เล่มที่ 13
อาหารไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความแตกต่างของอาหารไทยระหว่างภูมิภาค

            คนไทยแต่ละภาค รับประทานอาหารแตกต่างกัน ตามลักษณะพื้นที่ดินฟ้าอากาศ และความอุดมสมบูรณ์ เช่น พวกที่อยู่ริมทะเล รับประทานอาหารแบบหนึ่ง พวกที่อยู่บริเวณที่มีอากาศหนาว หรืออากาศร้อนก็รับประทานอาหารอีกแบบหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่คนไทยยังรักษาไว้เป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยทุกภาค คือ การรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อาหารไทยภาคเหนือ

            อาหารของภาคเหนือประกอบด้วยข้าวเหนียว น้ำพริกชนิดต่างๆ เป็นต้นว่า น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกแดง น้ำพริกอ่อง มีแกงหลายชนิด เช่น แกงฮังเล แกงโฮะ แกงแค นอกจากนั้นยังมีอาหารพื้นเมือง เช่น แหนม ไส้อั่ว เนื้อนึ่ง จิ้นปิ้ง แคบหมู หมูทอด ไก่ทอด และผักต่างๆ
อาหารไทยภาคเหนือ
อาหารไทยภาคเหนือ
            คนไทยที่อยู่ทางภาคเหนือนิยมรับประทานอาหารรสกลางๆ มีรสเค็มนำเล็กน้อย รสเปรี้ยวและหวานมีน้อยมาก หรือแทบไม่นิยมเลย เนื้อสัตว์ที่นิยมรับประทาน ได้แก่ เนื้อหมู เพราะหาได้ง่าย ราคาไม่แพง และมีขายทั่วไปในท้องตลาด เนื้อสัตว์อื่นที่นิยมรองลงมาคือ เนื้อวัว ไก่ เป็ด นก ฯลฯ สำหรับอาหารทะเลนิยมน้อย เพราะราคาแพง เนื่องจากอยู่ห่างไกลทะเล
ข้าวซอย อาหารไทยอย่างหนึ่งของภาคเหนือ
ข้าวซอย อาหารไทยอย่างหนึ่งของภาคเหนือ
            อาหารที่ชาวพื้นเมืองชอบรับประทานเล่นเป็นพวกแมลง ที่รู้จักแพร่หลายคือ "แมงมัน" ซึ่งเป็นมดชนิดหนึ่งที่อยู่ในดิน แต่มีปีกบินได้ ปกติแมงมันจะอาศัยอยู่ในรู หลังจากฝนตกใหญ่ ครั้งแรกประมาณ ๒-๓ วัน แมงมันจะออกจากรู ชาวบ้านจะไปจับมาคั่ว โดยใส่น้ำมันน้อยๆ คั่วให้กรอบ แล้วใส่เกลือเล็กน้อย ก็ใช้เป็น อาหารได้ แมงมันจะมีให้จับมาคั่วเป็นอาหารได้เพียงปีละครั้ง ปัจจุบันราคาแพงมาก

แมลงอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "จี้กุ่ง" มีลักษณะเหมือนจิ้งหรีด ผิวหรือหนังสีน้ำตาลแดง ใช้ทอดหรือชุบไข่ทอดเป็นอาหารได้
ไข่น้ำหรือไข่แหน ผักชนิดหนึ่งที่นำมาปรุงอาหารไทยภาคเหนือ
ไข่น้ำหรือไข่แหน ผักชนิดหนึ่งที่นำมาปรุงอาหารไทยภาคเหนือ
            ทางภาคเหนือมีผักเฉพาะ ที่นำมาปรุงอาหาร ต่างจากภาคอื่นๆ เช่น "ผำ" หรือไข่แหน หรือที่คนภาคกลางเรียกว่า "ไข่น้ำ" มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ เท่าไข่ปลา ลอยอยู่ในน้ำ คล้ายจอกแหน วิธีนำมาปรุงอาหารคือ เอามาต้มให้สุก ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอม กระเทียม และกะปิ แล้วรับประทานกับข้าวเจ้า หรือข้าวเหนียว อาจใส่หมูหรือกุ้งสับละเอียดผสมลงไปด้วยก็ได้
            นอกจากนี้ก็มี "เตา" ซึ่งเป็นพืชน้ำอีกชนิดหนึ่งที่คนภาคกลางเรียกว่า "ตะไคร้น้ำ" ใช้เตาสดๆ หั่นฝอย แล้วใส่เครื่องปรุงต่างๆ เป็นยำ และยังมีผักแพะคำว่า แพะ ตามความหมายของคนภาคเหนือหมายถึง "ป่าโปร่ง" ฉะนั้นผักแพะจึงหมายถึง ผักชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นในป่าโปร่งนั่นเอง วิธีนำมาปรุงอาหารคือ ใช้ยอดผักแพะสดๆ จิ้มน้ำพริก หรือจะนำมายำก็ได้

