แหล่งปลูกข้าวฟ่าง
ข้าวฟ่างสามารถขึ้นได้ทั่วไป ในทุกทวีป ในบริเวณที่อุณหภูมิเฉลี่ย ในฤดูร้อนสูงกว่า ๒๐ องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ ตั้งแต่พื้นที่ที่อยู่ในระดับน้ำทะเล จนกระทั่งถึง ๑,๕๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ข้าวฟ่างขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวฟ่างให้ได้ผลิตผลสูง คือ ดินที่มีลักษณะเป็นดินร่วนเหนียวหน้าดินลึก การระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์มาก ลักษณะความเป็นกรด-เบสของดิน ไม่ค่อยจะกระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตของข้าวฟ่าง เท่าใดนัก ข้าวฟ่างขึ้นได้ดีในดินที่มีค่าความเป็นกรด-เบส ตั้งแต่ ๕.๕-๘.๗ และสามารถทนต่อความเป็นเกลือได้ดีกว่าข้าวโพด
ข้าวฟ่างเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนประมาณ ๔๐๐-๖๐๐ มิลลิเมตรต่อปี ใบและต้นข้าวฟ่างจะเหี่ยวและแห้งช้ากว่าข้าวโพด เนื่องจากมีสารคล้ายขี้ผึ้งเคลือบผิวใบและลำต้น ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียน้ำได้ นอกจากนี้ข้าวฟ่างยังมีระบบรากมากกว่าข้าวโพดจึงหาน้ำและอาหารได้ดีกว่า ทำให้ข้าวฟ่างทนแล้ง ได้ดีกว่าข้าวโพด
| กราฟแสดงผลิตผลข้าวฟ่างทั่วโลกในพื้นที่ประมาณ ๒๗๔ ล้านไร่ พ.ศ. ๒๕๓๐ |
แหล่งผลิตข้าวฟ่างที่สำคัญของโลกได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกากลาง ซึ่งผลิตข้าวฟ่างได้ประมาณร้อยละ ๔๓ ของผลิตผลทั่วโลก ทวีปเอเชียผลิตได้เกือบร้อยละ ๒๖ ทวีปแอฟริกาผลิตได้ร้อยละ ๒๐ ประเทศลาตินอเมริกา และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย ผลิตได้ประมาณร้อยละ ๘ และ ๖ ตามลำดับ ทวีปยุโรปผลิตได้น้อยที่สุด คือ ประมาณร้อยละ ๐.๖ ของผลิตผลทั่วโลก
พื้นที่เพาะปลูกข้าวฟ่างทั่วทั้งโลก ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ มีประมาณ ๒๗๔ ล้านไร่ ผลิตข้าวฟ่างได้ประมาณ ๕๙ ล้านต้น ผลิตผลเฉลี่ย ของข้าวฟ่างทั่วโลกประมาณ ๒๑๖ กิโลกรัมต่อไร่ ประเทศที่ผลิตข้าวฟ่างมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (๑๘.๘ ล้านตัน) รองลงไป คือ อินเดีย (๙.๔ ล้านตัน) สาธารณรัฐประชาชนจีน (๖.๑ ล้านตัน) เม็กซิโก (๔.๘ ล้านตัน) ไนจีเรีย (๔.๕ ล้านตัน) และยังมีประเทศ ที่ผลิตข้าวฟ่างได้มากรองลงไป ได้แก่ อาร์เจนตินา ซูดาน ออสเตรเลีย และเอธิโอเปีย ประเทศในยุโรปที่ผลิตข้าวฟ่างมาก ได้แก่ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสเปน ประเทศที่ผลิตส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการบริโภคของคน และเป็นอาหารสัตว์ภายในประเทศ ไม่ได้ผลิตเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ประเทศที่ผลิตข้าวฟ่างหลังจากใช้ภายในประเทศแล้วยังมีเหลือส่งจำหน่าย รายใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รองลงมา ได้แก่ ประเทศอาร์เจนตินา
สำหรับประเทศไทยนั้นสามารถปลูกข้าวฟ่างได้เกือบทุกภาคของประเทศ เว้นแต่ภาคใต้ ซึ่งแทบจะไม่มีรายงานว่า มีการปลูกข้าวฟ่าง พบว่า มีการปลูกเล็กๆ น้อยๆ ในบริเวณบ้าน เพื่อใช้เป็นอาหารนก และอาหารไก่เท่านั้น จากสถิติเพาะปลูกปี ๒๕๓๐-๒๕๓๑ (เมษายน ๒๕๓๐-ธันวาคม ๒๕๓๑) ภาคกลางผลิตข้าวฟ่างได้มากที่สุด คือ ผลิตได้ประมาณ ๙๔,๒๓๑ ตัน จากพื้นที่เพาะปลูก ๕๓๒,๑๑๔ ไร่ รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ ผลิตได้ ๙๐,๑๖๗ ตัน แต่มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าภาคกลาง คือ ๕๓๓,๗๕๒ ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกเพียง ๓๙,๔๓๘ ไร่ และผลิตได้เพียง ๗,๒๓๙ ตัน ผลิตผลเฉลี่ย ของทั้งประเทศ ประมาณ ๑๙๒ กิโลกรัมต่อไร่ แหล่งปลูกข้าวฟ่างส่วนใหญ่เป็นบริเวณเดียวกับแหล่งปลูกข้าวโพด จังหวัดที่ผลิตข้าวฟ่างที่สำคัญ ได้แก่ ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระบุรี อุทัยธานี และนครราชสีมา ในบริเวณนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ จะปลูกข้าวฟ่างเป็นพืชที่สองในปลายฤดูฝนหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพด ซึ่งปลูกเป็นพืชแรกตอนต้นฤดูฝนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีปลูกกันมากพอสมควร ทางแถบจังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี