ปฏิทินโลก
ปฏิทินซึ่งใช้กันเป็นทางการทั่วไปปัจจุบันนี้ง่าย และมีความละเอียดพอสำหรับความต้องการ แต่มีข้อสังเกตในความยาวของเดือนไม่เท่ากัน และจำนวนสัปดาห์ในเดือนหนึ่งๆ หรือในปีหนึ่ง ก็ไม่เป็นเลขเต็มหน่วย (นอกจากเดือนกุมภาพันธ์ในปีที่ไม่เป็นอธิกสุรทิน) จำนวนสัปดาห์ในปีหนึ่ง ก็ไม่เป็นเลขเต็มหน่วย ทุกปี และ ๑๑ เดือน ในจำนวน ๑๒เดือน วันตั้งต้นของสัปดาห์ต่างกันกับปี หรือเดือนที่ผ่านมาแล้ว
เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ มีผู้เสนอวิธีแก้ไข การแบ่งปฏิทินเกรกอเรียนหลายวิธี แต่ให้คงไว้ซึ่งวิธีอันละเอียดถูกต้องดีของปีอธิกสุรทิน ข้อเสนอต่างๆ ที่จะให้มี การแก้ปฏิทินซึ่งมีผู้เห็นชอบด้วยมากก็คือ ปฏิทินโลก (world calendar)
ปฏิทินนี้ เอลิซาเบท อะเคลิส (Elizabeth Achelis) เป็นผู้ซึ่งมีความสนใจมากในการแก้ไขปฏิทิน ได้เสนอใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ปฏิทินโลกนี้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ส่วนละ ๙๑ วัน แต่ละส่วนยังแบ่งออกเป็น ๓ เดือน ๓๑, ๓๐ และ ๓๐ วัน ส่วนหนึ่งๆ มี ๑๓ สัปดาห์ พอดี และทุกส่วน ๓ เดือนนั้น ตั้งต้นด้วยวันอาทิตย์ และสิ้นด้วยวันเสาร์
เมื่อส่วนหนึ่งมี ๙๑ วัน ๔ ส่วนรวมเป็น ๓๖๔ วัน ต้องเพิ่มวันในเดือนธันวาคม ๑ วัน วันที่เพิ่มนี้ เรียกว่า ธันวาคม W และจัดเอกออกไว้ต่างหากจากสัปดาห์ แม้วันที่เพิ่มนี้จะติดวันเสาร์ แต่ไม่เรียกเป็นวันอาทิตย์ ให้เรียกเป็น "วันโลก" ในปีอธิกสุรทิน ให้เพิ่มวันหนึ่งวัน เรียกว่า "ปีอธิกสุรทิน" โดยเพิ่มไว้ที่ปลายเดือนมิถุนายน
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ได้นำเรื่องปฏิทินโลกนี้ขึ้นพิจารณา มีผู้แทนหลายประเทศเห็นชอบ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาสนาบางนิกาย