เล่มที่ 14
อาหารสัตว์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เราทำไร่ทำนาปลูกพืชได้เมล็ดพืชเป็นอาหารของมนุษย์ เศษเหลือ หรือวัสดุพลอยได้จากอาหารมนุษย์ นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เราปลูกข้าวได้ข้าวเปลือก เมื่อนำข้าวเปลือกไปสีได้ข้าวสารเป็นอาหารมนุษย์ ส่วนรำ ปลายข้าว ใช้เป็นอาหารสัตว์ ต้นข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวแล้ว เรียกว่า ฟาง ก็เป็นอาหารโคกระบือ เราปลูกถั่วเก็บเมล็ด นำเมล็ดไปหีบน้ำมัน น้ำมันเป็นส่วนประกอบของอาหารมนุษย์ ส่วนกากที่ได้ใช้เป็นอาหารสัตว์ เถาถั่วใช้เป็นอาหารโคกระบือ เราทำการประมง จับปลาในทะเลได้ปลาหลายชนิด ปลาที่ไม่ใช้เป็นอาหารมนุษย์ ใช้ทำเป็นปลาป่น เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ยอดอ้อย ชานอ้อย กากน้ำตาล เป็นเศษเหลือวัสดุพลอยได้จากอ้อย ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบและต้นพืชในวงศ์หญ้า และถั่วบางชนิดเป็นอาหารของสัตว์ประเภทกินหญ้า เช่น โค กระบือ ช้าง ม้า แพะ และแกะ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า อาหารสัตว์ส่วนใหญ่ได้มาจากวัสดุพลอยได้ของอาหารมนุษย์นั่นเอง
โคแทะเล็มหญ้าในทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสัตว์ที่สำคัญ
โคแทะเล็มหญ้าในทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสัตว์ที่สำคัญ
อาหารสัตว์

            อาหารสัตว์หมายถึงวัตถุต่างๆ ที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ในการบำรุงร่างกาย และไม่เป็นพิษต่อสัตว์ เช่น รำ ปลายข้าว เมล็ดข้าวโพด ปลาป่น กากถั่วต่างๆ มันสำปะหลัง ตลอดจนหญ้าและพืชในวงศ์ถั่วบางชนิด เรานำเอาวัสดุพลอยได้ จากอาหารมนุษย์เหล่านี้ มาผสมเข้าด้วยกันตามสัดส่วน ที่ต้องการให้เป็นอาหารผสมสำเร็จรูป สำหรับเลี้ยงสัตว์ อาหารสัตว์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์หลายอย่าง เช่น เพื่อเป็นอาหาร เพื่อใช้แรงงาน และเพื่อส่งขายในต่างประเทศ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ เราส่งเนื้อไก่ไปจำหน่ายในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๔,๘๐๐ ล้านบาท การเลี้ยงโคนมของเราก็ก้าวหน้า สามารถผลิตนมได้ประมาณวันละ ๓๐๐ ตัน ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดต่างๆ จำนวน ๔๙ โรง ผลิตอาหารได้กว่า ๓ ล้านตัน ได้อาหารสัตว์ ที่มีคุณภาพดี ทัดเทียมกับของต่างประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ดังนี้ คือ โค ๔.๗ ล้านตัว กระบือ ๕.๙ ล้านตัว สุกร ๔.๒ ล้านตัว ไก่ ๘๔ ล้านตัว และเป็ด ๑๕ ล้านตัว