ประวัติข้าวฟ่างในประเทศไทย
ข้าวฟ่างที่ปลูกครั้งแรกในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่า เป็นข้าวฟ่างคั่ว พวกข้าวฟ่างหางช้าง ซึ่งส่วนใหญ่ จะปลูกกันตามรั้วบ้านเขตที่ดิน หรือคันนา และเนินดิน ในปริมาณไม่มากนัก ข้าวฟ่างพวกนี้มีลักษณะของเมล็ดค่อนข้างเรียวเล็ก สีขาวข้างในเป็นแป้งใส สีออกเหลืองเรื่อๆ ช่อรวงกระจายแบบรวงข้าว ต้นสูง ค่อนข้างใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นกับระยะเวลาของการปลูก ถ้าปลูกปลายฤดูฝนคือ ประมาณกลางเดือนสิงหาคม ต้นจะเตี้ยและผอม ออกดอกติดเมล็ดเร็วกว่าปลูกต้นฝนมาก เพราะเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะไวต่อช่วงแสง การนำข้าวฟ่างพวกนี้เข้าสู่ประเทศไทยนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่า เข้ามาได้เมื่อใด และอย่างไร แต่สันนิษฐานว่า พวกชาวเขาเป็นผู้นำเข้ามา เพือใช้คั่วรับประทาน ปัจจุบันพบว่า ข้าวฟ่างชนิดนี้ใช้เป็นอาหารนก ใช้คั่วและเปียก เป็นขนมรับประทานกันอยู่บ้าง ในหมู่คนไทยในชนบททั่วๆ ไป รวมทั้งในจังหวัดภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ มีส่งไปขายยังประเทศญี่ปุ่นบ้าง เพื่อใช้คั่ว ชงน้ำรับประทาน เช่นเดียวกับลูกเดือย ข้าวฟ่างที่ปลูก เพื่อใช้เมล็ดเป็นอาหารสัตว์นั้น คนไทยจัดเป็นพืชใหม่กว่าข้าวโพดมาก แต่ข้าวฟ่างชนิดนี้ในปัจจุบันปลูกกันมากกว่าข้าวฟ่างชนิดอื่นๆ ข้าวฟ่างเมล็ดนี้ ได้รับการนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อปลูกในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยมีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อนำส่วนต้นมาใช้เลี้ยงสัตว์ นำมาปลูกที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง จังหวัดสระบุรี ข้าวฟ่างที่นำเข้ามาในช่วงนั้น เป็นข้าวฟ่างพวกเฮการีต้นเตี้ย เมล็ดสีขาว แต่เมื่อปลูกแล้ว ปรากฏว่า ให้ผลิตผลเมล็ดดี และเมล็ดใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดีด้วย จึงคัดพันธุ์ไว้ เพื่อปลูกเป็นข้าวฟ่างเมล็ด แล้วแพร่หลายต่อไปในนามของพันธุ์ "ทับกวางต้นเตี้ย" ซึ่งเกษตรกรใช้ปลูกต่อมาอีกหลายปี
ข้าวฟ่างพันธุ์เฮการีหนัก
ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๐๕ นักวิชาการของสถานีทดลองพืช และสถานีทดลองปศุสัตว์ ได้นำข้าวฟ่างพันธุ์ต่างๆ อีกหลายพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาปลูก ศึกษา เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสม และให้ผลิตผลสูงกว่าพันธุ์เดิม แต่ปรากฏว่า ข้าวฟ่างพวกพันธุ์เฮการี ยังเป็นพันธุ์ที่ให้ผลิตผลดี ทั้งในด้านของผลิตผลต้นสด และผลิตผลเมล็ดอยู่
ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการข้าวฟ่างเมล็ดสีอื่นนอกเหนือไปจากเมล็ดสีขาว จึงได้นำเอาข้าวฟ่างพันธุ์ต่างๆ ที่มีสีเมล็ดแตกต่างไปจากสีขาว เช่น สีเหลือง แดง แสดจากสหรัฐอเมริกา เข้ามาปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์เฮการีเดิม นอกจากนี้ ทางมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ยังได้นำพันธุ์ข้าวฟ่าง ที่คัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ในประเทศอินเดียเข้ามาทดลองปลูกด้วย พันธุ์ที่นำเข้ามาในระยะนี้นั้น มีพันธุ์เฮการีเบาต้นเตี้ย และพันธุ์เฮการีหนักต้นสูงรวมอยู่ด้วย ปรากฏว่า พันธุ์เฮการีหนักให้ผลิตผลสูงที่สุด พันธุ์นี้จึงได้กระจายไปในหมู่เกษตรกรที่สนใจ จนกลายเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกทั่วไป แม้แต่ในปัจจุบัน สายพันธุ์พวกเมล็ดสีแดงในช่วงนั้นยังไม่มีพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย คือ ต้นเจริญเติบโตไม่ค่อยดี เป็นโรคมาก
ข้าวฟ่างลูกผสมพันธุ์เคยู ๐๐๕
ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ได้นำพันธุ์ข้าวฟ่าง ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากประเทศอินเดีย เข้ามาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างของไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่มีเนื้อในเมล็ดแข็งใสสีเหลือง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นอย่างจริงจังในการปรับปรุง และพัฒนาพันธุ์ข้าวฟ่าง จนกระทั่งได้พันธุ์ต่างๆ ที่ใช้ปลูกอยู่ในปัจจุบัน
ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๖ ได้มีการปลูกทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ข้าวฟ่างต่างๆ พบว่า พันธุ์ ไอเอส ๘๗๑๙ อี๑๗๓ (IS 8719 E 173) ซึ่งมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์นำมาจากอินเดีย ให้ผลิตผลสูงที่สุด แต่พันธุ์นี้มีข้อเสีย คือ ต้นสูงใหญ่เก็บเกี่ยวลำบาก เมล็ดมีสีน้ำตาล และมีปริมาณของสารแทนนิน (tannin) สูง สารนี้เป็นสาเหตุทำให้คุณค่าอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ด้อยลงไป แต่ก็มีผู้นิยมปลูกอยู่มาก เพราะทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เลวได้ดี นกไม่ทำลายเมล็ด เพราะมีรสขมฝาด ไม่เหมือนข้าวฟ่าง ที่มีเมล็ดสีเหลือง และข้าวฟ่างเฮการี ซึ่งมีเปลือกนอกของเมล็ดสีขาว พันธุ์นี้เหมาะที่จะปลูกช่วงปลายฤดูฝน เนื่องจาก เป็นพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสง ในปัจจุบันพันธุ์นี้ได้เลิกปลูกไปแล้ว
ช่อรวงหญ้าไข่มุก
หลังจากนั้น ใน พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๒๕ ได้มีการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่าง ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ รวมทั้งมีการริเริ่มผลิตข้าวฟ่างลูกผสม เพื่อการค้า โดยได้รับเชื้อพันธุกรรม (germplasm) จากสถาบันวิจัยทางการเกษตรนานาชาติหลายแหล่ง และจากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ของเอกชน ในช่วงเวลานี้ยังได้มีการศึกษาธัญพืชเมล็ดเล็ก และข้าวฟ่างชนิดอื่นๆ เช่น หญ้าไข่มุก ข้าวฟ่างหางกระรอก ข้าวฟ่างหางช้าง ข้าวฟ่างหวาน และข้าวฟ่างไม้กวาด ตลอดจนได้มีการแนะนำให้เกษตรกรรู้จัก และทดลองปลูกธัญพืช และข้าวฟ่างเหล่านี้อีกด้วย
พันธุ์ข้าวฟ่างที่ใช้ปลูกอยู่ในปัจจุบันมีทั้งพันธุ์แท้ หรือพันธุ์บริสุทธิ์ และพันธุ์ลูกผสมมากมายหลายชนิด เมล็ดมีสีต่างๆ ตามความต้องการของผู้ปลูก พันธุ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากการวิจัย และพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ของทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน มีผลให้การปลูกข้าวฟ่างในประเทศไทยขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว