คุณภาพของอาหารสัตว์
สัตว์จะเจริญเติบโตดี และให้ผลิตผลสูง ถ้าได้รับอาหารคุณภาพดี และเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย คุณภาพของอาหารสัตว์สามารถตรวจสอบได้ เช่น การตรวจสอบรสชาติ การเกิดเชื้อรา การมีสารพิษเจือปน และการตรวจหาปริมาณสารอาหาร วิธีตรวจสอบทั่วๆ ไป คือ การวิเคราะห์หาส่วนประกอบทางเคมี เช่น หาปริมาณโปรตีน ไขมัน กากหรือเยื่อใย แร่ธาตุ ค่าพลังงาน สารย่อยยาก เช่น ลิกนิน ตลอดจนสารพิษ และการย่อยได้
ค่าการย่อยได้
หมายถึง ปริมาณอาหารที่ไม่ถูกถ่ายออกเป็นมูล คิดเป็นร้อยละของอาหารที่สัตว์กินได้ ทดสอบโดยให้สัตว์กินอาหารที่ต้องการ ชั่งน้ำหนักอาหารที่สัตว์กินได้ และชั่งมูลที่ถ่ายออกทุกวัน เป็นเวลา ๑๔ วัน น้ำหนักอาหารที่กินได้ ลบด้วยน้ำหนักมูลที่ถ่ายออก เป็นค่าของอาหารที่ถูกย่อย ดังสูตรคำนวณนี้
สูตรคำนวณจำนวนร้อยละของอาหารที่ย่อยได้
จำนวนร้อยละของอาหารที่ย่อยได้ = | ปริมาณอาหารที่กินได้-ปริมาณมูล
| *100 |
| ปริมาณอาหารที่กินได้
|
วัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดใดที่มีค่าการย่อยได้สูงถือว่า อาหารสัตว์ชนิดนั้นมีคุณค่าอาหารสัตว์ดี หรือคุณภาพดี หมายความว่า สารอาหารถูกนำไปใช้หล่อเลี้ยงร่างกายได้มาก เช่น เมล็ดข้าวโพด มีค่าการย่อยได้ร้อยละ ๘๐ ใบข้าวโพดมีค่าการย่อยร้อยละ ๕๕ แสดงว่า เมล็ดข้าวโพดมีคุณค่าอาหารสัตว์ดีกว่า
การวัดค่าการย่อยได้ของอาหารสัตว์ด้วยวิธีไนลอนแบกเทคนิค
ส่วนการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของอาหารสัตว์ เป็นการแยกหาสัดส่วนของสารอาหารต่างๆ โดยขั้นแรก แยกเป็นส่วนของน้ำ หรือความชื้น กับวัตถุอาหารที่ปราศจากความชื้น โดยการไล่ความชื้น ด้วยความร้อนในตู้อบ ซึ่งองค์ประกอบส่วนหลังนี้ เรียกว่า วัตถุแห้ง จากวัตถุแห้งแยกส่วน โดยการเผาได้แร่ธาตุรวมเรียกว่า เถ้า ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ ส่วนที่ถูกเผาไหม้หายไป เป็นส่วนประกอบของอินทรีย์วัตถุ ประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน กากและคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง
ในการวัดค่าของการย่อยได้ โดยสูตรข้างต้น เราใช้ปริมาณของวัตถุแห้งเป็นเกณฑ์คำนวณ เช่น ค่าการย่อยของโปรตีน ไขมัน กาก และแป้ง ผลรวมของค่าการย่อยได้ทั้งหมดนี้ เรียกว่า ยอดรวมโภชนะที่ย่อยได้ คิดเป็นร้อยละของอาหารที่กินได้ทั้งหมด โดยคิดคำนวณจากวัตถุแห้ง ดังนี้
สูตรคำนวณยอดรวมโภชนะที่ย่อยได้
จำนวนร้อยละของยอดรวมโภชนะที่ย่อยได้ = (โปรตีนย่อยได้)+2.5 (ไขมันย่อยได้)+(กากย่อยได้)+(แป้งย่อยได้)
การทดลองกับสัตว์ใช้เวลานาน ปัจจุบันมีวิธีการใหม่ ทดลองในหลอดแก้ว โดยใช้น้ำของเหลวจากกระเพาะโค ผสมกับอาหารที่ต้องการ ในหลอดทดลอง นำเข้าบ่มที่อุณหภูมิ ๔๐ องศาเซลเซียส นาน ๗๒ ชั่วโมง เติมสารตัวเร่ง (เพปซิน) ช่วยย่อย ก็ได้ผลใกล้เคียงกับการใช้สัตว์ทดลอง วิธีนี้เรียกว่า อินวิโทรเทคนิค (in vitro technic) อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า ไนลอนแบกเทคนิค (nylon bag technic) ไม่ใช้หลอดทดลอง แต่ใช้ถุงไนลอนบรรจุอาหารในถุงนี้ แล้วนำเข้าบ่มในกระเพาะโคโดยตรง โดยที่ได้เจาะกระเพาะเตรียมไว้ก่อนแล้ว จุลินทรีย์ในกระเพาะโค จะเป็นตัวช่วยย่อยสลายอาหาร
แผนภูมิแสดงขั้นตอนการวิเคราะห์
ประกอบทางเคมีของอาหารสัตว์
การเจาะกระเพาะโค กระทำโดยการผ่าตัดช่องท้องตรงบริเวณสวาบด้านซ้ายของโค ตรงพื้นที่สามเหลี่ยมด้านเหนือติดกับส่วนกระดูกสะโพก ผ่าเป็นช่องกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๙-๑๑ เซนติเมตร เย็บผนังกระเพาะให้ติดกับผนังท้องด้านนอก ทำให้เกิดโพรงสำหรับล้วงเข้าไปในกระเพาะได้ ใช้จุกยางขนาดเดียวกับโพรงอุด โดยอาศัยตะปูเกลียวติดกับจุกยางขันเข้า หรือคลายออกได้ เมื่อต้องการดึงเอาถุงไนลอนออกจากกระเพาะ หลังจากครบกำหนดการย่อย ก็ดึงจุกออก นำเอาถุงไนลอนออกมา และนำไปอบจนแห้งสนิท แล้วชั่งน้ำหนักที่หายไป น้ำหนักที่หายไปคือ น้ำหนักของสารอาหารที่ถูกย่อย โดยจุลินทรีย์ในกระเพาะโค สารอาหารที่เหลือในถุงเป็นพวกกาก หรือส่วนที่ย่อยยาก
การวัดคุณค่าอาหารสัตว์อีกวิธีหนึ่ง เป็นการวัดค่าของพลังงาน โดยการนำตัวอย่างอาหารสัตว์เข้าเผาในอุปกรณ์พิเศษเรียกว่า บอมบ์ แคลอรีมิเตอร์ (bomb caloriemeter) พลังงานที่วัดได้ มีหน่วยเป็นแคลอรี อาหารข้นมีค่าการย่อย หรือพลังงานสูงกว่าอาหารหยาบ เนื่องจากในอาหารหยาบมีกากเยื่อใยสูง ย่อยยาก โดยเฉพาะหากมีสารลิกนิน ซึ่งเป็นสารประกอบในพืชชนิดหนึ่งปนอยู่มาก ทำให้ย่อยยากยิ่งขึ้น