เล่มที่ 13
เรือนไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เรือนไทยภาคเหนือ

            เรือนไทยภาคเหนือ เป็นเรือนยกใต้ถุนสูง คล้ายเรือนไทยภาคกลาง แต่มีลักษณะอื่นๆ แตกต่างกันมาก เพราะดินฟ้าอากาศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ฤดูหนาวหนาวกว่าภาคกลางมาก ทำให้ลักษณะเฉพาะทางรูปทรงหลังคา และสัดส่วนของเรือนเตี้ยคลุ่มมากกว่า เจาะช่องหน้าต่างแคบๆ เล็กๆ กันลมหนาว การจัดกลุ่มอาคาร และการวางแปลนห้องต่างๆ มีความสมดุลแบบสองข้างไม่เหมือนกัน และเชื่อมต่อเรือนเหล่านั้นด้วยชานอย่างหลวมๆ เรือนทุกรูปแบบมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ และมีคุณค่าทางศิลปะด้านสถาปัตยกรรมอย่างดียิ่ง เราจะพบเรือนทางภาคเหนือ ในลักษณะใหญ่ๆ ได้ ๒ แบบ คือ เรือนไทยดั้งเดิมและเรือนพื้นบ้าน

เรือนไทยดั้งเดิม

            เป็นเรือนไทยยกใต้ถุน สูง หลังคาทรงจั่ว นิยมทำหลังคาแฝดติดกัน มีรางน้ำตรงกลาง ข้างบนสุดของหลังคา ทำไม้ไขว้แกะสลัก เรียกว่า "กาแล" เพื่อตกแต่งให้เกิดความงาม และเป็นคติความเชื่อถือเกี่ยวกับโชคลาง และการบูชา ลักษณะรูปทรงเป็นแบบฝาล้ม ผายออก เป็นศิลปะ และวัฒนธรรมแบบล้านนาไทยดั้งเดิม (ตรงข้ามกับเรือนไทยภาคกลาง ที่ฝาล้มสอบเข้า)
เรือนไทยดั้งเดิมภาคเหนือ
เรือนไทยดั้งเดิมภาคเหนือ
            เรือนมีรูปร่างลักษณะแบบแผนของแต่ละหลังแน่นอน และคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ จะแตกต่างกันบ้าง เช่น ขนาดของเรือน การวางครัว การจัดชาน แบบฝาแต่ละชนิด และการวางบันได รวมทั้งส่วนปลีกย่อยอื่นๆ เล็กน้อยเท่านั้น
            เรือนประเภทนี้ มีวิธีการก่อสร้าง และ ฝีมือช่างที่ละเอียดประณีต เป็นเรือนที่ถาวร และทนทาน มีอายุอยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปีขึ้นไป จะพบได้ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดเชียงใหม่ และในจังหวัดลำปาง เรือนประกอบด้วย อาคารอย่างน้อย ๒ หลัง หลังใหญ่ใช้เป็นที่หลับนอน มีห้องนอน และระเบียง (เติ๋น) ส่วนหลังเล็กใช้ทำเป็นครัวปรุงอาหาร เชื่อมเรือนทั้งสองด้วยชาน ด้านหนึ่งของชานเป็นบันได และร้านน้ำ (ร้านน้ำ คือ เรือนหลังเล็กๆ มีหลังคา อยู่ริมนอกชานชั้นบน ใช้สำหรับตั้งตุ่มน้ำดื่ม)

เรือนห้องนอนเดี่ยว

            เป็นเรือนครอบครัวเล็ก มีห้องนอน ๑ ห้อง มีทั้งแบบแยกครัว โดยใช้ทางเดินแคบๆ ผ่านกลาง (ฮ่อม) และแบบไม่แยกครัว ด้านหน้าเป็นระเบียงและชาน ริมสุดของชานจะมีร้านน้ำ และบันได ถ้าเรือนแยกครัว หลังคาครัวจะมีทั้งแผดกับเรือนนอน และแยกขวางกับเรือนนอน

