เล่มที่ 14
พระราชวังในกรุงเทพมหานคร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พระราชวังในสมัยรัชกาลที่ ๑

สมัยรัชกาลที่ ๑ มีการสร้างพระราชวังขึ้น ๓ แห่ง ได้แก่ พระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคล และพระราชวังบวรสถานพิมุข

            พระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. ๒๓๒๕ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก โดยมีด้านทิศเหนือติดกับถนนหน้าพระลาน ทิศใต้ติดกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม คั่นด้วยถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกติดกับถนนสนามไชย ทิศตะวันตกติดกับถนนมหาราช ต่อเนื่องกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระราชวังที่สำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นทั้งที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นที่เสด็จออกว่าราชการ เพื่อการบริหารประเทศ ในพระบรมมหาราชวัง มีหมู่พระที่นั่งต่างๆ สร้างขึ้นด้วยความประณีตบรรจง งดงามมาก นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เราชาวไทยทุกคนควรภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังมีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระราชวัง ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย
หอรัษฎากรพิพัฒน์ สิ่งก่อสร้างในเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของกระทรวงการคลัง
หอรัษฎากรพิพัฒน์ สิ่งก่อสร้างในเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของกระทรวงการคลัง
            พระบรมมหาราชวังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์มาตลอด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ หลังจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตแล้ว พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังดุสิต ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางกว่า และไม่มีอาคารต่างๆ แออัด เหมือนในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น
ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะมีงานพระราชพิธี
ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะมีงานพระราชพิธี
สิ่งก่อสร้างในพระบรมมหาราชวัง

เขตพระราชฐานชั้นนอก

            เป็นที่ตั้งของอาคาร ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ อาคารที่สำคัญในอดีต ได้แก่ ศาลาลูกขุนใน ๒ หลัง เป็นที่ทำการ ของสมุหกลาโหม และสมุหนายก ปัจจุบันในเขตพระราชฐานนี้ มีอาคารที่ใช้เป็นสถานที่ราชการ เช่น ราชบัณฑิตยสถาน และหน่วยงานของกรมธนารักษ์

เขตพระราชฐานชั้นกลาง

            อาคารในเขตนี้ถือเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดของพระราชวัง ประกอบไปด้วยหมู่พระมหาปราสาท และพระราชมณเฑียร สถาน ที่ประทับ และเสด็จออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นยังมีพระที่นั่งใหญ่น้อย สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ อีกหลายหลัง พระที่นั่งที่สำคัญได้แก่
ตุ๊กตาหินแบบจีน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ตุ๊กตาหินแบบจีน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้น ด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
            หมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประกอบไปด้วยพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นท้องพระโรง ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินี ส่วนพระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ประทับ นอกจากนั้นยังมีเรือนจันทร์ และพระปรัศว์ซ้ายและขวา เป็นเรือนบริวาร เป็นที่ประทับของพระมเหสี หรือเจ้านายฝ่ายใน ที่โปรดเกล้าฯ ให้ไปประทับ หมู่พระที่นั่งนี้ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว (กำแพงเตี้ยฯ ที่ทำล้อมโบสถ์ วิหาร หรือเจดีย์ เป็นต้น) มีทิมหรือเรือนแถวยาวกั้นระหว่างฝ่ายหน้า (ผู้ชาย) กับฝ่ายใน (ผู้หญิง) พระที่นั่งหมู่นี้ ได้สร้างขึ้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ โดยสร้างขึ้น ทดแทนพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท ที่ถูกไฟไหม้ใน พ.ศ. ๒๓๓๒
            พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่ง ก่ออิฐถือปูน ทาสีขาว ยกพื้นสูง มีลักษณะเป็นจตุรมุข แต่ละมุขกว้างยาวเท่ากัน มุขด้านเหนือ ซึ่งเป็นด้านหน้าประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา มีหลังคาทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี (แต่เดิมมุงด้วยดีบุก เปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบในสมัยรัชกาลที่ ๓) ตรงกลางจตุรมุขเป็นยอดปราสาท ๗ ชั้น (เรียกว่า มหาปราสาท) มีครุฑรับยอดปราสาทเป็นลักษณะเด่นของพระที่นั่งองค์นี้ ซุ้มพระทวาร และพระบัญชรเป็นซุ้มทรงมณฑป ปิดทองประดับกระจก มีอัฒจันทร์ทางขึ้นด้านหน้า มีตุ๊กตาหินแบบจีนทำเป็นรูปนักรบถือง้าวประดับทั้งสองข้าง ภายในพระที่นั่งที่ฝา เขียนสีเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์เทพนม ตรงกลางยอดปราสาทประดิษฐานพระที่นั่งประดับมุก ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร มุขด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระแท่นประดับมุก พระแท่นบรรทมของรัชกาลที่ ๑

            พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นพระที่นั่งก่ออิฐ ถือปูน ทาสีขาว ยกพื้นสูง มีเสาลอยรับหลังคาโดยรอบ พระที่นั่งองค์นี้ เชื่อมต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยห้องโถงที่เรียกว่า มุขกระสัน ลักษณะเป็นห้องโถงยาว มีหลังคาทรงไทยมุงด้วย กระเบื้องเคลือบสี ซุ้มพระทวาร และพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบันแถลง ปิดทองประดับกระจก
พระที่นั่งพิมานรัตยา
พระที่นั่งพิมานรัตยา
            พระที่นั่งราชกรัณยสภา เป็นตึก ๒ ชั้น สร้างต่อทางทิศใต้ของพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท สร้างตามยาว จากทิศเหนือไปทิศใต้ อยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หลังคามีลักษณะพิเศษ สำหรับพระที่นั่งองค์นี้ คือ เป็นหลังคาที่มีมุขทะลุขื่อขึ้นมา เรียกว่า ทรงประเจิด หลังคาตอนล่างซ้อน ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้อง หินชนวนทรงคล้ายหลังคาปั้นหยา ตอนบนเป็นหลังคาทรงไทยมีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
            สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ทรงใช้เป็นที่ประชุมที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ เป็นองค์ประธานทุกครั้ง ที่มีการประชุมพระที่นั่งราชกรัณยสภา
พระที่นั่งราชกรัณยสภา
            เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ ๘ ยังทรงพระเยาว์ และตอนต้นรัชกาลปัจจุบัน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ใช้เป็นที่ประชุมปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งทรงปฏิบัติพระราชกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา
            เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ยังใช้เป็นที่ประชุมองคมนตรีอยู่ระยะหนึ่ง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงผนวช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชกิจ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้ทรงใช้เป็นที่ประชุมองคมนตรี

