เล่มที่ 15
ผ้าไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สมัยเชียงแสนหรือล้านนาไทย (พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๔)

            "เชียงแสน" ปัจจุบันเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย นักโบราณคดีได้กำหนดแบบศิลปกรรมภาคเหนือขึ้น เรียกว่า ศิลปะเชียงแสน

            อาณาจักรเชียงแสน หรือปัจจุบันนิยมเรียกว่า อาณาจักรล้านนาไทย เพื่อให้มีความหมายกว้างขึ้นหมายถึง เมืองต่างๆ ทางภาคเหนือ หรือเขตจังหวัดต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน เป็นต้น อาณาจักรนี้มีความเจริญ มีอารยธรรม และวัฒนธรรมเป็นแบบหนึ่งโดยเฉพาะ

            พงศาวดารเมืองหริภุญไชย กล่าวถึงความเจริญของบริเวณภาคเหนือ โดยเฉพาะที่เมืองหริภุญไชย ซึ่งคือ ลำพูนในปัจจุบันว่า เจริญมาแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พระนางจามเทวี พระราชธิดากษัตริย์ละโว้เสด็จไปครองเมืองหริภุญไชย เมืองนี้เจริญสืบต่อมา จนถึงสมัยที่พระเจ้าเม็งราย เสด็จจากเชียงแสนมาสร้างเมืองเชียงใหม่ ศูนย์กลางของภาคเหนือ จึงย้ายจากลำพูนมาอยู่ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๓๙ เป็นต้นมา

            อาณาจักรล้านนามีผ้าใช้กันแล้ว เช่นเดียวกับอาณาจักรอื่นๆ ในยุคเดียวกัน หรือที่เจริญในระยะเวลาร่วมสมัยกัน ในการทำบุญทางศาสนา มีการถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ซึ่งมีผ้ารวมอยู่ด้วย เช่น ถวายจีวรห่มแก่พระ และผ้าอื่นๆ ให้เป็นทานแก่คนยากจน มีผ้าแพร ผ้าสักหลาด ผ้าสีจันทน์ขาว ผ้าสีจันทน์แดง ผ้าสีดอกจำปา และผ้าธรรมดา พวกชนชั้นสูงมีผ้ากัมพลใช้พันเอว ในทางศาสนาผ้าที่เป็นเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ มีรัดประคด ผ้าผลัดอาบน้ำ อาสนะปูนั่ง ผ้าปูลาด และผ้ากรองน้ำ นอกเหนือไปจากไตรจีวร

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน แสดงให้เห็นการแต่งกายของชาวเหนือที่ใช้ผ้าและลวดลายแบบไทย

            เราได้ความรู้จากพงศาวดารนั้นอีกว่า ทหารแต่งกายด้วยผ้าสีเขียว ชาวเมืองที่เดือนร้อนได้รับแจกผ้านุ่งห่ม ผ้าเหล่านี้คงจะทอขึ้นใช้เองภายในเมือง จิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน แสดงให้เห็นการแต่กายของชาวเหนือ โดยเฉพาะผ้านุ่งของผู้หญิง แสดงลวดลายของผ้าซิ่น ซึ่งเรียกว่า ลายน้ำไหล ยังมีใช้กันอยู่ทางภาคเหนือในปัจจุบัน นอกจากนี้จิตรกรรมที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ และที่อุโบสถ วัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ที่วิหารพระเจ้าล้านทอง รอบศาลาการเปรียญ วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ล้วนแสดงให้เห็นถึงลักษณะลวดลายผ้าไหม และผ้าซิ่นที่ใช้สืบต่อกันเรื่อยมา

            ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน ได้กล่าวไว้ ตอนหนึ่งว่า "เมื่อขุนเจื๊อง (เจียง) รับคำท้ารบของ พระยาแมนตาตอกครอบฟ้าตาหยืดแล้ว เห็นว่าตน จะแพ้แน่แล้ว ก็เปลื้องเสื้อและผ้าพันพระเศียรใส่ ผอบทองคำ ใช้อำมาตย์คนหนึ่งเอากลับมาให้นางอัครมเหสี" ในตำนานพระธาตุแช่แห้ง จังหวัด แพร่ ก็มีข้อความว่า "...เมื่อปี (พ.ศ.) ๒๓๖ พระโสณะและพระอุตตระ ได้นำเอาพระเกษามาบรรจุที่เขานี้ เจ้าผู้ครองนครแพร่ในเวลานั้นมี พระนามว่า เจ้าก้อม หรือสระอ้ายก้อม มีความเลื่อมใสมาก จึงเปลื้องเอาผ้าแพร (คนพื้นเมืองเรียก ผ้าแฮ) ซึ่งโพกศีรษะออกรองรับพระเกษา..."

            ตำนานทั้งสองนี้แสดงว่า ในสมัยเชียงแสน หรือ ล้านนาไทย คนไทยรู้จักนำผ้ามาตัดเย็บเป็นเสื้อสวมใส่ และนำผ้าแพรมาพันโพกศีรษะ ซึ่งคงไว้ผมยาวและมุ่นมวยไว้