ลักษณะทั่วไปของข้าวฟ่าง ข้าวฟ่างมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซอร์กัม ไบ คัลเลอร์ (ลินเนียส) โมเอนช์ (Sorghum bicolor (Linnaeus) Moench) จัดเป็นพืชตระกูลหญ้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะมีลำต้นเดียว แต่อาจจะแตกกอหรือหน่อได้ แล้วแต่ชนิดและพันธุ์ของข้าวฟ่าง โดยทั่วไป ข้าวฟ่างพวกที่ใช้ประโยชน์จากเมล็ด จะไม่มีการแตกหน่อ ยกเว้นกรณีที่ต้นเดิมหรือยอดถูกทำลายไป ก็จะมีการแตกหน่อขึ้นมาใหม่ ข้าวฟ่าง ส่วนใหญ่เป็นพืชฤดูเดียว หรือล้มลุก คือ ออกดอก ให้เมล็ด แล้วก็ตายไป แต่มีข้าวฟ่างหลายประเภท ที่สามารถอยู่ข้ามปีได้ โดยการแตกกอจากต้นเดิม |
ส่วนต่าง ๆ ของต้นข้าวฟ่าง |
ส่วนประกอบที่สำคัญของข้าวฟ่างมีดังนี้ คือ ราก ข้าวฟ่างมีระบบรากฝอย (fibrous root system) รากที่เกิดจากเมล็ดโดยตรงมีรากเดียว และจะมีรากเล็กๆ แตกออกมาจากรากนี้ เรียก ว่ารากแขนง เมื่อต้นอ่อนของข้าวฟ่างใช้อาหาร จากคัพภะ หรือเอ็มบริโอ (embryo) จวนหมด จะเริ่มมีรากเป็นจำนวนมาก แตกออกจากข้อของลำต้น ที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งจะแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งแนวราบ และแนวลึก รากของข้าวฟ่างนี้ มีปริมาณมากกว่ารากข้าวโพดประมาณ ๒ เท่า นอกจากนี้แล้ว ตรงปลายรากชั้นในยังมีสารประกอบพวกซิลิกาอยู่ด้วย ทำให้รากข้าวฟ่างแข็งแรง สามารถชอนไชไปในดินได้ดีกว่ารากข้าวโพด จึงทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่า ตรงข้อเหนือดิน อาจมีรากแตกออกมา รากพวกนี้เป็นรากอากาศ ซึ่งช่วยในการค้ำจุนลำต้นไม่ให้ล้มได้ง่าย ลำต้น ลำต้นข้าวฟ่างมีความสูงแตกต่างกัน ตั้งแต่ ๔๕ เซนติเมตร ถึงกว่า ๔ เมตร แต่ข้าวฟ่างที่นิยมปลูกกันทั่วไป จะมีลำต้นสูงประมาณ ๑-๒ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นอยู่ระหว่าง ๕ มิลลิเมตร ถึง ๓ เซนติเมตร ลำต้นจะเจริญเติบโตตั้งตรงเหมือนพืชทั่วไป ลำต้นจะมีข้อ ปล้อง ใบ และกาบใบ ห่อหุ้มอยู่ ทุกๆ ข้อของต้นจะมีตา แต่จะไม่มีการเจริญ ยกเว้นตาตรงข้อต่ำสุด ที่จะเจริญเป็นหน่อหรือกอ และกิ่งก้าน ซึ่งจะกลายไปเป็นต้นใหม่ได้ ลำต้นของข้าวฟ่างค่อนข้างแข็ง ภายในลำต้น จะมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีรูอยู่ตรงแกนกลาง บางพันธุ์มีน้ำ ซึ่งอาจมีรสหวาน หรือไม่มีรสเลย และบางพันธุ์อาจแห้ง ใบ ข้าวฟ่างที่ปลูกอยู่ทั่วไป มีใบอยู่ระหว่าง ๗ ถึง ๒๔ ใบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ใบอ่อนของข้าวฟ่างตั้งตรง ขณะที่ใบแก่โค้งลง ใบจะเกิดตามข้อ และสลับด้านกันไปตลอดลำต้น ใบแก่มีความยาวของใบตั้งแต่ ๓๐- ๑๓๕ เซนติเมตร ความกว้างของใบอยู่ระหว่าง ๑.๕-๑๕ เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอก หรือใบหอกเรียวๆ ขอบใบอาจมีลักษณะเรียบตลอด หรือเป็นคลื่น ใบอ่อนขอบใบจะสากมือ และใบแก่จะเรียบลื่น บนเส้นกลางใบใกล้กับฐานใบ จะมีขนสั้นๆ ส่วนที่ผลิตขี้ผึ้ง จะอยู่ตรงบริเวณข้อต่อของเส้นกลางใบกับกาบใบ กาบใบ กาบใบจะหุ้มอยู่รอบต้น โดยซ้อนวน เริ่มจากขวาทับซ้าย แล้วซ้ายทับขวา กาบใบอาจจะมีความยาวตั้งแต่ ๑๕-๓๕ เซนติเมตร ด้านหน้าของกาบใบ อาจมีขี้ผึ้งปกคลุมอยู่ตรงฐานหรือโคนของกาบใบ ส่วนที่ติดกับข้อจะมีแถบขนสั้นๆ สีขาวติดอยู่ด้วย |
ส่วนต่าง ๆ ของช่อดอกและกาบใบข้าวฟ่าง |
ช่อดอก ช่อดอกข้าวฟ่างเกิดจากปล้องบนสุดของต้น ซึ่งจะเป็นปล้องที่ยาวที่สุดด้วย ช่อดอก ประกอบด้วย ก้านช่อดอก แกนกลางของช่อดอก กิ่งแขนง และกิ่งย่อยช่อดอก ซึ่งเป็นที่เกิดของดอกและเมล็ด ดอกของข้าวฟ่างมีอยู่ ๒ ชนิด ชนิดแรกเป็นดอกที่ไม่มีก้าน ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศ และจะพัฒนาไปเป็นเมล็ด ดอกอีกชนิดหนึ่ง เป็นดอกที่มีก้านดอก ดอกชนิดนี้จะเป็นหมัน มีแต่เกสรตัวผู้เท่านั้น ช่อดอกของข้าวฟ่างจะมีลักษณะหลวมหรือแน่น สั้นหรือยาว และอาจตั้งตรงหรือโค้ง ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ ของข้าวฟ่าง พวกข้าวฟ่างไม้กวาด หญ้าซูดาน และข้าวฟ่างหวานบางพันธุ์ มักจะมีช่อดอกหลวมมาก ส่วนข้าวฟ่างเมล็ด โดยทั่วไป มักจะมีช่อดอกแน่น และมีจำนวนเมล็ดมากกว่า จำนวนดอกสมบูรณ์ในแต่ละช่อดอก อาจมีถึง ๖,๐๐๐ ดอก ปกติแล้ว การบานของดอกข้าวฟ่างตลอดทั้งช่อดอก ใช้เวลาประมาณ ๖-๙ วัน ในท้องถิ่นที่มีอากาศเย็นอาจใช้เวลานานกว่านั้น โดยธรรมชาติ ข้าวฟ่างเป็นพืชผสมตัวเอง คือ เกสรตัวผู้ผสมกับเกสรตัวเมีย ภายในต้นเดียวกัน แต่อาจจะมีการผสมข้าม โดยเกสรตัวผู้จากต้นหนึ่ง ไปผสมกับเกสรตัวเมียของอีกต้นหนึ่ง โดยลมหรือแมลงได้ถึงร้อยละ ๑๕ |