            อนึ่งในวันพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ในวันฉัตรมงคลทุกปี ผู้รับพระราชทานสูงอายุไม่สามารถเข้าเฝ้ารับพระราชทาน บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา
หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
            หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งหมู่นี้สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นพระราชมณเฑียร (ที่ประทับ) มีลักษณะเป็นพระที่นั่งหมู่ใหญ่ ๕ องค์ เรียงลำดับจากด้านหลังมาด้านหน้า ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ใช้เป็นที่บรรทม พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ใช้เป็นที่ประทับในเวลากลางวัน พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานใช้เป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกขุนนาง และพระปรัศว์ขวา และพระปรัศว์ซ้าย (รัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ และพระที่นั่งเทพอาส์นพิไล) ใช้เป็นที่ประทับของพระมเหสี
ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
            พระที่นั่งหมู่นี้เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ทาสีขาว ยกพื้นสูง เฉพาะพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ซึ่งเป็นท้องพระโรง มีระดับพื้นที่ต่ำกว่า หลังคาของหมู่ของพระที่นั่งนี้ เป็นหลังคาทรงไทย มุงกระเบื้องเคลือบสี ยกเว้นพระที่นั่งเทพสถานพิลาศ และพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล ซึ่งมุงด้วยกระเบื้องดินเผาสีธรรมชาติ ที่หน้าบันของพระที่นั่ง มีไม้จำหลักลายเป็นรูปเทวดาประจำทิศ ล้อมรอบด้วยกนกก้านขดเทพนม ซึ่งเป็นลายสืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา พระทวารและพระบัญชร ประดับด้วยซุ้มทรงบันแถลงปิดทองประดับกระจก
            ภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานประดิษฐานพระแท่นบรรทมของรัชกาลที่ ๑ ส่วนภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ที่สักการะของปวงชนชาวไทย และภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาพิมาน ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เพื่อเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในพระราชพิธีต่างๆ หรือการออกรับราชทูต เป็นต้น ที่สองข้างพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีหอพระอยู่ ๒ หอ โดยหอพระด้านตะวันออก ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น ส่วนหอพระด้านตะวันตก ประดิษฐานพระบรมอัฐิ ของพระมหากษัตราธิราชเจ้า
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
พระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นครั้งแรกนั้น ได้ขยายพื้นที่ และสร้างพระที่นั่งต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกในรัชกาลต่อๆ มา ดังนี้
            หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งหมู่นี้สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นพระมหามณเฑียรที่ประทับ เช่นเดียวกับหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โดยทรงเห็นว่า พื้นที่บริเวณที่ตั้งของหมู่พระที่นั่งเป็นมงคล สถานที่พระองค์ทรงพระราชสมภพ จึงได้สร้างพระที่นั่งหมู่ใหญ่ ๑๑ องค์ ได้แก่ พระที่นั่งจักรี มหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ พระที่นั่งพิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระที่นั่งอมรพิมานมณี พระที่นั่งสุทธาสีอภิรมย์ พระที่นั่งบรรณาคมสรณี พระที่นั่งราชปรีดีวโรทัย และพระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร
            ต่อมาหมู่พระที่นั่งนี้ชำรุดทรุดโทรม จึงได้รื้อพระที่นั่งองค์ต่างๆ ลงเป็นจำนวนมาก คงเหลือแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ซึ่งได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลปัจจุบัน และได้ใช้สอยมาจนทุกวันนี้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
            พระที่นั่งหมู่นี้ก่อสร้างขึ้น เป็นแบบตะวันตกทั้งสิ้น ยกเว้นแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งมีหลังคาเป็นแบบทรงไทย ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง เป็นปราสาท ๓ ชั้น ๓ องค์ เรียงกัน องค์กลางมีมุขเด็จ เป็นที่เสด็จออกให้ประชาชนเฝ้า เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ได้เสด็จออกที่มุขเด็จนี้ ให้ประชาชนเข้าเฝ้าถวายพระพร ที่หน้าบันของมุขเด็จมีไม้จำหลักลายเป็นรูปจักรี ตอนล่างมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ ส่วนหน้าบันของมุขอื่นๆ เป็นรูปตราอาร์มแผ่นดิน สมัยรัชกาลที่ ๕

ตราพระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๕ ที่หน้าบันมุขพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันออกและตะวันตก
            ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทประกอบด้วย ท้องพระโรงกลาง ซึ่งเป็นท้องพระโรงที่สำคัญ ภายในประดิษฐานพระแท่นที่ประทับภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ด้านหลัง เป็นภาพเขียนรูปจักร และตรี มีรัศมีโดยรอบ ท้องพระโรงนี้ เป็นที่เสด็จออกรับทูต เพื่อถวายสารตราตั้ง หรืองานพระราชทานเลี้ยงแขกต่างประเทศที่สำคัญ ที่สองข้างของท้องพระโรงกลาง เป็นห้องโถง เรียกว่า มุขกระสัน ด้านตะวันออก ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ ส่วนด้านตะวันตก ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระมเหสี ในรัชกาลต่างๆ เช่นกัน ส่วนตอนปลายสุดของห้องโถงทั้งสองด้าน เป็นพระที่นั่งสำหรับส่วนพระองค์ ด้านทิศตะวันออก มีพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระราชโอรสหลายพระองค์ ส่วนด้านทิศตะวันตก มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
มุขกระสันด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่าง ๆ
มุขกระสันด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ
            พระที่นั่งสนามจันทร์ เป็นพระที่นั่งไม้ขนาดเล็ก แบบพลับพลาโถง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน หน้าหอพระธาตุมณเฑียร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับทรงงานช่างบ้าง เสด็จออกขุนนางบ้าง ตลอดจนเป็นที่ประทับทรงพระสำราญบ้าง นัยว่า ได้ทรงมีส่วนร่วมในการตกแต่งพระที่นั่งองค์นี้ด้วย จึงเป็นพระที่นั่งที่มีความสำคัญ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และในแง่ความงดงามด้วย
            พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท พระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว ของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันออก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประทับพระราชยาน (เสลี่ยง) ในการเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตรา หรือใช้สำหรับในงานพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) เป็นต้น ลักษณะของพระที่นั่ง เป็นปราสาทโถง จตุรมุข หลังคามุงด้วยดีบุก ตรงกลางของจตุรมุข ทำเป็นปราสาท ๕ ชั้น รองรับยอดปราสาทด้วย หงส์ทั้งสี่ด้าน (แทนครุฑยุดนาค) โครงเสาฐานขององค์พระที่นั่ง ตลอดจนเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ฝ้า เพดาน สาหร่ายรวงผึ้ง ล้วนลงรักปิดทอง ประดับกระจก ด้วยฝีมือประณีตบรรจง เป็นตัวอย่าง ของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม นับเป็นฝีมือชั้นครูชิ้นหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ จนได้รับการจำลองแบบ ไปแสดงในงานแสดงสินค้า ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ใน พ.ศ. ๒๕๐๑พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
            พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เป็นพระที่นั่งขนาดเล็ก ตั้งอยู่ด้านข้างของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ด้านตะวันตก ลักษณะเป็นพระที่นั่งโถง ด้านเหนือมีเกยประทับพระราชยาน (เสลี่ยง) และด้านตะวันตกเป็นเกยประทับพระคชาธาร (ช้าง) นอกจากนั้นที่ฝาพระที่นั่ง เขียนลายเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าสิงห์สีเหลืองบนพื้นสีดำ ภายในองค์พระที่นั่งตรงกลางทำเป็นฐานยกพื้น มีทางเดินรอบ ที่ส่วนยกพื้นมีพนักลูกกรง และลวดลาย ปิดทองประดับกระจก ที่เสาเขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์ พระที่นั่งองค์นี้ เคยเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชปุจฉาธรรมะกับพระภิกษุสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ หรือใช้เป็นที่ตั้งพระราชสาสน์ ที่ประเทศต่างๆ ส่งเข้ามาเจริญพระราชไมตรี ตลอดจนเคยใช้เป็นที่เลี้ยงพระในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น
พระที่นั่งราชฤดี
พระที่นั่งราชฤดี
            พระที่นั่งราชฤดี ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน หน้าหอพระสุราลัย แต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็น "แบบฝรั่ง" เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ แต่ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้นำสิ่งของที่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายจากนานาประเทศมาตั้งไว้ นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรก ของประเทศ ต่อมาได้รื้อลง และสร้างขึ้นใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่สรงมูรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชทานนามว่า พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส ต่อมา ได้เปลี่ยนเป็นพระที่นั่งราชฤดี ให้เหมือนของเดิม พระที่นั่งองค์นี้ มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถง ยกพื้นสูงพอประมาณ โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบสีขาว พื้นปูหินอ่อน ได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อมาทุกรัชกาลจนถึงปัจจุบัน
เขตพระราชฐานชั้นใน

            มีตำหนักที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในที่สำคัญ ที่ยังปรากฏหลักฐานอยู่หลายหลัง เช่น พระตำหนักเขียว พระตำหนักแดง ที่ประทับ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ๒ พระองค์ที่เสด็จเข้ามาช่วยราชการในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระตำหนักแดง ที่ประทับ ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ในสมัยรัชการที่ ๒ และตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น พระตำหนักเหล่านี้ หลายหลังได้ย้ายไปตั้งอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง เช่น พระตำหนักเขียว ได้ถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาส วัดอมรินทราราม พระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ได้ถวายเป็นศาลาการเปรียญ วัดรัชฎาธิฐาน ส่วนพระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ส่วนหนึ่งได้ถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาส วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี และอีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ส่วนตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ยังคงตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นตำหนักประธาน ในเขตพระราชฐานชั้นใน นอกจากนั้น ยังมีตำหนักใหญ่น้อย และเรือนข้าราชบริพารที่ยังเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก

เขตวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

            ภายในเขตนี้มีอาคารที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา เป็นอันมาก แต่ละหลังสร้างขึ้น ด้วยความประณีตบรรจง โดยพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ถวายเป็นพุทธบูชา อาคารที่สำคัญต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ประกอบด้วย
 ภูมิทัศน์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ภูมิทัศน์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
            พระอุโบสถ สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๖ เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงนำมาจากเวียงจันทน์
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
            หอพระมณเฑียรธรรม สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ ที่ทรงสังคายนา ต่อมาได้เกิดไฟไหม้ จึงได้สร้างขึ้นใหม่ ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ เป็นที่เรียนหนังสือของพระ และเป็นที่จารึกพระสุพรรณบัฎ และพระราชสาสน์
            พระมณฑป สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ ในพื้นที่หอพระมณเฑียรธรรมหลังเดิม