เรือนห้องนอนสองห้อง

            เป็นเรือนครอบครัวใหญ่ มีห้องนอน ๒ ห้อง ด้านหน้าเป็นระเบียง แบ่งห้องนอนทั้งสองด้วยทางเดินแคบๆ ส่วนบนของทางเดินมีรางน้ำยาวตลอด เรียกส่วนนี้ว่า ฮ่อมริน หลังคาเรือนนอนเป็นหลังคาแฝด ครัวแยกออกต่างหากอีกหลังหนึ่ง มีขนาดเล็กกว่าเรือนนอน เชื่อมเรือนทุกหลังด้วยชานแบบหลวมๆ ส่วนด้านหนึ่งทำเป็นร้านน้ำ สำหรับตั้งตุ่มน้ำดื่ม มีหลังคาคลุม ปลายสุดของชานเป็นบันได

            โดยทั่วไปแล้ว เรือนมักจะหันหน้าไปทางทิศใต้ เพื่อรับลมฤดูร้อน ส่วนบันไดตั้งอยู่ทางด้านหน้า หรือด้านข้างของตัวเรือน ถ้าอยู่ด้านข้าง จะถอยบันไดเข้าไป ๑ ช่วงเสา ตั้งอยู่ใต้ชายคา ไม่นิยมหันบันไดลงทางทิศตะวันตก

เรือนครัวส่วนมากตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เพื่อช่วยกันความร้อนในตอนบ่าย สำหรับเรือนใหญ่จะมีบันไดอยู่หลังครัวอีก ๑ บันได

            โครงสร้างทั่วไปจะใช้ไม้จริง เช่น ไม้เต็ง รัง สัก และตะเคียน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และใช้ระบบเสาและคาน ลักษณะเสาเป็นเสากลม หรือแปดเหลี่ยม เมื่อการก่อสร้างเจริญก้าวหน้า ได้มีการทำแบบสำเร็จรูปเป็นบางส่วน เช่น ฝาผนัง จั่ว และบันได เป็นต้น ด้านหน้า หรือด้านข้างของเรือนนอน นิยมปลูกยุ้งข้าวไว้ ๑ หลัง มีลักษณะเป็นเสากลม หรือแปดเหลี่ยม พื้นยกสูงพอพ้นศีรษะ มีคานไม้ยื่นออกมาโดยรอบ หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้อง ใช้ฝาไม้จริงปิดทึบโดยรอบไว้ สำหรับเก็บข้าวเปลือก เกือบทุกบ้าน จะขุดบ่อน้ำไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อใช้บริโภค และอุปโภค อาจจะมีลักษณะกลมหรือสี่เหลี่ยมก็ได้

เรือนพื้นบ้าน

เรือนพื้นบ้าน แบ่งออกเป็นเรือนชั่วคราวและเรือนถาวร
            เรือนชั่วคราว หรือเรือนเครื่องผูก ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ตูบ" หมายถึง เรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ ใช้เสาไม้ไผ่ พื้นทำด้วยไม้สาน หรือฟากสับ ฝาทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หรือแผงไม้ซางสานเป็นลายต่างๆ เช่น ลายอำ โครงหลังคาก็ทำด้วยไม้ไผ่เช่นกัน การยึดโครงสร้างต่างๆ คล้ายเรือนพื้นบ้านภาคกลาง เรียกว่า เรือนเครื่องผูก ใช้วิธีเจาะรู และฝังเดือย ผูกด้วยตอกหรือหวาย หลังคามุงด้วยหญ้าคา หรือใบตองตึง มีห้องนอน ๑ ห้อง ไม่แยกเรือนครัวออกจากเรือนนอน ใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว เช่น กระต๊อบเฝ้าทุ่ง หรือสร้างเป็นเรือนชั่วคราว สำหรับครอบครัวหนึ่งๆ ก่อนที่จะสร้างเรือนถาวรขึ้นภายหลังการต่อชิ้นส่วนของเรือนเครื่องผูก
การต่อชิ้นส่วนของเรือนเครื่องผูก
เรือนถาวรหรือเรือนไม้จริง

            เรือนถาวร หรือเรือนไม้จริง เป็นเรือนที่พัฒนาขึ้นมาจากเรือนแบบชั่วคราว รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากเรือนจั่วกาแลที่มีแบบแผน ฉะนั้น ลักษณะทั่วไปจึงดูเหมือนเรือนลูกผสม โดยยกใต้ถุนสูงประมาณ ๑.๕-๒ เมตร เสาและพื้นส่วนใหญ่ใช้ไม้เบญจพรรณชนิดถาก แต่งรูปไม่ค่อยเรียบร้อย หลังคาทรงจั่ว ด้านหน้ามีกันสาด คล้ายหลังคาเรือนชาวเขา ยื่นส่วนหนึ่งของกันสาดออกมาคลุมบันได โดยใช้เสา ๒ ต้นรับ โครงสร้างหลังคามีทั้งไม้จริงมุงด้วยกระเบื้องดินเผา และโครงไม้ไผ่มุงด้วยใบตองตึง หลังคามุงด้วยใบตองตึง มีเป็นจำนวนมาก ฝาผนังใช้ไม้สานเป็นแบบลำแพน ลายอำ ลายตาล ไม้ไผ่ขัดแตะ ไม้ซางทุบเรียบ หรือใช้ไม้จริงตีนอน เป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นใกล้เคียง และราคาถูก
เรือนไม้ถาวรพื้นบ้าน
เรือนไม้ถาวรพื้นบ้าน
            ตัวเรือน ประกอบด้วยห้องนอน เป็นห้องสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ด้านในสุดของเรือน ปิดด้วยฝาสี่ด้าน ส่วนบนเว้นช่องระบายอากาศ ไม่นิยมเจาะหน้าต่าง อาจมีบางหลังเจาะไว้เป็นช่องเล็กๆ บ้าง มีประตู ๑ บาน พื้นใช้ไม้จริงปูเรียบ
            ระเบียง อยู่ส่วนหน้าของห้องนอน เป็นส่วนที่กึ่งเปิดโล่ง ใช้เป็นที่นั่งเล่น รับแขก พักผ่อน และใช้เป็นที่นอนของแขกที่มาพัก หากมีลูกสาว ก็ให้ลูกสาวนอนในห้องนอน ส่วนพ่อแม่นั้นจะออกมานอนที่ระเบียงนี้ บางหลังมีระเบียงขนาดยาวเลยไปถึงหน้าห้องครัว ใช้ส่วนนี้เป็นที่รับประทานอาหาร พื้นเป็นไม้จริงเหมือนกับพื้นห้องนอน

            ชาน อยู่ส่วนหน้าสุดของตัวเรือน เป็นที่ เปิดโล่งมีรั้วโปร่งเตี้ยๆ สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตรกั้นโดยรอบ สำหรับไว้นั่งเล่นตอนเย็น ตากผลไม้ หรือตากผ้า พื้นชานใช้ไม้จริงตีเว้น ร่องโปร่ง เรือนพื้นบ้านแบบเรือนถาวรอาจจะ ไม่มีชานก็ได้

            ครัวไฟ อยู่ด้านหลังสุด ซีกด้านข้างกั้น ด้วยฝาเป็นบางส่วน ด้านบนทำช่องระบายควันไฟ มุมหนึ่งของห้องทำพื้นยกขอบใส่ดินเรียบเป็นที่วางเตาไฟ ที่ฝาผนังอาจทำชั้นไว้ของยื่นออกไปนอกตัวเรือนตรงส่วนบน

            บันได ถอยร่นเข้าไปในตัวเรือน ๑ ช่วงเสา หรือพาดขึ้นตรงด้านหน้าติดกับชาน ยื่นหลังคากันสาดออกมาคลุม ใช้ไม้จริงเข้าเดือย และตอกสลัก ไม่นิยมหันลงมาทางทิศตะวันตก ที่เชิงบันไดตั้งตุ่มดินใส่น้ำไว้ล้างเท้า

            ร้านน้ำ ต่อชั้นไม้ยื่นออกมา สูงจากระเบียงหรือชาน ๐.๘-๑ เมตร ตั้งอยู่ใกล้บันได เพื่อตั้งตุ่มดินใส่น้ำดื่ม