สมัยสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๙๖๓)
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงบอกให้เราทราบว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดาของพระองค์ ได้ประกาศตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐
ในจดหมายเหตุของราชทูตจีน หรือบันทึกพวกพ่อค้า มีข้อความกล่าวถึงผ้าที่ใช้ในสมัยนั้นอยู่บ้าง ดังเช่น ผ้าที่นำมาทำเป็นฉลองพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน "...เสี่ยงอี่ (ภูษาเฉียง) ยาวสามเชียะ ใช้แพรตึ้งห้าสี เหียอี (ภูษาทรง) ทำด้วยด้ายห้าสี เอ๋ย, บ๊วย (ฉลองพระบาท,ถุงพระบาท) ทำด้วยแพรตึ้งสีแดง... ใช้ผ้าขาวพันศีรษะ ใช้หมวกทำด้วยแพรตึ้ง และทำด้วยกำมะหยี่ นุ่งห่มใช้ผ้าสองผืน... ผ้าห่มทำด้วยด้ายห้าสียกดอก ผ้านุ่งทำด้วยด้ายห้าสี แต่เอาไหมทองยกดอก..."
บันทึกนี้บอกให้ทราบได้ว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นผ้าที่มีค่า คือ ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้ากำมะหยี่ และรองลงมาคือ ผ้าที่ท่อด้วยด้ายหรือฝ้าย และย้อมเป็นสีต่างๆ ที่เรียกว่า ห้าสี คงได้แก่ สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว และสีเหลือง ครั้งนั้น เรียกว่า ผ้าเบญจรงค์ คนจีนในสมัยนั้นเรียกคนไทยว่า "เสียน" และว่าคนไทยทอผ้าได้ดี รู้จักเย็บผ้า ซึ่งในสมัยนั้น นับเป็นเทคนิคใหม่และยาก ดังบันทึกของโจวต้ากวาน พ.ศ. ๑๘๙๓ ว่า "ชาวเสียนใช้ไหมทอเป็นผ้าแพรบางๆ สีดำ ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ผู้หญิงเสียนนั้นเย็บชุนเป็น...." คราวที่กรุงสุโขทันรับรองพระมหาเถรจากนครพัน มาจำพรรษา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ กษัตริย์ได้รับสั่งให้ใช้ผ้าเบญจรงค์ปูลาดพื้น "...แล้วเสด็จให้ปูลาด ซึ่งผ้าเบญจรงค์ ไม่ให้พระบาทลงยังพื้นธรณีทุกแห่ง..." การใช้ผ้าหรือพรมปูลาดพื้นต้อนรับพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระสังฆราชในการเสด็จพระราชดำเนินนั้น เป็นประเพณีของไทยมาช้านาน ถือว่า เป็นการแสดงคารวะอย่างสูง
หมอนนั่งซึ่งใช้ผ้าไทยนำมาตกแต่งลวดลายให้สวยงาม
หนังสือไตรภูมิพระร่วง ทำให้เราทราบถึงผ้าที่นำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น ผ้าขาวเนื้อดี ซึ่งเรียกว่า ผ้าสุกุลพัตร์ ผ้าเล็กหลก ผ้าสำลี ผ้าชมพู ผ้าหนง ผ้ากรอบ หลักฐานต่างๆ ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คนไทยแม้มีความเชี่ยวชาญในการทอผ้า แต่ก็นิยมสั่งซื้อผ้าจากต่างประเทศ เช่น จีนและอินเดียด้วย ส่วนการทอนั้น น่าจะเกิดจากประสบการณ์ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานานดังคำที่กล่าวว่า "...หน้าแล้งผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก..." นอกจากจะสั่งซื้อผ้าไหมจากจีนแล้ว เวลาที่ไทยส่งราชฑูตไปเฝ้าพระจักรพรรดิจีน หรือพระจักรพรรดิจีนส่งราชฑูตมาตอบแทน ก็มักจะส่งเครื่องราชบรรณาการตอบแทนด้วย ในบรรดาเครื่องราชบรรณาการเหล่านี้ จะมีผ้ารวมอยู่ด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นผ้าแพร โดยส่งมาเป็นร้อยๆ ม้วน แพรนี้มีหลายชนิด แต่ที่เป็นเครื่องราชบรรณาการ มักเป็นแพรหมังตึ้ง นอกจากผ้าจากเมืองจีนแล้ว ยังมีผ้าจากอินเดียวมาจำหน่ายด้วย ได้แก่ ผ้าเบงกะลี หรือเจตครี
นอกจากจะใช้ผ้าทำเครื่องนุ่งห่มแล้ว ก็ยังนำผ้ามาตกแต่งบ้านเรือน ทำหมอนนั่ง หมอนนอน ฟูก ธงทิว สัปทน ม่าน ฯลฯ ในการทำบุญจะมีผ้าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง โดยถวายเป็นจีวรบ้าง ผ้าเช็ดหน้าบ้าง ถวายเป็นกองก็มี เป็นผืนๆ ก็มี บางครั้งนำผ้าแพรมาสอดกากะเยีย ซึ่งเป็นที่ตั้งรองคัมภีร์ใบลานในเวลาอ่านหนังสือต่างโต๊ะเล็กในปัจจุบัน บางครั้งนำมาทำผ้าสมุดลายปัก สำหรับห่อพระคัมภีร์ที่จารบนใบลาน เป็นต้น