เล่มที่ 14
พระราชวังในกรุงเทพมหานคร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พระราชวังในสมัยรัชกาลที่ ๕

            สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นสมัยที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากมาย ตั้งแต่มีการขยายตัวของกรุงเทพฯ ไปทางด้านทิศเหนือ พร้อมทั้งตัดถนน หนทางไปเชื่อมยังส่วนที่ขยายตัวนั้น มีการสร้างอาคารสถานที่ราชการขึ้นใหม่ๆ หลายแห่ง และที่สำคัญคือ การสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่นอกเขตกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เปรียบเสมือนการเปิดประตูเมืองไปสู่ความเจริญยุคใหม่ ตามแบบตะวันตก

            พระราชวังดุสิต สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๒ โดยมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือจดถนนสุโขทัย ทิศใต้จดถนนศรีอยุธยา ทิศตะวันออกจดถนนพระรามที่ ๕ และทิศตะวันตกจดถนนสามเสน เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์ครั้งแรกจะให้เป็นเพียงที่ประทับแรม พักผ่อน ในวันว่างจากพระราชภารกิจ ต่อมาเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสามเสน ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินนอก เพื่อเชื่อมระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังที่สร้างใหม่แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประทับเป็นการถาวรขึ้น และเสด็จเข้ามาประทับที่พระบรมมหาราชวัง เฉพาะเมื่อมีพระราชพิธีต่างๆ เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓
บริเวณเรือนต้น พระราชวังดุสิต
บริเวณเรือนต้น พระราชวังดุสิต
            ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "สวนจิตรลดา" ขึ้น บนพื้นที่ระหว่างพระราชวังดุสิตกับวังพญาไท ริมถนนราชวิถี เพื่อเป็นที่เสด็จประพาส และประทับแรม โดยสร้างพระตำหนักขึ้นหลังหนึ่ง พระราชทานนามว่า "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน"
พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต
พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต
            ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานแล้ว ยังได้เสด็จมาประทับ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นครั้งคราวด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผนวกสวนจิตรลดาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต

            ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ประทับอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในพระราชวัง

            พระราชวังดุสิต มีพระที่นั่งองค์ต่างๆ สร้างขึ้นตามแบบโบราณราชประเพณี มีการแบ่งเขตพระราชฐานออกเป็นฝ่ายหน้า (ฝ่ายชาย) ฝ่ายใน (ฝ่ายหญิง) มีท้องพระโรงประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตร เป็นที่เสด็จออกมหาสมาคม และประกอบพระราชพิธีต่างๆ มีพระที่นั่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ มีตำหนักที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และเรือนที่พักของเจ้าจอม และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จอีกเป็นอันมาก พระที่นั่งที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
            พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระที่นั่งประธานของพระราชวัง โดยเป็นที่ประทับ และที่ทรงพระสำราญของรัชกาลที่ ๕ นอกจากนั้น ยังเสด็จสวรรคตที่ชั้น ๓ ของพระที่นั่งองค์นี้
            พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งไม้สักหลังใหญ่ ปลูกสร้างขึ้นเป็นหลังแรก โดยรื้อมาจากพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่เกาะสีชัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ พร้อมกับพระมเหสี พระสนมเอก และพระราชธิดาหลายพระองค์ ก่อนหน้าที่จะสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน
            พระที่นั่งอภิเศกดุสิต เป็นที่ประดิษฐาน พระมหาเศวตฉัตร เสด็จออกมหาสมาคม และประกอบพระราชพิธีต่างๆพระที่นั่งอภิเศกดุสิต พระราชวังดุสิต
พระที่นั่งอภิเศกดุสิต พระราชวังดุสิต
พระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอบางพระองค์ ที่ตามเสด็จมาประทับที่พระราชวังดุสิตนี้

            พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นท้องพระโรงขนาดใหญ่ สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมของยุโรป ด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก บุด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ภายในมีภาพเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาล ที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๖ ประดับบนส่วนโค้งของโดม จำนวน ๖ ภาพ พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น เป็นที่เสด็จออกมหาสมาคม เช่นเดียวกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง แต่ยังไม่ได้เริ่มขึ้น ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อมาจนเสร็จ พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้ ได้ใช้ประกอบกิจกรรมสำคัญหลายประการ เช่น การพระราชทานรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมา ก็ได้ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตราบจนได้สร้างรัฐสภาขึ้นใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกัน พระที่นั่งอนันตสมาคมจึงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ หลังจากเลิกใช้เป็นที่ประชุมสภาฯ แล้ว
พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต
พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต
            นอกจากพระที่นั่งที่สำคัญดังกล่าวแล้ว ยังมีตำหนักน้อยใหญ่ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พระราชทานพระมเหสี พระราชเทวี พระสนมเอก และพระราชธิดาขึ้นอีกหลายหลัง ในพื้นที่ที่จัดแบ่งเป็นส่วนพระองค์เรียกว่า สวนพระราชทาน ชื่อ สวน ถนน ประตู และคลองหน้าตำหนักต่างๆ นั้นเป็นศัพท์จีน ตามชื่อของเครื่องลายครามที่โปรดเล่นกันสมัยนั้น เช่น สวนสี่ฤดู ถนนบ๋วย ประตูเซียน คลองรางเงิน และอ่างหยก เป็นต้น
ภาพเขียนประดับส่วนโค้งของโดม ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม
ภาพเขียนประดับส่วนโค้งของโดม ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม
            พระราชวังพญาไท สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ตั้งอยู่ริมถนนราชวิถี โดยมีด้านหลังติดคลองสามเสน เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่เสด็จประพาสทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผัก และเลี้ยงไก่ อย่างที่เคยทอดพระเนตรในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ และริเริ่มให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม

