องค์ประกอบของเรือนไทยภาคกลาง (ชนิดเรือนไม้จริงหรือเรือนเครื่องสับ)
ตัวเรือนไทยภาคกลางส่วนใหญ่ทำด้วย ไม้สัก เช่น โครงหลังคา ฝา พื้นห้องนอน พื้น ระเบียง ส่วนเสาและพื้นชานใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ไม้แดง เป็นต้น
เรือนประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ดังนี้
๑. งัว
ไม้ท่อนกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ใช้ไม้ทองหลางวางขวางกับปลายเสา ทำหน้าที่เป็นหมอนรองรับน้ำหนัก จากกงพัด ถ่ายลงดิน ลักษณะการทำงานเหมือนกับฐานราก ของอาคารปัจจุบัน เพื่อป้องกันเรือนทรุด
๒. กงพัด
คือ ไม้เหลี่ยมขนาด ๕ x ๑๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕๐-๗๐ เซนติเมตร สอดในรูซึ่งเจาะไว้ที่โคนเสาเรือน หรือจะใช้คู่ ตีขนาบขวางกับเสา โดยบากเสาให้เป็นบ่ารองรับ ยึดด้วยสลักไม้แสม เส้นผ่านศูนย์กลางสลัก ประมาณ ๒.๐๘๓ เซนติเมตร (๑ นิ้วไทย) ปลายทั้งสอง ของกงพัดวางอยู่บนงัว ทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนัก จากเสาลงสู่งัว
๓. แระ (ระแนะ)
คือ แผ่นไม้กลมแบน ขนานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๐-๕๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๕-๗ เซนติเมตร ทำด้วยไม้ ทองหลางวางที่ก้นหลุม ทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนัก จากเสาลงสู่พื้นดินเพื่อป้องกันเรือนทรุด
๔. เสาเรือน
คือ ไม้ท่อนกลมยาวตลอด ลำต้น โคนเสามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ปลายเสาประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ใช้ไม้เต็ง รัง มะค่า แดง เสาต่างๆ ที่จะนำมา เป็นเสาเรือน ต้องเป็นเสาที่ดี มีตาเสาอยู่ใน ตำแหน่งที่ถูกต้องถูกโฉลก การเจาะรูเสา เพื่อใส่รอดหรือใส่เต้าก็ต้องมีวิธีที่ถูกต้องในการวัด เพื่อที่จะได้ทำให้เจ้าของเรือนอยู่เย็นเป็นสุข
๔.๑ เสาหมอ คือ เสาที่ใช้รองรับ รอด รา และพื้นที่บางแห่งที่บริเวณนั้นทรุด หรือผุ มีขนาดเล็กกว่าเสาจริงเล็กน้อย และมีช่วง สั้น เสาหมอมีระยะความสูงจากพื้นดินถึงระดับ ใต้พื้น
๔.๒ เสานางเรียง คือ เสารองรับ หลังคากันสาดที่ยื่นออกมามาก ในกรณีที่ไม่ใช้ ไม้ค้ำยันก็ใช้เสานางเรียงแทน อยู่ทางด้านข้าง ของเสาเรือน
๔.๓ เสาเอก คือ เสาต้นแรกของเรือน ที่จะยกขึ้น ซึ่งเกี่ยวกับพิธีทางไสยศาสตร์ มีการ กำหนดฤกษ์ยาม ทิศทาง ตามแต่หมอจะเป็นผู้ ดูให้
๔.๔ เสาโท คือ เสาที่ยกขึ้นเป็นอันดับ ที่สองรองจากเสาเอก แต่การยกต้องเวียนไปทาง ขวามือเสมอ
๔.๕ เสาตรี (เสาพล) คือ เสาทั่วไป ที่นับเวียนขวาเลยเสาเอกและเสาโทไปแล้ว
๔.๖ เสาตอม่อ คือ เสาจากใต้ระดับพื้น ดิน ถึงระดับพื้นชาน เป็นเสาที่ไม่เลยจากพื้น ขึ้นไป
๕. รอด
คือ ไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ ๕ x ๒๐ - ๒๕ เซนติเมตรใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง รอดนี้ทำหน้าที่รองรับพื้น นั่งอยู่บนเสาที่ เจาะทะลุกึ่งกลางทั้ง ๒ ด้าน และยื่นเลยเสาออกไป ข้างละประมาณ ๒๐-๒๕ เซนติเมตร โครงสร้างสมัยปัจจุบันเรียกว่า คาน
๖. รา
คือ ไม้เหลี่ยมขนาด ๕ x ๒๐ - ๒๕ เซนติเมตร ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง ทำหน้าที่ เช่นเดียวกับรอด แต่แขวนอยู่กับพรึง ช่วยให้พื้นแข็ง ไม่ตกท้องช้าง (ตกท้องช้าง หมายถึง ลักษณะของสิ่งที่มีน้ำหนักมาก ถ่วงลงเกินควร
๗. ตง
คือ ไม้เหลี่ยมขนาด ๔x๕ เซนติเมตร ระยะห่างประมาณ ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร ใช้ไม้ เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง มะค่า แดง วางพาดระหว่างช่วงรอด ถ้าเรือนปูพื้นขวางและมีตงมักไม่ใช้รา เรือนบางหลังหาไม้พื้นยาวไม่ได้ ต้องใช้ไม้พื้น สั้นปูขวางกับตัวเรือน จึงจำเป็นต้องมีตงมารองรับ
๘. พรึง
คือ ไม้สักสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ ๕ x ๒๐ เซนติเมตร ทำหน้าที่รัดเสาส่วนที่ติด กับพื้นทั้งสี่ด้านด้วยตะปูจีน ให้อยู่ภายในขอบ เขตที่กำหนด และทำหน้าที่รับฝาตลอดทุกด้าน นอกจากนี้ พรึงยังนั่งอยู่บนปลายรอดทางด้าน ยาวของเรือน และทำหน้าที่รับน้ำหนักจากราอีกด้วย
๙. พื้น
ไม้สักเหลี่ยมแบนขนาดประมาณ ๕x๔๐, ๕x๔๕, ๕x๕๐ เซนติเมตร เรือนไทย นิยมใช้ไม้พื้นกว้างมากปูบนตงหรือบนรอด เพื่อเป็นที่พักผ่อนหลับนอน ระหว่างแผ่นต่อแผ่น ของพื้นมีเดือยไม้แสมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตร ตอกยึดพื้น ระยะห่างระหว่างเดือย ประมาณ ๑-๒ เมตร บางช่างใช้เดือยแบน ขนาด ๑ x ๒.๕ เซนติเมตร เรียกว่า ลิ้นกระบือ สำหรับพื้นที่ใช้ปูนอกชานนั้น ควรปูเว้นร่อง ให้น้ำไหลผ่าน ห่างประมาณ ๑ เซนติเมตร เพื่อ ป้องกันพื้นผุ
๑๐. ฝักมะขาม
คือ ไม้ทุกชนิดขนาด ๓.๕x๓.๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕ เซน- ติเมตร รูปร่างโค้งงอคล้ายฝักมะขามตอกติดกับเสา ใต้พื้นเรือน ทำหน้าที่รองรับแผ่นไม้พื้นที่ชนกับ เสาและขาดจากกัน ไม่มีส่วนของรอดรองรับ จึงใช้ฝักมะขามรับพื้นแผ่นนี้แทนรอด
ฝาสายบัว
๑๑. ฝา
คือ ผืนผนังที่ประกอบกันเข้าเป็น แผ่นจากชิ้นส่วนเล็กๆ ของไม้ หรือจากใบไม้ บางชนิด โดยมีโครงขอบฝาเป็นไม้จริง หรือ ไม้ไผ่ มีหน้าที่เป็นเสมือนเปลือกหุ้มที่ว่างภายใน ห้อง ทำให้เกิดขอบเขตขึ้น ฝาส่วนด้านสกัด (ด้านขื่อ) หัวท้าย เรียกฝาทั้งแผงว่า ฝาอุดหน้ากลอง หรือฝาหุ้มกลอง ส่วนฝากั้นห้องภาย ในระหว่างห้องนอกกับห้องโถง เรียกว่า ฝา ประจันห้อง จะเป็นฝาของห้อง ฝาของระเบียง หรือฝาของชานก็ดี เท่าที่สำรวจได้มีดังนี้ ฝา ปะกน ฝาปะกนกระดานดุน ฝาลูกฟัก ฝาลูกฟัก กระดานดุน ฝาสายบัว ฝาสายบัวกระดานดุน ฝาสำหรวด (ใบเตย) ฝากระแชงอ่อน ฝาขัดแตะ ฝากระดานเรียบ ฝาถังหรือฝาเฟี้ยม และฝาลำแพน
๑๒. กันสาด
คือ ส่วนหนึ่งของหลังคา ที่ยื่นออกไปโดยรอบ ลดระดับจากหลังคาลง มา และทำมุมน้อยกว่าหลังคา ประกอบด้วย จันทันกันสาด แป กลอน วัสดุมุงปลายจันทัน ข้างหนึ่ง ตอกยึดอยู่กับเต้าด้วยสลักไม้ (ค้างคาว) อีกข้างหนึ่งรองรับด้วยไม้ค้ำยัน หรือเสานางเรียง ทำหน้าที่กันแดดส่องและฝนสาด
๑๓. เต้า
คือ ไม้เหลี่ยมขนาด ๕x๑๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร โดย สอดทะลุเสา ห่างจากปลายเสาประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ทำหน้าที่ ๒ ประการ คือ ยื่นจาก เสาออกไปรับน้ำหนักเชิงชายและปลายของหลังคา และเป็นที่ยึดเกาะของจันทันกันสาด เต้าที่อยู่ตามมุมเรือนมี ๒ ตัว เรียกว่า เต้ารุม เต้าที่ไม่อยู่ตรงมุม และมีตัวเดียว เรียกว่า เต้าราย เต้าจะมีปลายข้างหนึ่งเล็ก โคนใหญ่ เมื่อสอดเต้าผ่านเสาที่เจาะรูพอดีกับเต้า เสาและเต้าจะได้ระดับ และแน่นพอดีกับระยะที่ต้องการ
๑๔. สลักเดือย
คือ ไม้สี่เหลี่ยมสอดทะลุ ระหว่างโคนเต้ากับจันทันกันสาด ทำหน้าที่ยึดเกาะ เต้ากับจันทันกันสาดให้ติดกัน มีขนาดประมาณ ๑.๕-๒x๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร สลักที่ยื่นเลยเต้าขึ้นไปเสียบด้วย เดือยไม้ขนาดประมาณ ๒ เซนติเมตร ยาวประ- มาณ ๑๐-๑๒ เซนติเมตร
๑๕. ค้างคาว
คือ ไม้เหลี่ยมกว้างประมาณ ๘x๑๐ เซนติเมตร เจาะช่องกลางกว้างกว่า ขนาดของจันทันกันสาดและเต้าเล็กน้อยให้ สามารถสอดผ่านได้ แล้วใช้ยึดด้วยเดือยไม้ขนาด ประมาณ ๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ทำหน้าที่เหมือนสลักเดือย
๑๖. หัวเทียน
คือ ส่วนหนึ่งที่อยู่ตรงปลายของเสา ควั่นเป็นแท่งกลมยาวประมาณ ๑๐-๑๑ เซนติเมตร (๕ นิ้วไทย) เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดปลายขื่อให้ติดกับเสา โดยเจาะแผ่นขื่อเป็นรูกว้างกว่าหัวเทียนพอสวม เข้าได้ ช่วยยึดหัวเสาทั้งสองข้าง
๑๗. ขื่อ
คือ ไม้สักแผ่นเหลี่ยมขนาด ๕ x ๒๐ เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดหัวเสาทั้งสอง เข้าหากัน และกันแรงถ่ายทอดจากจันทันที่ พยายามจะถีบหัวเสาออก เจาะรูที่ปลายทั้งสอง ของขื่อให้กว้างกว่าหัวเทียนเล็กน้อย และสวม ขื่อเข้ากับหัวเทียน
