เล่มที่ 12
การศึกษาการพัฒนา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การพัฒนาเกษตรกรรมสำหรับพื้นที่เฉพาะ

            การพัฒนาเกษตรกรรม หมายถึง กระบวนการการเปลี่ยนแปลงระบบการทำการเกษตรดั้งเดิม ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกร ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม

            การพัฒนาเกษตรกรรมทำได้หลายวิธี ส่วนใหญ่หน่วยงานของรัฐเป็นแกนนำ ในการเปลี่ยนแปลง อาจเป็นการพัฒนาเฉพาะพืช และสัตว์แต่ละชนิด หรือการพัฒนาเฉพาะเรื่อง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน เช่น การปรับปรุงระบบชลประทาน การพัฒนาที่ดิน ฯลฯ

            การพัฒนาเกษตรกรรมของไทยเราที่ผ่านมา ได้ใช้วิธีการต่างๆ ตลอดเวลา แล้วแต่ยุคสมัย แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ ของเกษตรกรให้สูงขึ้น ในระดับที่พอใจได้ จนอาจกล่าวได้ว่า เรายังไม่แน่ใจว่า วิธีใดดีที่สุด สำหรับเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในชนบท
            
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ขึ้น ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทาง และวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ ให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเผยแพร่สู่เกษตรกร ในหมู่บ้านใกล้เคียง จนกระทั่ง ขยายผลแพร่กระจายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาเกษตรกรรมสำหรับพื้นที่เฉพาะ โดยมีหลักการในการพัฒนาตามแนวทางดังนี้ คือ

            ๑. ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยสภาพการณ์ต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ ก่อนกำหนดรูปแบบของการพัฒนา เพราะแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านปัญหาที่เกิดขึ้น และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ

            ๒. ลักษณะการพัฒนาอยู่ในรูปเบ็ดเสร็จ มีการปรับปรุงทั้งระบบให้เกิดการพัฒนาเป็นระบบ ครบวงจร กล่าวคือ มีการวิเคราะห์ปัญหา วางแผนการผลิต การแปรรูปผลิตผล และการตลาด

            ๓. สนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนา การเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การชลประทาน ที่ดิน เงินทุน ปัจจัยการผลิต การตลาด เป็นต้น

            ๔. ประสานการทำงานของหน่วยงานของ รัฐและเอกชน ในลักษณะการผสมผสานร่วมมือกันทำงาน เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ แก่เกษตรกร อย่างเต็มที่