เรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยภาคกลาง เป็นเรือนไทยที่สร้างขึ้นในภาคกลางของประเทศไทย มีลักษณะแบบ แผนของแต่ละหลังที่แน่นอน และคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ มีอายุประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ ปีมาแล้ว ลักษณะหลังคาทรงมนิลาสูง มีปั้นลม กันสาด และใต้ถุนสูง เนื่องจากเรือนไทยในภาคกลาง มีลักษณะเฉพาะอย่างนี้ คนทั่วไปจึงเรียกว่า เรือนไทยเดิมภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วยเรือนลักษณะต่างๆ ดังนี้
เรือนครอบครัวเดี่ยว
เป็นเรือนหอของครอบครัวที่สร้างใหม่ สำหรับสามี ภรรยา และลูกเล็กๆ ประกอบด้วยเรือนนอน ซึ่งมีห้องนอน กับห้องโถง ๑ หลัง เรือนนอนมี ๓ ช่วงเสา สร้างเป็นห้องนอน ๒ ช่วงเสา และห้องโถง ๑ ช่วงเสา ห้องโถงนี้มีไว้สำหรับเลี้ยงพระ และตั้งแท่นบูชา เรือนครัวใช้เป็นที่สำหรับปรุงอาหาร และอาจนั่งรับประทานอาหารในครัวได้เลย เรือนครัวมี ๒ ขนาด ขนาดเล็ก ๒ ช่วงเสา และขนาดใหญ่ ๓ ช่วงเสา ส่วนหนึ่งเป็นครัวไฟ อีกส่วนหนึ่ง เป็นที่รับประทานอาหารด้านหน้าของเรือนนอน มีระเบียงเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองหลังด้วยชาน
เรือนครอบครัวขยาย
ในครอบครัวหนึ่ง เมื่อลูกเล็กๆ เจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีสามี หรือภรรยา จำเป็นต้องแยกครอบครัวออกไป ลูกชายแต่งงานแล้วไปอยู่บ้านฝ่ายผู้หญิง ส่วนลูกผู้หญิงแต่งงานแล้ว พ่อแม่จะปลูกเรือนให้อยู่อีกหลังหนึ่งต่างหาก อาจสร้างขึ้นใหม่ ให้อยู่ตรงข้ามกับเรือนของพ่อแม่ โดยใช้ชานเป็นตัวเชื่อม ถ้ามีลูกสาวหลายคนก็ปลูกเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
โดยสรุปแล้ว ผังของเรือนครอบครัวขยาย มี ๓ แบบ คือ
๑. ปลูกเรียงเป็นแถวไปตามยาวต่อจากเรือนของพ่อแม่
๒. จัดวางตัวเรือนเป็นกลุ่ม มีชานเชื่อม ตรงกลาง ชานเชื่อมนี้เปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม
๓. ปลูกเรือนขึ้นใหม่อยู่บริเวณใกล้ๆ เป็นหลังๆ ไม่มีชานเชื่อม
เรือนคหบดี
เรือนคหบดี
เป็นเรือนของผู้มีฐานะ เจ้าของตั้งใจสร้างขึ้นให้มีขนาดใหญ่โตหรูหรา เห็นได้ชัดเจนจากการวางผัง เรือนหมู่นี้ประกอบด้วย
๑. เรือนนอน เป็นเรือนประธาน มี ๓ ช่วงเสา
๒. เรือนสำหรับลูก มีขนาดเท่ากัน หรือย่อมลงมา อยู่ตรงข้ามกับเรือนพ่อแม่ เรียกว่า เรือน "รี" หันหน้าจั่วไปทางเดียวกัน
๓. เรือนขวาง มีลักษณะเป็นเรือนโปร่ง มี ๓ ช่วงเสา สำหรับเป็นที่พักผ่อน รับแขก รับประทานอาหาร เลี้ยงพระ และใช้จัดงานประเพณี ต่างๆ เช่น โกนจุก แต่งงาน ฯลฯ
๔. เรือนครัว ตั้งอยู่ทางด้านหลัง มีขนาด เล็ก ๒ ช่วงเสา ฝาขัดแตะโปร่ง มีช่องระบายควัน ไฟบนหน้าจั่ว ทำเป็นรูปพระอาทิตย์ มีรัศมีบ้าง เป็นไม้เว้นช่องบ้าง ครัวของเรือนคหบดีนั้น มักมี ๒ หลัง ใช้ทำอาหารคาว ๑ หลัง ทำอาหารหวานอีก ๑ หลัง
