เล่มที่ 12
การศึกษาการพัฒนา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ

            การดำเนินการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่เป็นโครงการต่างๆ นั้น มีเป้าหมายสุดท้าย คือ ความสงบสุขมั่นคงของชาติเป็นสำคัญเช่นกัน แต่มีลักษณะการดำเนินงาน และกลวิธีที่อาจแตกต่างกันบ้าง ซึ่งอาจแยกแยะแนวพระราชดำริของพระองค์ได้ เป็น ๓ ลักษณะกว้างๆ ดังนี้

๑. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้า

            โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่ประชาชนเผชิญอยู่ เป็นลำดับแรกก่อน ถึงแม้ว่า อาจจะมีข้อโต้แย้งทางวิชาการว่า มิได้เป็นการแก้ไขปัญหารากฐาน หรือปัญหาโครงสร้าง ในเรื่องนี้ ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวความคิด ที่จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนดังนี้

            "... ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก ... ต้องแก้ไขปวดหัวนี้ก่อน ... มันไม่ได้แก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อจะให้อยู่ในสภาพที่จะคิดได้ ..."

            นอกจากนั้น ในจุดที่จำเป็นต้องแก้ไข อย่างรีบด่วน ซึ่งประชาชนไม่สามารถรอได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีแนวพระราชดำริชัดเจนอีกว่า "เราต้องถือจิตวิทยา ต้องไป เร็วที่สุด" ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณี ๗ หมู่บ้าน ในพื้นที่กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนในเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการพัฒนาของรัฐยังเข้าไปไม่ถึง เนื่องจากปัญหาด้านการจัดลำดับความสำคัญของโครงการของรัฐ ภายหลังจากที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่เหล่านั้นแล้ว ปัญหาความมั่นคงที่เคยมีอยู่ ก็ลดน้อยลง และหมดสิ้นไปในที่สุด นอกจากนี้ หลักจิตวิทยาและแนวทาง ที่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชน ยังเห็นได้จาก กรณีของโครงการแพทย์หลวงและแพทย์พระราชทาน ซึ่งเริ่มในพ.ศ. ๒๕๐๘ ตลอดจนโครงการธนาคารข้าวและธนาคารโค-กระบือ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อการอุปโภคบริโภค และโครงการฝนหลวง เป็นต้น
การหมั่นดูแลเรือกสวนอย่างถูกวิธี จะทำให้ได้รับผลิตผลที่มีคุณภาพ
การหมั่นดูแลเรือกสวนอย่างถูกวิธี จะทำให้ได้รับผลิตผลที่มีคุณภาพ
            อนึ่ง ตามแนวพระราชดำริที่ทรงถือหลัก จิตวิทยาว่า "ต้องไปเร็วที่สุด" ด้วยนั้น มิใช่แต่เป็นเรื่องโครงการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ยังรวมถึงโครงการอื่นๆ ที่ช่วยแก้ปัญหา ที่จะขยายวงลุกลามต่อไปได้ง่าย ซึ่งจะ "ต้อง ไปเร็วที่สุด" เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมด้วย นอกจากนี้ ยังทรงมีหลักในการพิจารณาบางกรณี ด้วยว่า โครงการเมื่อเริ่มแรก อาจจะดูว่า มีราคาแพง แต่ถ้ารีบทำให้เสร็จโดยเร็ว ผลประโยชน์จากโครงการนั้นก็จะได้รับเร็ว ซึ่งเมื่อวิเคราะห์คำนวณ ตามหลักวิชาการแล้ว ผลที่ได้รับนั้นจะคุ้มค่าในที่สุด แต่ในบางกรณี ก็ไม่อาจวิเคราะห์ ความคุ้มค่าของโครงการได้อย่างชัดเจน ดังเช่น กรณีที่เกี่ยวกับโครงการที่ต้องใช้หลักสังคมจิตวิทยา หรือหลักรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยในการตัดสินใจแทน หลักเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ก็จะ ทรงใช้วิธี "ใช้จ่ายให้เกิดผลประโยชน์แและประสิทธิภาพสูงสุด" เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการประหยัดอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

๒. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาหลัก


            โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่มีเป้าหมายมุ่งตรงต่อการแก้ไขปัญหา ในชนบทแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะชาวชนบทที่ยากจน อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร หรืออยู่ในลำดับความสำคัญรอง เมื่อพิจารณาในเชิงขีดความสามารถ ในการพัฒนาจากภาครัฐบาล การดำเนินการตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาหลักในชนบทดังกล่าวนี้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ โครงการพัฒนาแบบผสมผสาน หรือสมบูรณ์แบบ หรือโครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ

