ประเพณีการรับประทานอาหารของคนไทย ในสมัยโบราณ ครอบครัวไทยนิยมล้อมวงรับประทานอาหารบนพื้นบ้าน | |
คนไทยภาคกลางนิยมกินอาหารด้วยช้อน ส้อม และใช้ช้อนกลางสำหรับตักอาหาร ในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ก็นิยมมีผ้าเช็ดปากวางอยู่บนโต๊ะ อาจจะพับแบบธรรมดา หรือพับเป็นรูปต่างๆ ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความมีระเบียบแบบแผน ที่สืบทอดกันมาของบุคคลในตระกูลนั้นๆ การจัดอาหารบนโต๊ะ บางบ้านจะวางไว้หมดทุกอย่าง เพียงแต่มีผู้เสิร์ฟคอยเติมอาหารที่หมด และในบางบ้านอาจมีคนคอยเสิร์ฟอาหารยืนระวังอยู่ข้างๆ โต๊ะ พร้อมที่จะเสิร์ฟอาหาร น้ำ และเติมอาหารด้วย สำหรับครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ไม่มีผู้เสิร์ฟ แต่จะกินอาหารบนโต๊ะด้วยช้อนส้อม และใช้ช้อนกลาง ถ้าเป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจน อย่างน้อยที่สุด ก็กินอาหารด้วยช้อน ไม่มีช้อนกลาง ภาคใต้ แต่เดิมคนไทยในภาคใต้นิยมนั่งรับประทานอาหารกับพื้น โดยปูเสื่อบนพื้นบ้าน แล้วตักอาหารใส่ถ้วย วางลงไปเป็นวงกลม ผู้รับประทานเปิบข้าวกับอาหารด้วยมือ อิ่มแล้วดื่มน้ำด้วยขันหรือจอก แต่ปัจจุบันนี้ คนไทยในภาคใต้ส่วนใหญ่ หันมารับประทานอาหารกันด้วยช้อนส้อม และนั่งเก้าอี้กันแล้ว คงมีบางส่วนยังคงรักษาเอกลักษณ์นั่งกับพื้น กับเปิบข้าวด้วยมืออยู่ ภาคเหนือ คนไทยในภาคเหนือส่วนใหญ่ ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด ด้วยการจัดอาหารใส่ถ้วยเล็กๆ วางลงไปบนโตก ลักษณะโตกอาจทำด้วยไม้ มุก หรือทองเหลือง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของเจ้าของบ้าน เรียกว่า สำรับอาหารคาว ข้างโตกยังมีข้าวเหนียว ใส่ในกระติบทรงสูง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาค เหนือ นอกโตกยังมีคนโทดินใส่น้ำเย็น มีขันเงิน สำหรับใส่น้ำดื่ม หลังอาหารคาว จะมีโตกอาหารว่างตามมา แล้วต่อด้วยบุหรี่พื้นเมือง คือ บุหรี่ไชโย จึงนับว่า เสร็จจากการรับประทานอาหารในมื้อนั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คนไทยในภาคนี้ ส่วนใหญ่ยังคงนิยมจัดอาหารใส่ถาดสังกะสี ซึ่งมีลายเป็นดอกโตๆ ตักอาหารใส่ถ้วยวางลงบนถาด แล้วรับประทานพร้อมข้าวเหนียวในกระติบทรงเตี้ย อันเป็นสัญลักษณ์ของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาหารหวานรอเสิร์ฟอยู่ข้างๆ ขนมที่นิยมทำคือ ขนมพื้นเมืองชื่อ ข้าวเหนียวหัวหงอก นางเล็ด เป็นต้น |