๕. หอนก คหบดีผู้มีฐานะมักจะมีงาน อดิเรกคือ เลี้ยงนกไว้ดูเล่น และฟังเสียงร้อง เพื่อนำไปประกวดกัน นอกจากเลี้ยงนกแล้ว ยังเลี้ยงปลากัด ปลูกบอน ว่าว ตะโกดัด ข่อยดัด บัวใส่ตุ่ม ฉะนั้นเราจะเห็นมีเรือนหลังเล็กๆ ขนาด ๒ ช่วงเสา มีฝา ๓ ด้าน แขวนกรงนกเขา หรือนกอื่นๆ ไว้เป็นแถว เรือนทั้งหมดเชื่อมด้วยชานเปิดโล่ง เช่นเดียวกับเรือนประเภทอื่นๆ แต่บนชานจะเจาะทะลุลงไปชั้นล่าง เพื่อปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ตรงกลาง มีต้นจำปี จำปา ขนุน มะม่วง เป็นต้น เพื่ออาศัยร่มเงา และเพื่อให้เรือนมีความกลมกลืนกับธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น
เรือนร้านค้าริมน้ำ
เป็นเรือนที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นร้านค้าขาย รวมทั้งกินอยู่หลับนอน ฉะนั้น ประโยชน์ใช้สอยจึงต่างกับเรือนพักอาศัยทั่วไป เรือนแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหน้าเปิดเป็นร้านค้า มีที่สำหรับวางสินค้า ส่วนหลังเป็นที่อยู่อาศัย มีห้องโถง ห้องนอน เรือนครัว และที่รับประทานอาหาร ส่วนการอาบน้ำนั้น อาบที่คลองหรือ แม่น้ำ
ร้านค้าขายจะมีสะพานทางเดินทำด้วยไม้ ยาวตลอดติดต่อถึงกันทุกหลังคาเรือน ถัดจากสะพานออกไป ทำท่าน้ำลดระดับให้ใกล้ระดับน้ำ เพื่อเป็นที่เทียบเรือขนสินค้าขึ้นลงได้สะดวก ด้านหน้าของเรือนใช้ฝาหน้าถัง สามารถยกถอดออกเป็นแผ่นๆ นำไปเก็บไว้ที่อื่นได้ ด้านหน้าเปิดโล่งไว้ สำหรับแสดงสินค้าได้ตลอด บางหลังทำเป็นฝาบานกระทุ้ง เวลาเปิดยกฝาบาน กระทุ้งขึ้นทั้งแผง ฝานี้ทำด้วยวัสดุเบาๆ เช่น จาก แฝก หรือขัดแตะ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นฝาหน้าถัง และฝากระทุ้ง ทำด้วยสังกะสี ซึ่งพอหาดูได้จากร้านค้าริมน้ำ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ร้านค้าริมน้ำตลาดบางลี่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และร้านค้าริมน้ำหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
เรือนแพ
รือนแพ
เรือนแพคือ ร้านค้าริมน้ำที่ลอยน้ำเคลื่อนที่ไปมาได้ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยหลับนอน มีลักษณะเหมือนเรือนไทยแฝด หลังในเป็นที่พักผ่อนหลับนอน ส่วนหลังนอกเป็นร้านค้า มีฝาหน้าถังปิดเปิด ด้านหน้าเป็นระเบียงติดกับน้ำ บางหลังมีระเบียงรอบ ช่วงเรือนยาว มี ๓ ห้อง ด้านหลังเป็นครัว หลังคาครัวมีขนาดเล็กกว่า หลังคาเรือนใหญ่ ด้านล่างซึ่งเป็นแพรองรับ ตัวเรือน มี ๒ ชนิด คือ
๑. ใช้ไม้ไผ่ผูกรวมกันเป็นแพ เรียกว่า แพลูกบวบ
๒. ใช้ไม้จริงต่อเป็นแพสี่เหลี่ยมยาว เรียกว่า โป๊ะ มีโครงอยู่ภายใน ลักษณะคล้ายเรือ อุดยาด้วยชันผสมน้ำมันยาง ติดต่อกัน ๓-๔ โป๊ะ ต่อเรือน ๑ หลัง แพทั้งสองแบบนี้ ต้องซ่อมแซม ทุกปี
