เรือนไทยเดิม และเรือนพื้นบ้านในชนบททั่วไป มิได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง ชาวบ้านได้สร้างบ้านปลูกเรือนรวมตัวกันขึ้น จนเป็นหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอต่างๆ ตามที่เราเห็นกันอยู่จนทุกวันนี้ บ้านเรือนที่ตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า หมู่บ้าน หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตามสภาพภูมิศาสตร์ มีลักษณะต่างๆ กันไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ภาคเหนือมีภูเขามาก ที่ราบน้อย อุดมไปด้วยแม่น้ำ ลำธาร ลำห้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภูเขา และที่ราบปนกัน แต่ขาดแคลนน้ำ ส่วนใหญ่แห้งแล้ง ต้องอาศัยแต่เฉพาะน้ำฝน ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย ภาคใต้มีภูเขา และที่ราบปนกัน แต่ฝนตกชุกตลอดปี สภาวะดังกล่าว เป็นผลผลักดันให้เกิดหมู่บ้านหลายๆ ลักษณะ ซึ่งจะกล่าวพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้ | |
| หมู่บ้านริมน้ำ ชาวบ้านที่มีอาชีพเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยในการผลิต เขาจึงสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่ รวมตัวกันตามริมแม่น้ำลำคลอง และขยายไปตามความยาวของลำน้ำนั้น ชาวบ้านในภาคกลางชอบเรียกหมู่บ้านเช่นนี้ว่า "บาง" และใช้เป็นคำขึ้นต้นของหมู่บ้านเหล่านี้เสมอ เช่น บางกอกน้อย บางหญ้าแพรก บางขุนเทียน บางขุนนนท์ บางปลาสร้อย ฯลฯ |
หมู่บ้านริมทาง หมู่บ้านริมทาง เกิดขึ้นจากการสัญจรไปมาของผู้คนที่ใช้ยานพาหนะทางบก ซึ่งจะมาหยุดพักตรงช่วงนั้น ชาวบ้านจะนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายตามชุมทางต่างๆ และสร้างบ้านเรือนขึ้น แล้วขยายไปตามความยาวของถนนจนเป็นแถวทั้งสองข้างทาง เช่น หมู่บ้านในจังหวัดลำปาง |
|
| หมู่บ้านดอน หมู่บ้านดอน เกิดขึ้นตามท้องไร่ท้องนา ที่อยู่ห่างจากลำน้ำ และริมทาง ชาวบ้านได้สร้างบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มบนพื้นที่ที่สูงกว่านาและไร่ มีสภาพคล้ายเกาะ เรียกว่า "ดอน" เช่น ดอนเจดีย์ ดอนกลาง ดอนมะนาว ฯลฯ |
| หมู่บ้านกระจัดกระจาย หมู่บ้านประเภทนี้มีสร้างอยู่ห่างกันอย่างโดดเดี่ยวเป็นหลังๆ ในที่นา สวน ไร่ และเชิงเขา มีทั้งแบบกระจัดกระจายเป็นกลุ่มหลวมๆ และกระจัดกระจายเป็นแถว แล้วแต่สภาพพื้นที่ |
หมู่บ้านริมสันเขา ท้องที่ใดมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นภูเขามากกว่าที่ราบ การทำไร่ทำนาต้องทำเป็นแบบทดน้ำ ระบบเหมืองฝาย หมู่บ้านที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องเกาะกลุ่ม เรียงรายอย่างเป็นระเบียบสอดคล้องไปตามสันเขา มีทั้งแบบเป็นกลุ่มและกระจัดกระจายเป็นแถว เช่น หมู่บ้านกองลอย ตำบล บ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ |
|
หมู่บ้านชาวประมง หมู่บ้านชาวประมงมีลักษณะเช่นเดียวกันกับหมู่บ้านริมน้ำ ชาวบ้านมีอาชีพเพาะเลี้ยง และจับสัตว์น้ำ จึงปลูกเรือนเป็นกลุ่มเรียงรายไปตาม ริมฝั่งทะเล ปากน้ำ หรือรอบๆ เกาะ มีลักษณะพัฒนาไปตามทางยาวริมหาด เช่น หมู่บ้านตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา หมู่บ้านชาวประมง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี หมู่บ้านบริเวณปากอ่าว ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี หมู่บ้านตำบลโกรกกราก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และหมู่บ้านเกาะปันหยี อ่าวปันหยี จังหวัดพังงา เป็นต้น |
|
หมู่บ้านต่างๆ หลายลักษณะที่กล่าวมานี้ แต่ละหมู่บ้านประกอบด้วยเรือนต่างๆ หลายประเภทรวมกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์จะอำนวยให้ ดังจะได้กล่าวต่อไปพอเป็นสังเขป |