            พระเจดีย์ทอง ๒ องค์ ตั้งอยู่หน้าพระมณฑป เป็นพระเจดีย์ทองทรงเครื่องแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย

            พระระเบียง สร้างขึ้น เพื่อกั้นเป็นขอบเขตของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพรามเกียรติ์ที่รอบผนังพระระเบียง

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ทั่วทั้งพระอาราม และได้สร้างอาคารขึ้นใหม่หลายหลัง ได้แก่

เศวตกุฎาคารวิหารยอด สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ

            หอพระนาก สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานพระนากที่อัญเชิญจากรุงศรีอยุธยา ต่อมาเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชโอรส และพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์

พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดับจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดับจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์

            พระปรางค์ ๘ องค์ สร้างขึ้น เพื่อถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ดังนี้ พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์ (พระพุทธ) ปรางค์สีขาว พระสัทธัมปริยัติวรามหาเจดีย์ (พระธรรม) ปรางค์สีขาบ พระอริยสังฆสาวกมหาเจดีย์ (พระสงฆ์) ปรางค์สีชมพู พระอริยสาวกภิกษุณี สังฆมหาเจดีย์ (พระภิกษุณี) ปรางค์สีเขียว พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ปรางค์สีม่วง พระบรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ (พระบรมจักรพรรดิ์) ปรางค์สีน้ำเงิน พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ (พระโพธิสัตว์) ปรางค์สีแดง และพระศรีอริยเมตยมหาเจดีย์ (พระศรีอริยเมตไตรย์) ปรางค์สีเหลือง
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
            สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการสร้างถาวรวัตถุขึ้นเป็นอันมาก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพระระเบียง โดยที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปรางค์ปราสาท หรือเรียกกันในปัจจุบันว่า ปราสาทพระเทพบิดร และพระศรีรัตนเจดีย์ขึ้นที่ด้านหน้า และหลังพระมณฑป พร้อมทั้งยกฐานขึ้นให้สูง เนื่องด้วยอาคารทั้ง ๓ หลังนี้ มีฐานกว้าง ทำให้ต้องขยายพระระเบียงออกไป ทั้งทางทิศตะวันออก และตะวันตก และยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารอื่นๆ อีกหลายหลัง
เศวตกุฎาคารวิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เศวตกุฎาคารวิหารยอด
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
            พระพุทธปรางค์ปราสาท สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๙๘ ตามแบบปราสาททอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยวัตถุประสงค์ครั้งแรก จะให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่ภายหลังที่รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคตแล้ว ได้กลายเป็นที่ประดิษฐาน พระเจดีย์กะไหล่ทอง ต่อมาเกิดไฟไหม้ ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมรูปรัชกาลต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
พระศรีรัตนเจดีย์ สร้างขึ้นพร้อมๆ กับพระพุทธปรางค์ปราสาท เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

            หอราชพงศานุสร และหอราชกรมานุสร เป็นหอพระขนาดเล็ก ๒ หอ หอราชพงศานุสร ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างอุทิศถวายพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หอราชกรมานุสรประดิษฐานพระพุทธรูป ๓๔ พระองค์ ทรงสร้างอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา
พระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมราชจักรีวงศ์๕ พระองค์ ประดิษฐานภายในพระพุทธปรางค์ปราสาท
พระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมราชจักรีวงศ์๕ พระองค์
ประดิษฐานภายในพระพุทธปรางค์ปราสาท
            พระโพธิธาตุพิมาน สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานพระปรางค์ทรงโบราณ หอพระนี้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกับหอราชพงศานุสร และหอราชกรมานุสร
พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
หอระฆัง สร้างขึ้น แทนหอระฆังเดิม ที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑

หอพระคันธารราษฎร์ สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ เพื่อใช้ในพิธีขอฝน

            สมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องด้วยการบูรณะปฏิสังขรณ์ และการสร้างหอต่างๆ ขึ้น ในสมัย รัชกาลที่ ๔ ยังไม่เสร็จ รัชกาลที่ ๕ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ ทันกับการฉลองกรุงเทพฯ ๑๐๐ ปี นอกจากนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างบุษบกประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ ของรัชกาลต่างๆ รวม ๓ องค์ หลังจากนั้น ก็มิได้มีการสร้างสิ่งใดที่สำคัญเพิ่มเติม ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลปัจจุบัน เมื่อคราวฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปี และ ๒๐๐ ปี ตามลำดับ

            พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างพระบรมมหาราชวังใน พ.ศ. ๒๓๒๕ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก โดยมีด้านทิศใต้ติดกับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์เป็นที่หมายสำคัญ เป็นพระราชวังที่สำคัญ รองจากพระบรมมหาราชวัง กล่าวคือ เป็นที่ประทับของมหาอุปราช ซึ่งมีอำนาจรองจากพระมหากษัตริย์ พระราชวังนี้เป็นที่ประทับ ของพระมหาอุปราชมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นเวลาประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ หลังจากที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จทิวงคตไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช และได้ทรงแต่งตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารขึ้นแทน พระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้เปลี่ยนจากการเป็นที่ประทับของมหาอุปราช มาเป็นสถานที่ราชการเรื่อยมา ตามลำดับ ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยช่างศิลป และนาฏศิลป และโรงละครแห่งชาติ
แบบแผนการสร้างพระราชวัง

            ดำเนินไป เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวังทุกประการ เช่น มีการแบ่งเขตเป็นพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ล้อมรอบด้วยป้อมปราการ มีประตูทางเข้าออกทั้ง ๔ ด้าน รวมทั้งมีตำหนักแพ ที่ประทับริมน้ำ เช่นเดียวกับท่าราชวรดิฐ ของวังหลวงทุกประการ
พระราชวังบวรสถานมงคล
พระราชวังบวรสถานมงคล
สิ่งก่อสร้างในพระราชวัง

            พระราชวังนี้เคยมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญหลายหลัง เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องด้วยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้สอย มาเป็นสถานที่ราชการ อาคารต่างๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน คงมีแต่พระราชมณเฑียรที่ประทับ ที่เรียกว่า พระวิมาน ๓ หลัง พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน วัดบวรสถานสุทธาวาส พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เก๋งนุกิจราชบริหาร ตำหนักแดง และศาลาลงสรง เป็นต้น

พระที่นั่งที่สำคัญในพระราชวังบวรสถานมงคล

            พระราชมณเฑียร เรียกว่า หมู่พระวิมาน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ ประกอบด้วย อาคาร ๓ หลังเชื่อมติดต่อกัน มีเฉลียงรอบนอก เดินได้รอบ พระวิมานหมู่นี้สันนิษฐานว่า ทำตามแบบสมัยอยุธยา คือ เป็นอาคาร ๓ หลัง เป็นที่ประทับในฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่ลดส่วนลงมาสร้างเป็นหมู่เดียวกัน พระที่นั่งดังกล่าว เรียกตามชื่อห้องได้ ๑๑ องค์ ดังต่อไปนี้

๑. พระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นพระวิมานหลังใต้
๒. พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง
๓. พระที่นั่งพรหมเมศธาดา เป็นพระวิมานหลังเหนือ
๔. พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร
๕. พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข
๖. ท้องพระโรงหลัง
๗. พระที่นั่งพรหมพักตร์ เป็นท้องพระโรงหน้าเดิม

นอกจากนั้นยังมีพระที่นั่งหลังขวาง ตามทิศทั้งสี่ ได้แก่

๘. พระที่นั่งบูรพาภิมุข
๙. พระที่นั่งทักษิณาภิมุข
๑๐. พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข
๑๑. พระที่นั่งอุตราภิมุข

