[จากภาพเขียนเมื่อคริศต์ศตวรรษที่ ๑๖ ของหอสมุดแห่งชาติเซียนา(Siena-Bibliothique Nationale)]
ต่อมาในสมัยจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเป็นนักการเมือง นักประวัติศาสตร์ และแม่ทัพผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และมีอำนาจ ปรากฏว่า ปฏิทินโรมันอยู่ในสภาพยุ่งเหยิง คลาดเคลื่อนกับฤดูกาลกว่าสองเดือน โดยการแนะนำ ของนักดาราศาสตร์กรีก-อียิปต์ ชื่อ โซซิเจเนส (So- sigenes) จูเลียส ซีซาร์จึงได้สั่งเปลี่ยนแปลงปฏิทิน ให้ปีที่ ๔๖ ก่อนคริสต์ศักราชมี ๔๔๕ วัน และเพิ่ม วัน ๒๓ วัน ที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มวัน ๖๗ วันระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม จึงนับเป็น ปีที่มีความสับสน นอกจากนี้ จูเลียส ซีซาร์ ยังสั่งให้ เพิ่มวันในเดือนกุมภาพันธ์ทุกสี่ปีให้เป็นปีที่ ๓๖๖ วัน ซึ่งเราเรียกกันว่า ปีอธิกสุรทิน ทั้งนี้เพื่อให้คงสภาพ ตามฤดูกาลไปได้นาน การเปลี่ยนตามเกณฑ์จะ เหมาะสมดี ถ้าปีตามศัพท์นิยามมี ๓๖๔.๒๕ วัน ซึ่งใน ๔ ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑ วันพอดี แต่ตามความ เป็นจริงปีหนึ่งนานน้อยกว่า ๓๖๕.๒๕ เกือบ .๐๐๘ ของวัน ดังนั้นในหนึ่งพันปี ปฏิทินจูเลียนจะคลาดเคลื่อนไปเกือบ ๘ วัน
ใน ค.ศ. ๑๕๘๒ ความคลาดเคลื่อนได้สะสมมากขึ้นเป็น ๑๓ วัน ภายหลังได้มีการประชุมปรึกษาเป็นเวลานานในหมู่นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักฟิสิกส์มีชื่อหลายคน สันตะปาปาเกรกอรีได้ สั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงการคิดเวลาปฏิทินใหม่ ให้นับ เวลาจุดตั้งต้นจักรราศีเมษเหมือนใน ค.ศ. ๓๒๕ แต่ ไม่ให้เปลี่ยนปฏิทินกลับไปถึงสมัยของจูเลียส ซีซาร์ ๔๕ ปีก่อนคริสต์ศักราช ดังนั้นจึงต้องตัดวันนับตาม ปฏิทินและกำหนดไม่ให้ปีศตวรรษซึ่งหารด้วย ๔๐๐ ไม่ได้ลงตัวเป็นปีอธิกสุรทิน เช่น ค.ศ.๒๐๐๐ เป็น ปีอธิกสุรทิน แต่ปี ๑๗๐๐, ๑๘๐๐ และ ๑๙๐๐ ไม่เป็น อธิกสุรทินใน ๔๐๐ ปี ปฏิทินจูเลียนมีปีอธิกสุรทิน ๑๐๐ ปี แต่ปฏิทินเกรกอเรียนมีปีอธิกสุรทินเพียง ๙๗ ปี ความคลาดเคลื่อนในปฏิทินเกรกอเรียนจะมีเพียง ภายใน ๑ วันใน ๓,๓๒๓ ปี
การเปลี่ยนแปลงไปใช้ปฏิทินเกรกอเรียน คงใช้กันในที่ซึ่งสันตะปาปามีอำนาจ ยังไม่ได้ใช้ที่อื่นทั่วไปพร้อมกัน อังกฤษ และอาณานิคม เริ่มใช้ในค.ศ. ๑๗๕๒ รุสเซีย กรีซ และประเทศอื่นๆ ซึ่งถือนิกาย ออร์ทอดอกซ์ (orthodox) ยังคงใช้ปฏิทินจูเลียนจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๓ และเขาใช้ระบบคำนวณปีอธิกสุรทิน ซึ่งแม่นยำดีกว่าที่ใช้ในปฏิทินเกรกอเรียน กล่าวคือ จะเป็นปีอธิกสุรทินก็ต่อเมื่อปีศตวรรษหารด้วย ๙ ได้เศษ ๒ หรือ ๖ เท่านั้น เฉลี่ยความนานของปีตามระบบนี้ ได้ค่าเฉลี่ยแล้ว ใกล้เคียงกับความนานของปี ภายใน ๓ วินาที ส่วนปีตามปฏิทินเกรกอเรียน เฉลี่ยแล้วมีความคลาดเคลื่อนประมาณ ๒๔ วินาที ปฏิทินระบบนิกายออร์ทอดอกซ์กับของเกรกอเรียน จะลงรอยกัน จนถึง ค.ศ. ๒๘๐๐ เวลานั้นจะมีความ ต่างกัน ๑ วัน ปีเกรกอเรียนเป็นปีอธิกสุรทิน แต่ปีในระบบของออร์ทอดอกซ์เป็นปีธรรมดา
ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ถือคริสต์ศาสนา ต่างก็มีปฏิทินของเขา เช่นปฏิทินของยิว และโมฮัมเมดาน (Mohammedan) ใช้หลักจากเดือนจันทรคติ และนับปีจากวันสำคัญทางประวัติศาสตร์
สำหรับประเทศไทย นับทางจันทรคติ ตั้งต้นปีใหม่ ที่เดือนห้า ขึ้นหนึ่งค่ำ และเรียงลำดับเดือนต่อไป เป็นเดือนหก เจ็ด แปด เก้า สิบ สิบเอ็ด สิบสอง แล้วติดตามด้วยเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม และ เดือนสี่ และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บัญญัติให้ใช้เดือน ทางสุริยคติตามแบบสากล จึงได้ใช้ชื่อทั้งสิบสอง ราศีมาตั้ง เช่น เมษายน หมายความว่า ดวงอาทิตย์ ได้มาอยู่ในราศีเมษ (มีรูปดาวนักษัตรประจำราศี เป็นรูปแกะ) และพฤษภาคม ดวงอาทิตย์ได้มาอยู่ ในราศีพฤษภ (รูปโค) เป็นต้น ลำดับต่อไปตาม นักษัตรประจำราศี ปีใหม่ตั้งต้นเดือนเมษายน
ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางราชการได้เปลี่ยนให้ใช้ปีใหม่ตั้งต้นด้วยเดือนมกราคม
เดือนและวันในสัปดาห์
ปฏิทินจูเลียนและปฏิทินเกรกอเรียน มีความผิดที่สำคัญมากอยู่สองประการคือ ความยาวของเดือน และระเบียบการตั้งชื่อไม่สมเหตุผล ความผิดนี้สืบมา จากจูเลียส ซีซาร์ ที่สั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงปฏิทิน โรมัน โดยได้เปลี่ยนแปลงการตั้งต้นปีจากเดือนมีนาคม มาเป็นเดือนมกราคม และสร้างระบบง่ายๆ ให้เดือน เลขคี่มี ๓๑ วัน และเดือนเลขคู่มี ๓๐ วัน เว้นแต่ เดือนที่สอง ซึ่งต้องมี ๓๐ วัน ในปีอธิกสุรทินเท่านั้น ส่วนปีอื่นให้มี ๒๙ วัน นอกจากนี้จูเลียส ซีซาร์ ยังทำให้เกิดความสับสนในเรื่องชื่อเดือน โดยใช้ชื่อ เดือนกรกฎาคม (Quintilis) ตามตัวเขา ชื่อเดือนนี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า July และให้คงใช้ชื่อเดือน กันยายน ซึ่งมีความหมายเป็นเดือนที่เจ็ด (Sextilis) เป็นเดือนที่เก้า
เมื่อออกัสตัส ซีซาร์ (Augustus Caesar) ได้เป็นผู้ครองกรุงโรมสืบต่อจากจูเลียส ซีซาร์ ได้เปลี่ยนใช้ชื่อเดือนที่เจ็ดตามชื่อของตน เรียกว่า เดือนสิงหาคม ให้มีจำนวนวันเท่ากับเดือนกรกฎาคมของจูเลียส ต้องหักอีกวันหนึ่งออกจากเดือนกุมภาพันธ์
กำเนิดของสัปดาห์ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่ชื่อของวัน ๗ วันใน ๑ สัปดาห์นั้น มีกำเนิดทางดาราศาสตร์แน่นอน
นักดาราศาสตร์โบราณได้ใช้ชื่อชั่วโมงของวัน ตามดาวพระเคราะห์ ๗ ดวง ซึ่งเขาเห็นเคลื่อนที่ไป ตามจักรราศี ลำดับตามระยะห่างจากโลก ตามที่ เขาคิดในครั้งนั้นคือ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัส ดาวอังคาร ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ ดาวพุธ และดวงจันทร์ แล้ว เขาให้ชื่อวันที่ตรงกับชั่วโมงที่หนึ่ง แต่เมื่อมีชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมงที่จะใช้ตั้งชื่อ ๗ ชื่อ เขาจึงใช้ชื่อทั้ง ๗ นั้นไปครบ ๓ รอบ คงเหลืออีก ๓ วันนับต่อไปตาม ลำดับครบ ๒๔ ชั่วโมง แล้วถึงชั่วโมงที่ ๒๕ จะเป็น ชื่อวันถัดไป ในที่นี้ตกเป็นวันอาทิตย์ นับลำดับ ต่อไปโดยทำนองเดียวกัน คงได้ชื่อวันลำดับเป็น วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์