อาหารไทยภาคกลาง

            โดยทั่วไปคนภาคกลางรับประทานอาหารที่มีรสกลมกล่อม มีรสหวานนำเล็กน้อย วิธีการปรุงอาหารซับซ้อนขึ้น ด้วยการนำมาเสริมแต่ง หรือประดิดประดอยให้สวยงาม เช่น น้ำพริกลงเรือ ซึ่งดัดแปลงมาจากน้ำพริกกะปิ จัดให้สวยงาม ด้วยผักแกะสลัก เป็นต้น ลักษณะอาหารที่รับประทานมักผสมผสานกันระหว่างภาคต่างๆ เช่น แกงไตปลา ปลาร้าน้ำพริกอ่อง เป็นต้น
อาหารไทยภาคกลาง
อาหารไทยภาคกลาง
            ทุกบ้านจะรับประทานข้าวสวยเป็นหลัก อาหารเย็นมีกับข้าว ๓-๕ อย่าง ได้แก่ แกงจืด หรือแกงส้มหรือแกงเผ็ด ต้มยำ และอื่นๆ มีผัด จืด หรือผัดเผ็ด เช่น พะแนง มัสมั่นแห้ง ไก่ผัด พริก หรือยำ เช่น ยำถั่วพู ยำเนื้อย่าง อาหารประจำของคนไทยภาคกลางคือ ผัก น้ำพริก และปลาทู อาจจะมีไข่เจียว เนื้อทอด หรือหมูย่าง อีกจานหนึ่งก็ได้ โดยคำนึงถึงวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นหลัก

อาหารไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

            อาหารจะมีข้าวเหนียวนึ่งเป็นหลักเช่นเดียวกับภาคเหนือ รับประทานกับลาบไก่ หมู เนื้อ หรือลาบเลือด ส้มตำ ปลาย่าง ไก่ย่าง จิ้มแจ่ว ปลาร้า อาหารภาคนี้จะนิยมปิ้งหรือย่างมากกว่าทอด อาหารทุกชนิดต้องรสจัด เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหาร ได้แก่ สัตว์ที่ชาวบ้านหามาได้ เช่น กบ เขียด แย้ งู หนูนา มดแดง แมลงบางชนิด ส่วนเนื้อหมู วัว ไก่ และเนื้อสัตว์อื่นๆ ก็นิยมตามความชอบ และฐานะ สำหรับอาหารทะเลใช้ปรุงอาหารน้อยที่สุด เพราะนอกจากจะหายากแล้ว ยังมีราคาแพงอีกด้วย
อาหารไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหารไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหารไทยภาคใต้

            อาหารของภาคใต้จะมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่นๆ แกงที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ คือ แกงเหลือง แกงไตปลา เครื่องจิ้ม ก็คือ น้ำบูดู และชาวใต้ยังนิยมนำน้ำบูดูมาคลุกข้าวเรียกว่า "ข้าวยำ" มีรสเค็มนำ และมีผักสดหลายชนิดประกอบ อาหารทะเลสดของภาคใต้มีมากมาย ได้แก่ ปลา หอยนางรม และกุ้งมังกรเป็นต้น
            นอกจากนี้ ยังมีผักหลายชนิดที่คนภาคใต้นิยมรับประทานกัน จนเป็นเอกลักษณ์ ของอาหารภาคใต้ ได้แก่อาหารไทยภาคใต้
อาหารไทยภาคใต้
ฝักสะตอ

            มีลักษณะเป็นฝักยาว สีเขียว เวลารับประทานต้องปอกเปลือก แล้วแกะเม็ดออก ใช้ทั้งเม็ด หรือนำมาหั่น ปรุงอาหาร โดยใช้ผัดกับเนื้อสัตว์ หรือใส่ในแกง นอกจากนี้ยังใช้ต้มกะทิรวมกับผักอื่นๆ หรือใช้เผาทั้งเปลือกให้สุก แล้วแกะเม็ดออก รับประทานกับน้ำพริก หรือจะใช้สดๆ โดยไม่ต้องเผาก็ได้ ถ้าต้องการเก็บไว้นานๆ ควรดองเก็บไว้
ฝักสะตอ
ฝักสะตอ
เม็ดเหรียง

            เป็นคำเรียกของคนภาคใต้ มีลักษณะคล้ายถั่วงอกหัวโต แต่หัวและหางใหญ่กว่ามาก สีเขียว เวลาจะรับประทานต้องแกะเปลือก ซึ่งเป็นสีดำออกก่อน จะนำไปรับประทานสดๆ หรือนำไปผัดกับเนื้อสัตว์ หรือนำไปดองรับประทานกับแกงต่างๆ หรือกับน้ำพริกกะปิ หรือกับหลนก็ได้
เม็ดเหรียง
เม็ดเหรียง
ลูกเนียง

            มีลักษณะกลม เปลือกแข็ง สีเขียวคล้ำเกือบดำ ต้องแกะเปลือกนอก แล้วรับประทานเนื้อใน ซึ่งมีเปลือกอ่อนหุ้มอยู่ เปลือกอ่อนนี้ จะลอกออก หรือไม่ลอกก็ได้ แล้วแต่ความชอบ ใช้รับประทานสดๆ กับน้ำพริกกะปิ หลน แกงเผ็ด โดยเฉพาะแกงไตปลา ลูกเนียงที่แก่จัด ใช้ทำเป็นของหวานได้ โดยนำไปต้มให้สุก แล้วใส่มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย และน้ำตาลทราย คลุกให้เข้ากัน