เรือนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนกว้างใหญ่ ประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ ถึง๑๗ จังหวัด ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทางเกษตรกรรม เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ อาชีพหลัก ได้แก่ การทำนาข้าวเหนียว นอกจากนั้นประกอบอาชีพปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง ปอ และเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้แรงงาน ตลอดจนเลี้ยงไว้บริโภค อาชีพเหล่านี้ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวย จึงจะส่งผลดี แต่สภาพภูมิประเทศภาคนี้เป็นที่ราบแบบลูกคลื่น พื้นดินเป็นดินปนทรายน้ำซึมได้ง่าย จึงทำให้บริเวณแถบนี้แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก และบริโภค ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ สภาพของบ้านเรือนมีลักษณะเป็นไปตามผลผลักดันทางด้านภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจโดยตรง รวมทั้งคติความเชื่อต่างๆ ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ลักษณะการจัดผังของหมู่บ้าน ลักษณะจัดผังของหมู่บ้านดั้งเดิมนั้น ตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจาย ต่อมาบรรดาครอบครัวต่างๆ ได้รวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่น ตั้งแต่ ๑๐๐-๔๐๐ หลังคาเรือน ในเนื้อที่ประมาณ ๘๐-๑๐๐ ไร่ มีการตัดถนนตามแนวกว้างและยาว โดยแบ่งเนื้อที่ภายในออกเป็นหลายๆ หมู่ ลักษณะหมู่ หรือกลุ่มหนึ่งๆ เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "คุ้ม" และมีชื่อเรียกว่าคุ้มต่างๆ กันออกไป เพื่อสะดวกในการติดต่อ ในหมู่บ้านประกอบด้วย วัด โรงเรียน โรงสี ศาลประจำหมู่บ้าน (ตั้งอยู่ริมถนน ที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน) และอ่างเก็บน้ำ การปลูกเรือนภายในคุ้มแต่ละหลัง จะวางเยื้องไปมา และกระจัดกระจายอย่างไม่เป็นระเบียบ โดยไม่มีแนวแกนเป็นศูนย์กลาง อาคารแต่ละหลังวางสันหลังคาตามแนวทิศตะวันออก และตะวันตกเสมอ ระยะห่างของแต่ละหลังไม่แน่นอน ประมาณ ๓-๔ เมตร ไม่นิยมกั้นรั้ว เรือนแต่ละหลังจะมียุ้งข้าวของตนเอง ห่างจากตัวเรือนประมาณ ๑-๔ เมตร ส่วนใหญ่จะวางแนวขนานกับตัวเรือนด้านทิศเหนือ หรือทิศใต้ ลักษณะทั่วไปของเรือน เป็นเรือนประเภทครอบครัวเดี่ยว แปลนพื้นเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ประกอบด้วยเรือนนอน เฉลียง ชาน ครัว และร้านน้ำ บางหลังจะมีเรือนโข่งเพิ่มขึ้นอีก ๑ หลัง (เรือนโข่ง คือ เรือนโถง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเรือนนอน) เรือนส่วนใหญ่เปิดโล่ง เนื้อที่ที่ใช้กั้นห้องเป็นสัดส่วนมีน้อย ไม่อาจแยกเป็นห้องๆ อย่างชัดเจนได้ ประเภทของเรือน ตามลักษณะที่ปรากฏทางรูปทรง และผังพื้นนั้น อาจแยกได้เป็น ๔ ประเภท ดังนี้ ๑. เรือนทรงจั่วแฝดแบบดั้งเดิม ๒. เรือนที่มีเรือนโข่ง (เรือนโถงมีฝา ๓ ด้าน) ๓. เรือนที่ไม่มีเรือนโข่ง ๔. เรือนชั่วคราว ๑. เรือนทรงจั่วแฝดแบบดั้งเดิม เป็นเรือนที่มีอายุเก่าแก่กว่าเรือนประเภทอื่นๆ ชิ้นส่วนบางแห่งทรุดโทรม เจ้าของซ่อมแซมใหม่ ทำให้ลักษณะผิดไปจากเดิมบ้าง เรือนประเภทนี้มีจำนวนน้อย หมู่บ้านใหญ่ๆ เหลือประมาณ ๑-๕ หลัง อาจแยกลักษณะของเรือนทรงจั่วแฝดแบบดั้งเดิมได้ ดังนี้ ก. หลังคาทรงจั่วสูงกว่าเรือนประเภทอื่นๆ ข. เป็นเรือนแฝด ชายคาของเรือนนอนและเรือนโข่งมาจรดกัน ไม่มีระเบียง ค. เดิมมุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ ง. สร้างด้วยไม้จริง จ. มีช่องรางน้ำระหว่างหลังคาเรือนแฝด ฉ. ฝาส่วนใหญ่ใช้ไม้จริง มีฝาจักสานเป็นส่วนน้อย ช. มีบันไดขึ้นลง ๒ ทาง ซ. เป็นเรือนถาวร เจ้าของเรือนมีฐานะดี ๒. เรือนที่มีเรือนโข่ง (เรือนระเบียง) เรือนโข่งเป็นเรือนที่สร้างขึ้นภายหลัง เรือนที่มีเรือนโข่งนี้ หลังคาทรงจั่วต่ำกว่าประเภทแรกครึ่งหนึ่ง มุงด้วยสังกะสีแทนกระเบื้องไม้ ซึ่งหายาก มีลักษณะดังนี้ ก. ความสูงของจั่วลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของเรือนประเภทแรก ข. มีเรือนโข่ง ค. มุงหลังคาด้วยสังกะสี (ปัจจุบัน) ง. โครงสร้างส่วนใหญ่ใช้ไม้จริง จ. ฝาไม้ไผ่สานลายคุบ ฉ. มีระเบียงเป็นตัวเชื่อมเรือนนอน และเรือนโข่ง ช. มีบันไดขึ้นลงทางเดียว ซ. เป็นเรือนชนิดถาวร เจ้าของเรือนมีฐานะปานกลาง | |
เรือนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเภทต่างๆ | |
๓. เรือนที่ไม่มีเรือนโข่ง เป็นเรือนที่มีมากกว่าเรือนประเภทอื่นๆ ประกอบด้วยเรือนนอน ระเบียง ชาน ครัว ร้านน้ำ และไม่มีเรือนโข่ง มีลักษณะดังนี้ ก. หลังคาทรงจั่วต่ำ ข. ไม่มีเรือนโข่ง ค. หลังคามุงด้วยสังกะสี (ปัจจุบัน) ง. โครงสร้างส่วนใหญ่ทำด้วยไม้จริง จ. มีระเบียงต่อจากเรือนนอนเชื่อมกับส่วนอื่นๆ ฉ. ฝาส่วนใหญ่เป็นฝาไม้ไผ่สานลายคุบ ช. มีบันไดขึ้นลงทางเดียว ซ. เจ้าของเรือนมีฐานะปานกลาง ๔. เรือนชั่วคราว เป็นเรือนที่สร้างขึ้น เพื่ออาศัยอยู่ชั่วคราว สำหรับผู้ที่ออกเรือนใหม่ มีทั้งชนิดต่อเติมจากยุ้งข้าว และชนิดสร้างขึ้นใหม่ เมื่อมีฐานะดีขึ้นจึงจะสร้างเรือนถาวรต่อไป เรือนชั่วคราวนี้เป็นเรือนที่มีห้องเดียว สร้างเป็นเพิงต่อจากยุ้งข้าว หรือสร้างขึ้นใหม่ด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น แฝก ใบตองตึง และไม้ไผ่ เป็นต้น | |
ยุ้งข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | ยุ้งข้าว มีลักษณะคล้ายยุ้งข้าวในภาคกลางบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีหรือสุพรรณบุรี โครงสร้างของยุ้งข้าว ใช้ระบบเสาและคาน เช่น ยุ้ง ใช้เสาง่าม เพื่อให้ง่ามเสารองรับคาน (รอด) ลักษณะของยุ้งบางหลังล้มสอบเข้า ฝายุ้งกรุด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ ทาด้วยดินเหนียวผสมขี้ควายเช่นเดียวกับภาคกลาง |
พื้นของยุ้งปูด้วยไม้กระดาน บางหลังปูด้วยฟาก (ไม้ไผ่) ทุบเรียบ รองรับด้วยตงไม้ ที่มีระยะถี่ๆ ความสูงของพื้นมี ๒ ระดับ ก. ยกใต้ถุนสูงพ้นศีรษะ ข. ยกใต้ถุนสูงประมาณ ๑ เมตร |