เรือนร้านค้าริมทาง
เรือนร้านค้าริมทาง เป็นเรือนที่สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ทางการค้า และใช้พักอาศัยไปในตัว มีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับเรือนร้านค้าริมน้ำ การขนส่งใช้เกวียนเป็นพาหนะ เรือนดังกล่าว มีลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้
ลักษณะที่ ๑ เป็นเรือนหลังเดียวมีระเบียงกว้างเกือบเท่าเรือนนอน ลดระดับพื้นระเบียงลงมา สูงจากระดับดินไม่เกิน ๑ เมตร ใช้พื้นที่ระเบียงเป็นที่วางสินค้า อาจมีฝาหน้าถังหรือฝาเฟี้ยม หรือบางครั้งเปิดโล่ง เวลาเลิกขายจะขนสินค้าขึ้นเก็บบนเรือนนอน หากกิจการค้าเจริญดีจะทำฝาหน้าถัง หรือฝาเฟี้ยมผืนใหญ่ๆ ยกขึ้น เอาไม้ค้ำไว้ พื้นบนเป็นส่วนเรือนนอน ด้านหลังเป็นครัว ใต้ถุนเรือนนอนใช้เป็นที่เก็บเกวียน
ลักษณะที่ ๒ เป็นเรือนสองหลังแฝด ด้านจั่วทำระเบียงลดระดับเป็นร้านค้าเหมือนลักษณะที่ ๑
ลักษณะที่ ๓ แยกเรือนร้านค้าออกต่างหาก จากเรือนนอน ไม่มีฝากั้น คล้ายศาลาโถง เวลา ขายจะขนสินค้าออกมาวาง เมื่อเลิกขายก็เก็บ
เรือนตำหนัก
เรือนตำหนัก เป็นเรือนสำหรับเชื้อพระวงศ์ หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ มีขนาดใหญ่ หลายช่วงเสา ลักษณะคล้ายกุฏิสงฆ์ ซึ่งนำมารวม กันจำนวน ๖ - ๙ ห้อง ฝาลูกปะกน มีสัดส่วนใหญ่โตกว่าเรือนธรรมดา ลบมุมลูกตั้งลูกนอน ด้านหน้าเป็นระเบียง มุมสุดหัวท้ายของระเบียง กั้นเป็นห้องน้ำ ห้องส้วม และห้องเก็บของ ระเบียงนี้ เรียกว่า พะไล ถ้าเจ้าของเรือนเป็นเชื้อพระวงศ์ จะมีช่อฟ้า ใบระกา ประดับปลายหลังคา ด้านหน้าจั่ว เช่น ตำหนักแดง (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) ตำหนักเขียว ตำหนัก ปลายเนิน เป็นต้น
กุฏิสงฆ์
กุฏิสงฆ์ (กุฎีสงฆ์)
กุฏิสงฆ์เป็นเรือนพักอาศัยชนิดหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ ลักษณะคล้ายเรือนทั้งหลายที่กล่าวมา กุฏิบางหลังเป็นเรือนของชาวบ้านรื้อมาถวาย เพราะเป็นเรือนของบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้ แต่กุฏิสงฆ์ทั่วไปนั้น มีลักษณะมากมายหลายแบบ เช่น แบบสร้างขึ้นอยู่เฉพาะรูปเดียว แบบของวัดที่ตั้งอยู่ในเมือง (คามวาสี) และแบบของวัดที่ตั้งอยู่ในป่า (อรัญวาสี) แล้วแต่จุดมุ่งหมายของผู้ที่จะสร้างให้
สำหรับกุฏิสงฆ์ซึ่งพระภิกษุจะสร้างด้วยตนเองนั้น จำเป็นจะต้องทำตามพระวินัยในบท สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ ๖ กล่าวว่า "ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน ต้องทำให้ได้ประมาณโดยยาวเพียง ๑๒ คืบ พระสุคตโดย กว้างเพียง ๗ คืบ พระสุคตวัดภายใน (ยาวประมาณ ๔.๐๓ เมตร กว้างประมาณ ๒.๓๕ เมตร) และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส"
สภาพน้ำท่วมใต้ถุนเรือนในหน้าน้ำ
ลักษณะของเรือนไทยภาคกลาง
