เรือนพื้นบ้านชาวประมง (ฝั่งทะเลตะวันตก)
สภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคใต้นั้น มีลักษณะเป็นภูเขา ที่ราบ และชายฝั่งทะเล ผู้อยู่อาศัยประกอบอาชีพหลายอย่าง เช่น ทำเหมืองแร่ ทำไร่ ทำนา ทำสวนยางพารา และทำประมง ลักษณะเรือนพักอาศัย ของผู้ที่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมคล้ายๆ กับเรือนพื้นบ้านภาคกลาง จะผิดกันแต่ส่วนปลีกย่อยเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนเรือนชาวประมงของภาคใต้ (ชาวเล) นั้นมีเป็นจำนวนมาก และมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนเรือนชาวประมงภาคกลาง เรียกว่า "เรือนชาวเล" ซึ่งปลูกสร้างเป็นกลุ่ม กระจัดกระจายทั่วไป ตามริมฝั่งทะเล ตามชายฝั่งในมหาสมุทรอินเดีย แถบอ่าวภูเก็ต และทะเลอันดามัน นับตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ สตูล เช่น หมู่บ้านเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เกาะลันตา เกาะจำ จังหวัดกระบี่ เกาะพีพี (บ้านลำปี) จังหวัดพังงา เกาะสิเหร่ หาดราไวน์ จังหวัดภูเก็ต
หมู่บ้านชาวเล จังหวัดยะลา
การรวมตัวกันขึ้นจนกลายเป็นหมู่บ้านนั้น กลุ่มหนึ่งมีประมาณ ๒๐-๔๐ หลังคาเรือน มีสภาพไม่แออัด ร่มรื่น เย็นสบาย ความเคยชินต่อการร่อนเร่อยู่ในทะเล ทำให้ชาวเลไม่พัฒนาที่พักอาศัย คงสร้างเป็นแบบเรือนพื้นบ้านชั่วคราว ประเภทเรือนเครื่องผูก
ชาวเลที่อยู่ใกล้ทะเลจะเลือกสร้างบ้านเรือนอยู่ในป่าไม้ ใกล้ชายฝั่งด้านใน สำหรับพวกที่อยู่ตามเกาะต่างๆ จะเลือกที่ตั้งอยู่ทางด้านหลัง ใช้ภูเขาเป็นที่กำบังลม พวกที่อยู่ลึกจากทะเล แต่ใกล้แม่น้ำ และลำคลอง จะเลือกที่ตั้งในดงป่าไม้ริมน้ำ ซึ่งสามารถหลบลมพายุที่พัดมาเป็นประจำได้
ลักษณะเรือนพื้นบ้านชาวประมง (ฝั่งทะเลตะวันตก)
เรือนพื้นบ้านชาวประมง (ฝั่งทะเลตะวันตก) เป็นเรือนพื้นบ้านแบบชั่วคราว ชนิดเรือนเครื่องผูก จะใช้วัสดุท้องถิ่นที่หามาได้ง่ายๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ไม้ไผ่ แฝก ใบไม้ กก ยึดเหนี่ยวโครงสร้างด้วยหวาย สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร มีเสา ๖ ต้น ช่วงกว้างของเรือนประมาณ ๓-๔ เมตร ยาวประมาณ ๕-๖ เมตร โครงหลังคาใช้ไม้ไผ่มุงด้วยแฝก ตัวเรือนหันด้านหน้าออกสู่ทะเล เรือนชาวเลแบบดั้งเดิมเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงโรง ไม่มีกันสาด บันไดขึ้นด้านหน้า หลังคาทรงจั่ว ต่อมา ได้พัฒนาโดยต่อเติมบางส่วน ของชายคาด้านข้างออกมา และต่อพื้นทำเป็นระเบียง ย้ายบันไดจากด้านจั่ว มาขึ้นด้านข้าง ซึ่งติดกับระเบียง พื้นระเบียงลดระดับต่ำกว่าพื้นห้องนอน โครงสร้างเริ่มเปลี่ยนมาใช้ไม้จริงเป็นบางอย่าง เช่น เสา คาน และตง ส่วนพื้นใช้ฟากและไม้กระดาน ฝาใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ โดยนำเอาไม้ไผ่ไปแช่น้ำทะเล กันมอดก่อน แล้วสานเป็นลำแพนลายสอง ผิวมันเรียบสีเหลือง มีการต่อบางส่วนทำเป็นครัวปรุงอาหาร ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่มี อาศัยพื้นที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ทำครัว
หมู่บ้านชาวเล จังหวัดนราธิวาส
สำหรับห้องส้วมที่ใช้ขับถ่ายในชีวิตประจำวันนั้น ชาวเลจะอาศัยถ่ายลงตามดงไม้ ไม่นิยมสร้างห้องส้วมไว้ในบ้าน