            พระวิมาน ๓ หลังนี้ สร้างเป็นแบบไทยประเพณี ยกพื้นสูงพอประมาณ เฉพาะพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ ซึ่งเป็นพระวิมานองค์กลาง ยกพื้นสูงกว่าองค์อื่นๆ ใช้เป็นที่ประทับ เช่นเดียวกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง มีหลังคาทรงไทย มุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี มีเสารายรอบเป็นเสาแปดเหลี่ยม บัวหัวเสาเป็นรูปดอกบัวแบบสมัยอยุธยา นอกจากนั้น มีการแกะสลักไม้ที่หน้าต่าง งดงามมาก
            พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นพระที่นั่งที่ต่อเนื่องกับพระวิมาน ๓ หลัง พระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่เสด็จออกรับแขกเมือง เป็นที่ประกอบพระราชพิธี และบำเพ็ญพระราชกุศล เช่นเดียวกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง แต่เดิม ที่สองข้างพระที่นั่งองค์นี้ มีหอ ๒ หอ เป็นหอพระประดิษฐานพระพุทธรูป และหอพระอัฐิประดิษฐานพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรฯ องค์ก่อนๆ แต่ต่อมาได้รื้อลงพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานภายใน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
            พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธี แต่ต่อมา เมื่อได้ทรงเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเชียงใหม่ จึงได้อุทิศพระที่นั่งองค์นี้ ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์แทน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ โดยเปลี่ยนหลังคา และต่อเป็นเฉลียง มีเสารับหลังคา ผนังภายนอกตอนบนที่ เรียกว่า "คอสอง" ปั้นปูนเป็นลวดลาย ทำซุ้มพระบัญชรขึ้นใหม่ ส่วนของเดิม เช่น จิตรกรรมฝาผนัง คันทวยรับชายคาที่แกะไม้เป็นเถาตำลึง ตลอดจนบานประตู หน้าต่าง ก็ได้ทรงรักษาไว้เหมือนเดิม พระที่นั่งองค์นี้ ปัจจุบัน ยังคงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ เหมือนเมื่อครั้งก่อน
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
            พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน เป็นพระที่นั่งที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แต่เดิม เป็นที่เสด็จออกขุนนาง ต่อมาใช้บำเพ็ญพระราชกุศลแต่เพียงอย่างเดียว ต่อมาเมื่อเสด็จสวรรคตก็ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพด้วย สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รื้อลงและสร้างใหม่ เป็นพระที่นั่งโถง ใช้บำเพ็ญพระราชกุศล และตั้งพระศพเหมือนเดิม ปัจจุบัน เป็นที่จัดแสดงเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์
พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
            พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เรียกกันเป็นสามัญว่า "วัดพระแก้ววังหน้า" สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ เช่นเดียวกับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่เดิมจะสร้างขึ้นเป็นยอดปราสาท แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห้ามไว้ว่า ไม่มีธรรมเนียมการสร้างปราสาทในพระราชวังบวรฯ พระอุโบสถหลังนี้จึงเป็นหลังคาจตุรมุขดังที่เห็นกันทุกวันนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ ที่จะให้พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ก่อฐานชุกชี ตั้งบุษบกขึ้นกลางห้อง พร้อมทั้งเขียนฝาผนังเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ขึ้นด้วย แต่ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงไม่ได้ย้ายพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานตามพระราชดำริเดิม

            พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ โดยสร้างขึ้นตามแบบฝรั่ง ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับสมัยนั้นมาก ภายในพระที่นั่งตกแต่งเป็นแบบตะวันตก มีห้องบรรทม ห้องเสวย ห้องรับแขก และห้องสรง เครื่องเรือน เป็นแบบตะวันตกทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตลง รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องเสวยเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ ทำเป็นตู้ทอง ที่ผนังด้านในเรียงกัน ๓ ตู้ โดยเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นพระบรมชนกนาถ อัฐิของ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ซึ่งเป็นพระราชชนนี และพระอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ในตู้ทองทั้ง ๓ ใบนั้น

ปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้ เป็นพระบวรราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

            พระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ปากคลองบางกอกน้อย พระราชวังนี้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังหลัง เพื่อทำหน้าที่รักษาพระนครทางด้าน ทิศตะวันตก กรมพระราชวังหลังประทับอยู่ใน ระยะเวลาอันสั้น เมื่อเสด็จทิวงคต รัชกาลที่ ๑ ก็มิได้ตั้งตำแหน่งนี้อีก จึงหมดสภาพความเป็นวังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พื้นที่บริเวณนี้จึงได้ใช้เป็นโรงเรียน เรียกว่า โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาได้ย้ายไปยังที่ตั้งของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ตำบลบางกะปิ เขตพระโขนง จึงใช้บริเวณวังหลังเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชมา จนทุกวันนี้