิตของเกษตรกร ให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งแนวทางการพัฒนาจะเน้นไปยังบุคคลเป้าหมาย ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มของตลาดสินค้า หรือผู้รับซื้อ โดยศึกษาถึงความต้องการสินค้า ทั้งประเภท ปริมาณ และคุณภาพ หรือมาตราฐาน และกลุ่มที่สองหมายถึง เกษตรกรผู้ผลิตเอง ที่จะต้องเข้าใจในเรื่องความต้องการของตลาด ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป กล่าวโดยสรุปได้ว่า การพัฒนาเกษตรกรรมสำหรับพื้นที่เฉพาะนั้น มีลักษณะคล้ายๆ กับ การพัฒนาผสมผสาน คือ รวมกิจกรรมการพัฒนาทุกๆ อย่าง เข้าด้วยกันแบบเบ็ดเสร็จ มีการประสานสัมพันธ์กิจกรรมเหล่านั้น อย่างสอดคล้องและเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้เหมาะสมกับสภาพในแต่ละพื้นที่ โดยมีหลักการที่สำคัญคือ ก่อนการดำเนินการพัฒนา จะต้องมีการพิจารณา หรือศึกษาสภาพพื้นที่ เพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริง สาเหตุของปัญหา ความสำคัญ หรือความรุนแรงของปัญหา วิเคราะห์ ปัจจัยพื้นฐาน สภาพแวดล้อม ศักยภาพในท้องถิ่น แล้วจึงพิจารณาหาวิธีการขจัดปัญหาต่างๆ อย่างเหมาะสม ดังที่ดำเนินการอยู่ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง ๖ ภาค ทั่วประเทศ มีผลให้เกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนั้นการพัฒนาดังกล่าว ยังสามารถนำไปเป็นรูปแบบในการปฏิบัติ เพื่อขยายการพัฒนาในพื้นที่อื่น ที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน อันส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมดีขึ้น และสามารถรักษาความสมดุลทางธรรมชาติของภูมิภาคต่างๆ ไว้ตลอดไป |