            นับตั้งแต่แรกที่ทรงเริ่มมีพระราชดำริ ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท โครงการพัฒนาแบบผสมผสานเป็นโครงการหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมาก เป็นเครื่องมือสำคัญ ต่อสู้กับปัญหาชนบท โดยเฉพาะความยากจน ทั้งนี้เพราะทรงทราบดีว่า ปัญหาความยากจนใน ชนบทนั้น มิใช่แก้เหตุปัจจัยใดเพียงเหตุปัจจัยเดียว แล้วความยากจนหรือปัญหาต่างๆ จะหมดไป แต่ต้องแก้เหตุปัจจัยหลายๆ ด้าน ซึ่งต้องการความเชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชาร่วมกัน
การใช้ถุงพลาสติกคลุมดินป้องกันแมลงสร้างความเสียหายแก่พืช เป็นวิธีพัฒนาที่ดินวิธีหนึ่ง
การใช้ถุงพลาสติกคลุมดินป้องกันแมลงสร้างความเสียหายแก่พืช เป็นวิธีพัฒนาที่ดินวิธีหนึ่ง
            วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานนี้ คือการยกระดับมาตรฐาน การครองชีพของชาวชนบท หรือการช่วยเหลือเกษตรกรยากจนให้มีการกินดีอยู่ดี ที่เรียกกันว่า มีคุณภาพแห่งชีวิต

            เหตุที่ต้องมีการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน ก็เพราะว่า การพัฒนาชนบทนั้น ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้ โดยมุ่งที่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งแต่อย่างเดียว เช่น เป้าหมายเพิ่มผลิตผล เป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร เป้าหมายการขจัดความยากจน เป้าหมายการเสริม สร้างการพึ่งตนเองของชุมชน ฯลฯ การพัฒนาชนบทจะสำเร็จได้ ต้องมีเป้าหมายอย่างน้อยทุกประการข้างต้น เมื่อมีเป้าหมายหลายเป้าหมาย การพัฒนาชนบทจึงเป็นเรื่องของสหวิทยาการ ซึ่งนักวิชาการและหน่วยราชการทุกสาขาจะต้องร่วมมือกับประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด

บ่อน้ำ แหล่งน้ำในชนบท มีประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคการเกษตร และการเลี้ยงปลาบ่อน้ำ แหล่งน้ำในชนบท มีประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคการเกษตร และการเลี้ยงปลา

            พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้มีการจัด และพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนนั้น เป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะโครงการมีความมุ่งหมาย ที่จะส่งเสริมให้ระดมสรรพกำลัง ของหน่วยราชการหลายๆ หน่วย เข้าไปดำเนินการร่วมกัน อย่างสมัครสมานและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้ชาวชนบทนั้น "พออยู่ พอกิน" ตามควรแก่ อัตภาพ

๓. โครงการที่มีลักษณะเป็นการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย

            โครงการที่มีลักษณะเป็นการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัยนี้ เป็นงานที่ทรงเริ่มอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาชนบทมาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี ทั้งที่ทรงศึกษาภายในเขตพระราชฐาน และนอกเขตพระราชฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งถือว่า เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาสังคมไทยระยะยาว ความพยายามดังกล่าวนี้ เป็นการเตรียมพระองค์ในด้านข้อมูล และความรอบรู้ที่จะทรงนำไปประยุกต์แก้ไขปัญหา และเผยแพร่แก่เกษตรกรในชนบท รวมทั้งเป็นการแสวงหาแนวทางการพัฒนา ที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย

            การศึกษา เพื่อการพัฒนาชนบทดังกล่าวนี้ ครอบคลุมทุกเรื่อง ที่มีความสำคัญต่อปัจจัยการผลิต เช่น น้ำ ดิน ความรู้ในเรื่องการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ทุนและการตลาด นอกจากนี้ ยังเจาะลึกในรายละเอียดว่า ในแต่ละท้องถิ่นนั้น มีสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชาชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิธีการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น การพัฒนาที่จะได้ผลสูงสุด คือ การพัฒนาให้สอดคล้อง กับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ จึงทรงตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ทำการศึกษาค้นคว้า ค้นหาปัญหา และแนวการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพของภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว จะเป็นที่รวมของการพัฒนาต่างๆ ในทุกสาขาหลักที่จำเป็นของแต่ละภูมิภาค ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่าเป็น "สรุปผลของการพัฒนา" หรือ "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ที่ประชาชนจะสามารถเข้าไปเรียนรู้เรื่องการพัฒนาต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตนได้ ตามความต้องการ รวมทั้งยังทำหน้าที่ให้การบริการทางวิชาการแก่พื้นที่อื่นๆ ที่จะนำผลการศึกษาไปพัฒนา เผยแพร่ต่อไปด้วย ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯ ดังกล่าวมีอยู่ จำนวน ๖ ศูนย์ คือ

            ๑. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
            ๒. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
            ๓. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัด เพชรบุรี
            ๔. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัด สกลนคร
            ๕. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้อยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
            ๖. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัด นราธิวาส