ชนิดที่ ๑ ขื่ออยู่กลางห้องมีขนาดเท่ากับ หัวเสา
ชนิดที่ ๒ ขื่ออยู่หัวท้ายของเรือนติดกับฝา หุ้มกลอง ขนาดใหญ่กว่าหัวเสาเท่ากับ ๕ x ๒๕ เซนติเมตร ปลายบนด้านนอกของขื่อนี้ปาดเฉียง ลง เพื่อรับกลอนปีกนก เรียกขื่อนี้ว่า ขื่อเพล่
ขื่อเพล่ยังมีหน้าที่ช่วยหยุดหรือจับฝาอุด หน้ากลองด้านบน ซึ่งฝาด้านยาวนั้น แปหัวเสา ทำหน้าที่ช่วยยึดอยู่
๑๘. ดั้ง
มี ๒ ชนิด
๑. ชนิดไม้เหลี่ยมแบนขนาดโคน ๕x๒๐ เซนติเมตร ปลาย ๕x๑๒ เซนติเมตร ยึดอกไก่กับขื่อ ปลายล่างของดั้งติดกับขื่อโดยเข้า เดือยเข็น เรียกว่า ดั้งแขวน
๒. ชนิดไม้กลมยาวคล้ายเสา มีเส้น ผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางรอด โดยบากอมรอดยาวถึงขื่อ เลย ขื่อเป็นชนิดแบน เรียกส่วนกลม ของดั้งนี้ว่า เสาดั้ง
๑๙. อกไก่
คือ ไม้สักเหลี่ยมรูปข้าวหลาม ตัด ยาวตลอดเรือนและยื่นหัวท้ายอีกข้างละ ประมาณ ๖๐-๗๕ เซนติเมตร มีหน้าที่ยึดหน้าจั่ว ดั้ง และจันทันตั้งอยู่บนยอดสุดของหลังคา และ ยังให้หลบหลังคานั่งทับ
๒๐. จันทัน
คือ ไม้เหลี่ยมแบนขนาด ๕x๒๕ เซนติเมตร แต่งรูปอ่อนช้อยตามแบบ อยู่ระหว่างสองข้างของสามเหลี่ยมโครงหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนัก ของหลังคา ที่ถ่ายทอดมา ยังกลอนและแป จันทันนี้ มีอยู่เฉพาะส่วนของ ห้องที่ไม่มีหน้าจั่ว และใช้กับดั้งแขวนเท่านั้น ส่วนห้องที่มีหน้าจั่วให้แผงหน้าจั่วรับน้ำหนัก จากหลังคาแทนจันทัน
๒๑. แป
เฉพาะเรือนไทยมี ๒ ชนิด ได้แก่
๑. แปหัวเสา คือ ไม้เหลี่ยมขนาด ประมาณ ๑๐x๑๐ เซนติเมตร ยาวตลอดหลังคา ทำหน้าที่ยึดหัวเสาระหว่างห้องกับห้องโดยการ วางทับบากอมกับขื่อ รับน้ำหนักจากกลอน แป หัวเสายังทำหน้าที่ยึดและรับน้ำหนักของแผง หน้าจั่ว ช่วยเป็นส่วนหยุดของฝาตอนบนด้าน ยาวของเรือน
๒. แปลาน คือ ไม้เหลี่ยมขนาด ๕x๑๐ เซนติเมตร พาดอยู่ระหว่างจันทันกับ แผงหน้าจั่วยาวตลอดเรือนเท่ากับอกไก่ ทำหน้าที่ รับน้ำหนักจากกลอนถ่ายสู่จันทัน
๒๒. กลอน
คือ ไม้เหลี่ยมแบนขนาด ๑.๕x๗.๕ เซนติเมตร วางขวางพาดอยู่กับแป ระยะห่างระหว่างกลอนกับกลอนประมาณ ๔๐ เซนติเมตร กลอนมีหลายชนิด ได้แก่
๑. กลอนสำหรับหลังคาจาก เป็น กลอนเรียบเจาะรูข้างหนึ่ง ระยะห่างของรูประมาณ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับใช้ตอกร้อยมัดกับจาก ติดกับแปด้วยการตอกสลับกับไม้แสม ปลาย ด้านบนขวาเข้าเดือยหางเหยี่ยวติดกับอกไก่ ปลายด้านล่างตอกติดกับตะพานหนู
๒. กลอนสำหรับหลังคามุงกระเบื้อง เรียกว่า กลอนขอ เป็นรูปหยักบากเพื่อให้ระแนง วางทับ ระยะห่างของช่วงบากประมาณ ๑๐-๑๒ เซนติเมตร มีทั้งแบบบากทุกช่วงกับแบบบาก ๑ ช่วง เว้น ๑ ช่วงสลับกันไป
กลอนขอนี้ตอกติดกับแปโดยตะปู เหลี่ยมแบน แต่ไม่ตอกทุกช่วง ตอกเป็นจังหวะห่างๆ
๒๓. ระแนง
คือ ไม้เหลี่ยมขนาด ๒.๕x ๒.๕ เซนติเมตร วางตามยาวของหลังคา ขนาน กับอกไก่ ใช้สำหรับหลังคาเรือนที่มุงด้วย กระเบื้อง ระยะห่างของระแนงประมาณ ๑๐- ๑๒ เซนติเมตร วางบนกลอนขอทำหน้าที่รองรับ กระเบื้อง และถ่ายน้ำหนักลงยังกลอน ติดกับ กลอนโดยใช้หลักไม้แสม
๒๔. เชิงชาย
คือ ไม้เหลี่ยมขนาด ๕x๒๐ เซนติเมตร ติดอยู่ที่ปลายเต้า ยาวรอบชายคา ทำหน้าที่รับตะพานหนู และรับน้ำหนักทั้งหมด จากปลายกลอน
๒๕. ตะพานหนู
คือ ไม้เหลี่ยมแบนขนาด ๑.๕x๗.๕ เซนติเมตร ติดอยู่ด้านบนของเชิงชาย และยึดปลายกลอน ใช้ช่วยรับส่วนยื่นของ กระเบื้องหรือจากให้พ้นแนวของเชิงชาย ทำให้น้ำฝนไหลพุ่งออกไปด้านนอก ช่วยทำให้ เชิงชายไม่ผุกร่อนได้ง่าย
เหงาปั้นลม
๒๖. ปั้นลม
คือ แผ่นไม้แบนขนาดหนา ๒.๕ - ๓ เซนติเมตร ติดอยู่บนปลายแปหัวเสา แปลาน อกไก่ มีหน้าที่ปิดชายคาด้านสกัดหัวท้าย เพื่อป้องกันลมตีจากหรือกระเบื้อง ส่วนล่างของปั้นลม แต่งรูปเป็นแบบตัวเหงา เรียกว่า เหงาปั้นลม หรือแต่งเป็นรูปหางปลา การติดใช้ตะปูตอก จากใต้แปให้ทะลุไปติดปั้นลม
๒๗. หน้าจั่ว
คือ แผงไม้รูปสามเหลี่ยม สร้างขึ้นจากองค์ประกอบของชิ้นไม้ในลักษณะ ต่างๆ ใช้ประกบปิดตรงส่วนที่เป็นโพรงของ หลังคาทางด้านสกัดหรือด้านขื่อของเรือน เพื่อ ป้องกันลม แดด และฝน หน้าจั่วที่นิยมทำมีดังนี้
ก. จั่วลูกฟัก หรือจั่วพรหมพักตร์ แบ่งหน้าจั่วโดยมีแนวนอนและแนวตั้งสลับกัน คล้ายฝาปะกน แต่ขนาดใหญ่กว่า และขยายส่วน ไปตามแนวนอน
ข. จั่วรูปพระอาทิตย์ มีรูปลักษณะคล้าย พระอาทิตย์ครึ่งดวง เส้นรัศมีพระอาทิตย์ทำด้วย ไม้แบน และเว้นช่องให้อากาศถ่ายเท นิยมใช้ กับจั่วเรือนครัวไฟ
ค. จั่วใบปรือ จั่วชนิดนี้มีตัวแผง ประกอบด้วยแผ่นไม้ขนาดเล็กเรียงซ้อนทาง แนวนอน นิยมใช้กับเรือนนอน และเรือนครัวไฟ ถ้าเป็นเรือนครัวไฟ ส่วนบนต้องเว้นช่องให้ อากาศถ่ายเทได้
๒๘. หลังคา
คือ ชิ้นส่วนที่เป็นผืน ทำหน้าที่กันแดดและฝนให้กับตัวเรือน ใช้วัสดุ ได้หลายอย่างประกอบกันเข้า (มุง) ซึ่งแล้วแต่ความพอใจ และความสะดวกของเจ้าของ วัสดุที่ใช้มุง ได้แก่
ก. กระเบื้อง มีหลายแบบและหลาย ขนาด ทำจากดินเผาสุก เรียกชื่อตามลักษณะ ของรูปร่าง เช่น กระเบื้อหางมน กระเบื้องหางตัด กระเบื้องขอ ความหนาประมาณ ๐.๐๕-๐.๐๘ เซนติเมตร เป็นชนิดตัวผู้และตัวเมีย
ข. จาก ทำจากใบต้นจาก แผ่และจัด เข้าเป็นตับ โดยมีไม้ไผ่เหลาเป็นแกน
ค. แฝก
ง. หญ้าคา
วัสดุดังกล่าวนี้ หาได้ง่ายโดยมีอยู่ใน ท้องถิ่น ถ้ามุงด้วยกระเบื้องจะดูดซึมความ ร้อนมากกว่ามุงด้วยจากและแฝก
หลังคากระเบื้อง
เรือนที่มุงด้วยกระเบื้อง จาก หรือแฝก ส่วนบนสุดของหลังคา คือ ส่วนสันอกไก่นั้นจะมี รอยร่อง จำเป็นต้องมีชิ้นส่วนปิดรอยนี้เพื่อกัน น้ำฝนรั่ว
ถ้ามุงด้วยกระเบื้องใช้กระเบื้องครอบ เป็นส่วนปิด ถ้ามุงด้วยจากหรือแฝก ใช้หลบจาก หรือหลบแฝก เป็นส่วนครอบ ส่วนนี้จะทำเป็น พิเศษเพื่อกันน้ำฝนรั่วไหลเข้า
๒๙. ไขรา
คือ ส่วนของหลังคาที่ยื่นมา จากฝาหรือจากหน้าจั่วออกไป อยู่ตรงกันสาด ที่ยื่นจากฝา เรียกว่า ไขรากันสาด อยู่ตรงหน้าจั่ว เรียกว่า ไขราหน้าจั่ว อยู่ตรงปีกนก เรียกว่า ไขราปีกนก
๓๐. คอสอง
คือ ส่วนบนของฝา ระยะ ต่ำจากแปหัวเสาหรือขื่อลงมาประมาณ ๕๐ เซนติเมตร (๑ ศอก) เป็นช่องลูกฟักสี่เหลี่ยมโดย รอบของเรือน
๓๑. ร่องตีนช้าง
คือ ส่วนล่างของฝา ระหว่างบนพรึงถึงกรอบเช็ดหน้า (ใต้หน้าต่าง) เป็นช่องลูกฟักสี่เหลี่ยมคล้ายคอสอง ระยะของ ร่องตีนช้างประมาณ ๔๓.๗๔๓ เซนติเมตร (๑ คืบ ๙ นิ้ว) มีรอบตัวเรือน
ช่องแมวลอด
(แผ่นไม้ตีเว้นช่อง เบื้องหลังพระภิกษุ)
๓๒. ช่องแมวลอด
คือ ช่องว่างระหว่างพื้นห้องนอนกับพื้นระเบียง หรือช่องว่างระหว่างพื้นระเบียงกับพื้นชาน ระยะประมาณ ๔๐ เซนติเมตร มีความยาวตลอดตัวเรือน มีประโยชน์ เพื่อเป็นที่ให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุน ขึ้นบนเรือน และเป็นที่ทำให้อากาศภายในไหลผ่านช่องนี้ได้ เกิดความรู้สึกโล่งโปร่ง ใช้ไม้ขนาด ๑.๕x๗.๕ เซนติเมตร ตีอันเว้นอันปิดช่องเพื่อกันสิ่งของตก
๓๓. ประตูห้อง
คือ ทางเข้าออกระหว่าง ห้องนอน ห้องครัว กับระเบียง ความกว้าง เท่ากับ ๓ ฝ่าเท้าของเจ้าของเรือน ประตูนี้ส่วน ล่างกว้าง ส่วนบนสอบเล็กกว่า ความเอียงสัมพันธ์ กับส่วนล้มสอบของฝาเรือน ประกอบด้วย กรอบ เช็ดหน้า บานประตู และเดือย ธรณีประตู และ คานคู่
๓๔. ประตูรั้วชาน
คือ ทางเข้าออกระหว่าง ชานกับบริเวณบ้านโดยมีบันไดเป็นตัวกลาง มี ความกว้างเท่ากับ ๔ ฝ่าเท้าของเจ้าของเรือน ลักษณะและส่วนประกอบเหมือนประตูห้อง แต่มีซุ้มหลังคาข้างบน เพื่อกันฝนสาดทำให้บาน ประตูผุ และเน้นทางขึ้น ให้มีความสำคัญ และน่าดูยิ่งขึ้น
๓๕. หน้าต่าง
คือ ส่วนประกอบของฝา เรือนที่ทำติดเป็นส่วนเดียวกัน แต่เป็นช่อง เจาะให้แสงสว่าง อากาศ และลมผ่านเข้าได้ รวมทั้ง เป็นช่องให้สายตาของผู้อยู่ภายในห้อง มองผ่านออกไปภายนอก ช่องนี้สามารถควบคุม การปิดเปิดได้โดยตัวบาน ซึ่งทั้งหมดประกอบ ด้วย