๑. เป็นเรือนยกใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดิน ประมาณพ้นศีรษะ รวมทั้งระเบียงและชานก็ยกสูงด้วย การยกใต้ถุนสูงนี้มีระดับลดหลั่นกัน พื้นระเบียงลดจากพื้นห้องนอน ๔๐ เซนติเมตร พื้นชานลดจากระเบียงอีก ๔๐ เซนติเมตร และปิดด้วยไม้ระแนงตีเว้นช่องโปร่ง การลดระดับพื้น ทำให้ได้ประโยชน์ ดังนี้ คือช่วยให้ลมพัดผ่าน จากใต้ถุนขึ้นมาข้างบน สามารถมองลงมายัง ใต้ถุนชั้นล่างได้ และใช้ระดับลด ๔๐ เซนติเมตร ไว้เป็นที่นั่งห้อยเท้า
การยกพื้นเรือนให้สูงขึ้นนั้น มีเหตุผลหลายประการ คือ
ก. เพื่อให้มีความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย หรือคนร้ายในเวลาค่ำคืน ภาคกลางของประเทศ อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง ฝนตกชุก มีต้นไม้ หนาทึบ เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น งูพิษ ตะขาบ แมงป่อง ถ้าบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ป่า ก็ต้องระวังสัตว์ป่าอีกด้วย ฉะนั้น การยกที่นอนให้สูงจากพื้นดินจึงเป็นการปลอดภัย
ข. เพื่อป้องกันน้ำท่วมถึง ในทุกภาคของประเทศจะเกิดน้ำท่วมเป็นบางเดือนเกือบทุกปี ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเกิดน้ำท่วม เพราะมีพายุฝนตกหนัก ส่วนภาคกลางนั้น น้ำท่วม เพราะน้ำเหนือไหลบ่าลงมา รวมทั้งน้ำทะเลขึ้นหนุน ประมาณเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคมเกือบทุกปี ถ้าเกิดน้ำท่วมก็จะได้ย้ายสิ่งของ และเครื่องใช้ต่างๆ จากใต้ถุน ขึ้นไว้บนเรือน
ค. ใช้ใต้ถุนเป็นที่เก็บของ และเครื่องใช้เกี่ยวกับการเกษตร เช่น เครื่องมือทำนาทำสวน เกวียน ไม้กระดาน เรือบด คันไถ กระทะเคี่ยว น้ำตาล เป็นต้น
ง. ใช้ใต้ถุนเป็นที่ประกอบอุตสาหกรรม ในครัวเรือน ได้แก่ ทำร่ม ทอผ้า ทอเสื่อ ปั่นฝ้าย ตำข้าว (ด้วยครกกระเดื่อง) และใช้เป็นที่พักผ่อน โดยตั้งแคร่นั่งเล่นในเวลากลางวัน ชาวบ้านบางแห่ง แบ่งส่วนใต้ถุนไว้เลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย ฯลฯ การเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุน จะทำให้สกปรก ส่งกลิ่นเหม็น และเกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก บางท้องที่แยกสัตว์ไว้ในคอกต่างหาก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเรือน แต่ไม่ควรอยู่เหนือลม (ทางทิศใต้) การเลี้ยงสัตว์ไว้ในคอกต่างหากนี้ ดีกว่าการเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุน นอกจากนี้ ยังใช้ใต้ถุนเป็นที่จัดงานประเพณีต่างๆ เช่น งาน ประเพณีสงกรานต์ ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีการจัดพื้นใต้ถุนตกแต่งอย่างสวยงามไว้เล่นสะบ้า ใต้ถุนยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมาก แต่ต้องเป็นฤดูที่น้ำไม่ท่วมถึง
การใช้ใต้ถุนเรือนเป็นสถานที่ประกอบอุตสาหกรรมในครอบครัว
๒. หลังคาทรงจั่วสูงชายคายื่นยาว หลังคาของเรือนไทยเป็น แบบทรงมนิลา ใช้ไม้ทำโครง และใช้จาก แฝก หรือกระเบื้องดินเผา เป็นวัสดุมุงหลังคา วัสดุเหล่านี้ต้องใช้วิธีมุงตามระดับองศาที่สูงชันมาก น้ำฝนจึงจะไหลได้เร็ว ไม่รั่ว การทำหลังคาทรงสูงนี้ มีผลช่วยบรรเทาความร้อน ที่จะถ่ายเทลงมายังส่วนล่าง ทำให้ที่พักอาศัย หลับนอนเย็นสบาย สำหรับเรือนครัวทั่วไป ตรงส่วนบนของหน้าจั่วทั้ง ๒ ด้าน ทำช่องระบายอากาศ โดยใช้ไม้ตีเว้นช่อง หรือทำเป็นรูปรัศมี พระอาทิตย์ เพื่อถ่ายเทควันไฟออกจากเรือนครัวได้สะดวก ได้กล่าวมาแล้วว่า ดินฟ้าอากาศของภาคกลาง แดดแรงจัด อุณหภูมิบางเดือนสูงถึง ๓๙.๙ องศาเซลเซียส ฝนชุก จึงจำเป็นต้องต่อเติม กันสาดให้ยื่นออกจากตัวเรือนมาก เพื่อกันแดดส่อง และฝนสาด
๓. ชานกว้าง เมื่อมองดูแปลนของเรือน ไทยทั่วไป จะเห็นพื้นที่ของชานกว้างมาก มีปริมาณถึงร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ทั้งหมด (ห้อง ระเบียง ชาน) ถ้ารวมพื้นที่ของระเบียงเข้าไปด้วยจะมีปริมาณถึงร้อยละ ๖๐ พื้นที่นี้เป็นส่วนอาศัยภายนอก ส่วนที่อาศัยหลับนอนมีฝากั้น เป็นห้อง มีเนื้อที่เพียงร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ทั้งหมด สาเหตุที่พื้นที่อยู่อาศัยภายนอกมีปริมาณมาก เพราะดินฟ้าอากาศร้อนอบอ้าวนั่นเอง
การตกแต่งบ้านด้วยต้นไม้
ชานเป็นส่วนสำคัญมากเท่ากับเรือนนอน และเรือนครัว การพักผ่อนในร่ม เราอาศัยเรือนนอน แต่การพักผ่อนภายนอกนั้น เราอาศัยชานและระเบียง ชานเป็นที่เปิดโล่งรับแสงแดด และอากาศบริสุทธิ์ ลมพัดผ่านได้สะดวก เหมาะสำหรับเป็นที่นั่งเล่นในเวลาเย็น และเวลาค่ำ อันแสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษ ของสถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้นได้ดี
ชานใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง คือ ใช้พักผ่อน นั่งเล่น และจัดงานประเพณี อันเกี่ยวเนื่องมาจากคตินิยมแต่เดิม เช่น โกนจุก ทำบุญ เลี้ยงพระ แต่งงาน นอกจากนี้ ชานยังมีหน้าที่เชื่อมเรือนนอน เรือนครัว และเรือนอื่นๆ เข้าด้วยกัน แต่เป็นการเชื่อมอย่างหลวมๆ เรือนหมู่กุฎิสงฆ์ หรือเรือนใหญ่คหบดี มักมีต้นไม้ใหญ่ ปลูกไว้กลางชาน ช่วยให้บรรยากาศร่มรื่น เย็นสบายขึ้น ทำให้อาคารกับธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ต้นไม้ที่ปลูก ได้แก่ ต้นจัน ต้นจำปี ต้นขนุน และต้นมะม่วง บางมุมของ ชานปลูกต้นไม้ประดับไว้ดูเล่น ได้แก่ บอนชนิด ต่างๆ ว่าน โกร๋น ตะโกดัด บัวใส่ตุ่ม นอกจากนั้นยังมีสัตว์เลี้ยงต่างๆ เลี้ยงไว้ในกรงแขวน และในภาชนะวางไว้ที่ชานด้วย เช่น นกเขา นกดุเหว่า นกขุนทอง นกสาลิกา ปลากัด และปลาเข็ม เป็นต้น ซึ่งให้ความสำราญ และความเพลิดเพลินแก่เจ้าของเรือนเป็นอย่างมาก