            ในการสร้างวังครั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักที่ประทับขึ้น เป็นการส่วนพระองค์ เรียกว่า "ตำหนักพญาไท" ส่วนพื้นที่ด้านตรงข้ามกับตำหนัก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ทำนา และให้สร้าง "โรงนา" ขึ้น เพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญ เมื่อถึงฤดูทำนา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงนำเจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์ลงดำนา ด้วยพระองค์เอง เป็นการประเดิมชัย ในการปลูกข้าว สำหรับเกษตรกรด้วย
พระราชวังพญาไท
พระราชวังพญาไท
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับ และทรงพระสำราญที่พระราชวังพญาไทในระยะเวลาอันสั้น หลังจากได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล "คฤหมงคล" ขึ้นเรือน ใหม่ได้เพียงไม่กี่เดือน ก็เสด็จสวรรคต
            สมัยรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาประทับ ที่ "พระราชวังพญาไท" นี้เป็นเวลาถึง ๑๐ ปี จึงได้เสด็จสวรรคตลงใน พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่ เป็นที่ประทับที่พระราชวังพญาไทนี้ โดยรื้อ "ตำหนักพญาไท" ออกหมด ยกเว้นแต่ท้องพระโรง สร้างขึ้นเป็นพระที่นั่งหมู่ใหญ่หลายหลังต่อเนื่องกัน พระที่นั่งหมู่นี้มีชื่อคล้องจอง กันดังต่อไปนี้คือ

            พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก แต่เดิมสูง ๒ ชั้น มาต่อเติมเป็น ๓ ชั้นในภายหลัง ใช้เป็นห้องบรรทม และห้องสรง
พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
            พระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งองค์ประธาน มีความสูง ๒ ชั้น มียอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราช ห้องใต้โดมเป็นห้องทรงพระอักษร ห้องโถงกลางเป็นท้องพระโรง เสด็จออกให้เข้าเฝ้า ภายในตกแต่งแบบยุโรป มีเตาผิง เหนือเตาผิง มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายใต้วชิรมหามงกุฎ ด้านตะวันออก เป็นห้องบรรทม ภายในตกแต่งลายเพดานด้วยภาพเขียน เป็นรูปคัมภีร์พระศาสนา แบบจารลงบนใบลาน ส่วนด้านตะวันตก เป็นที่ประทับของพระมเหสี ที่พระที่นั่งองค์นี้ มีภาพเขียนบนผนังและเพดานทั่วไปหมดทุกห้อง ซึ่งหาดูได้ยาก
พระที่นั่งพิมานจักรี
พระที่นั่งพิมานจักรี
            พระที่นั่งศรีสุทธินิวาศ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี มีทางเดินเชื่อมติดต่อกัน ความสูง ๒ ชั้น มีโดมขนาดเล็กตั้งอยู่ตรงมุม พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่รับรองเจ้านายฝ่ายใน (ผู้หญิง) ฉะนั้นที่ฝาผนังตอนใกล้เพดาน และที่เพดาน จะเขียนภาพเป็นลายดอกไม้อ่อนหวาน สมกับเป็นที่ประทับของฝ่ายใน
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
            พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เป็นท้องพระโรงเดิม ครั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จมาประทับ โดยยังปรากฏพระนาม "สผ" อยู่ตอนบนใกล้หลังคา
            พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน เป็นอาคารสูง ๒ ชั้น ไม่มีการตกแต่งฝาผนังและฝ้าเพดาน เช่นพระที่นั่งองค์อื่น แต่มีลวดลายลูกกรง บันไดทำด้วยเหล็กหล่อ และตกแต่งฝาผนังด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว เป็นลวดลายตามแบบยุโรป สันนิษฐานว่า คงจะสร้างขึ้นภายหลัง

นอกจากนั้นยังมีตำหนักเล็กๆ ริมสระน้ำ อยู่หลังหนึ่ง เรียกว่า ตำหนักเมขลารูจี และยังมีสวนด้านหลังของพระที่นั่งเรียกว่า สวนโรมัน

            สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้แก่ ดุสิตธานี หรือเมืองประชาธิปไตย ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นเมืองจำลองขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ จะทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่เมืองนี้มีอาคารทุกอย่างที่ควรมีในเมือง ตั้งแต่ปราสาท ราชวัง วัด สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านค้า ธนาคาร โรงมหรสพ สโมสร ฯลฯ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารเป็นผู้ดูแลคนละหลัง พร้อมทั้งมีการปฏิบัติจริงในการเสียภาษี ดูแลความสะอาด ประกวดประขันกันเป็นอันมาก แต่หลังจากรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จสวรรคตแล้ว ดุสิตธานีก็ได้สลายตัวไป
สวนดุสิตธานี
สวนดุสิตธานี
            หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต วังพญาไทก็มิได้ใช้เป็นที่ประทับอีกต่อไป รัชกาลที่ ๗ เคยโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของพระนครเรียกว่า โรงแรมพญาไท ต่อมาได้ล้มเลิกไป และจัดเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว วังพญาไทได้กลายมาเป็นโรงพยาบาลทหาร และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ใน พ.ศ. ๒๔๙๙