ก. กรอบเช็ดหน้า หมายถึง วงขอบ รอบนอกของบาน (วงกบ) เป็นไม้เหลี่ยมแบน ขนาดประมาณ ๓.๕-๕ x ๑๒.๕ เซนติเมตร วางประกอบตามส่วนแบน ทำมุม ๔๕ องศา เซาะร่องบัวประดับ ส่วนล่างกว้างกว่าส่วนบน ล้มสอบตามแนวของฝาเป็นหลัก
ข. ตัวบาน ใช้แผ่นไม้หนาประมาณ ๓ เซนติเมตร แบ่งเป็น ๒ แผ่นต่อ ๑ บาน มุม สุดบนและล่างมีเดือยเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓ เซนติเมตร ยาว ๒.๕ เซนติเมตร (แบบเดือยไม่ทะลุ) และ ยาว ๖ เซนติเมตร (แบบเดือยทะลุ) สอดใส่ในรูของธรณีหน้าต่าง แทนบานพับ
ค. ธรณีหน้าต่าง ใช้ไม้เหลี่ยมขนาด หนา ๓.๕ - ๕ x ๑๐ เซนติเมตร ยาวตลอด ความกว้างของหน้าต่าง และเลยออกไปข้างละ ๑๐ เซนติเมตร ติดกับฝาด้วยตะปูจีน หรือลิ่ม ไม้แสม (ขนาดลิ่มไม้เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕ เซนติเมตร)
หย่อง
ง. หย่อง เป็นแผงไม้ที่ติดอยู่ตรงส่วน ล่างของช่องหน้าต่าง แกะเป็นลวดลายหรือ ฉลุโปร่ง หนาประมาณ ๒ เซนติเมตร สูง ๒๐ - ๒๕ เซนติเมตร
จ. อกเลา คือ ไม้เหลี่ยมสันทาบอยู่ที่ บานประตูหรือหน้าต่าง เฉพาะของหน้าต่าง ใช้ขนาด ๓ x ๕ เซนติเมตร ยาวตลอดบาน ทาบ ติดอยู่กับบานหน้าต่างบานหนึ่ง เพื่อบังช่องที่บาน หน้าต่างทั้งสองบานมาประกับกัน
ฉ. คานเดี่ยว ทำหน้าที่เป็นกลอนติด อยู่ส่วนกลางของบานหน้าต่าง เป็นไม้เหลี่ยม ขนาด ๓ x ๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มีไม้รัดทาบกับตัวบานข้างละอัน
ช. กบ เป็นกลอนของหน้าต่างเช่นกัน แต่ติดอยู่ส่วนล่าง เป็นไม้แบนขนาดหนา ๑x๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑๐ เซนติเมตร เจาะตัว ธรณีประตูให้เป็นร่อง เมื่อปิดบานสนิทแล้ว จึงใส่กบลงไป
บันได
๓๖. บันได
ส่วนประกอบของบันได คือ ลูกขั้นตามแนวนอน กับแม่บันไดตามแนวตั้ง ใช้สำหรับขึ้นจากพื้นดิน ไปสู่ชาน บันไดแบบเดิมวางพาดกับพื้นและขอบพรึง ทำชักขึ้นเก็บบนนอกชานได้เมื่อเวลาค่ำคืน เพราะช่วยให้เกิดความปลอดภัยได้บ้าง จากสัตว์ร้ายหรือขโมย ลูกขั้นกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ เซนติเมตร แม่บันไดมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หรือไม้เหลี่ยมลูกขั้นขนาด ๓.๕ x ๗.๕ เซนติเมตร แม่บันไดขนาด ๕ x ๑๐ เซนติเมตร เจาะทะลุสอดเข้าเป็นขั้นๆ ระยะ ห่างพอก้าวขึ้นสะดวก
ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น หรือบ้านตั้งอยู่ ในที่ชุมชน ห่างไกลจากสัตว์ป่า จึงทำบันไดแบบ ติดกับที่ เป็นชนิดแข็งแรง และขึ้นลงได้สะดวกกว่าแบบเก่า มีลักษณะเป็นแผ่นไม้แบนขนาด ประมาณ ๓.๕ - ๕ x ๒๐ เซนติเมตร แม่บันได ขนาด ๕ x ๒๐ เซนติเมตร