สมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐)
การใช้ผ้าในสมัยกรุงศรีอยุธยาระยะแรกๆ คงคล้ายกับสมัยสุโขทัยคือ ใช้ผ้าที่ทอได้ในประเทศ และที่ซื้อจากจีนและอินเดีย ต่อมาระยะหลัง เมื่อมีการค้ากับชาวยุโรป จึงนิยมผ้าจากยุโรปอีกด้วย
ตำนานวังเก่า ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ ทำให้ทราบว่า กรุงศรีอยุธยามีแหล่งขายผ้าต่างๆ หลายแห่ง กล่าวได้ว่า เป็นตลาดจำหน่ายผ้าที่ใหญ่มาก ดังความว่า "...บ้านป่าชมภูขายผ้าชมภูคาดราดตคตหนังไก่ ผ้าชมภูเลว ผ้าดิบเลว ย่านป่าไหม ป่าเหล็กฟากถนนซีกหนึ่งขายไหมครุย ไหมฟั่น ไหมเบญจพรรณ ย่านป่าฟูกขายแต่ฟูกแลหมอนเมาะ ย่านทุ่นหมากก็ว่า เสื้อเขียว เสื้อขาว เสื้อจีบเอว เสื้อฉีกอก เสื้อกรอมหัว กางเกงเขียว กางเกงขาว ล่วมสักหลาด ล่วมเลว ถุงหมากสักหลาดปักทองประดับกระจก ถุงหมากเลว ถุงยาสูบปักทองประดับกระจก ถงุยาสูบ ผ้าลายต่างกันสำหรับทิ้งทาน ซองพลูสักหลาดปักทอง ประดับกระจก ซองพลูเลวสักหลาดเขียวแดงแล้วรับผ้าแขกจากวัดแก้วฟ้า วัดลอดช่องมาใส่ร้านขาย ...ป่าหน้าพระกาล มีร้านชำขายหัวไนโครงไนปั่นฝ้าย นอกจากนี้มี ...ย่านป่าผ้าเหลือง ย่านจวนคลังทำหีบฝ้ายขาย ย่านป่าต้องขายฝ้าย"
เครื่องราชบรรณาการจากจีนจะมีผ้ารวมอยู่ด้วย ซึ่งมักจะเป็นผ้าแพร
ย่านทั้งหมดดังกล่าวเป็นแหล่งที่ขายผ้า และของที่เกี่ยวเนื่องกับผ้า จะเห็นว่า มีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้าสองปัก หรือสมปัก เชิงปูม ผ้าปู และผ้าจวน ขายเส้นด้าย และอุปกรณ์การปั่นด้าย แสดงให้เห็นว่า มีการทอผ้ากันมาก นอกจากนี้ยังรู้จักเย็บเสื้อหลายแบบ ทั้งเสื้อจีบเอว เสื้อสวมหัว เสื้อผ่าด้านหน้า ที่เรียกกันครั้งนั้นว่า เสื้อฉีกอก รู้จักเย็บกางเกง และนิยมนุ่งกางเกงด้วย ส่วนของใช้อื่น เช่น ถุงหมาก ถุงยาสูบ ซองพลู ก็ทราบว่า ประดิษฐ์จากผ้าสักหลาดเป็นส่วนมาก และตกแต่งให้สวยงาม ด้วยการปักไหมทอง หรือดิ้นทอง แล้วประดับกระจก ซึ่งน่าจะคล้ายกับถุงต่างๆ ที่ส่งมาจากอินเดียในปัจจุบัน
ใน พ.ศ. ๑๙๕๑ แผ่นดินสมเด็จพระนครินทราธิราช มีหลักฐานว่า ในการทำบุญต่างๆ มักมีการบรรจุของมีค่าลงในสถูปเจดีย์ ไม่ว่าจะเป็นทองหรือสิ่งใด และจะเทียบราคาเป็นจำนวนผ้า คล้ายกับการตีราคาทาสด้วยจำนวนผ้า มีข้อความในจารึกแผ่นเงินหลักที่ ๔๘ ว่า "...ธ ให้ทาน ทองแปดตำลึง ตลับอันหนึ่ง ค่าผ้าล้านหนึ่ง..." กับปรากฏชื่อผ้าพิจิตรพัสตร์ และผ้าสนอบลาย
สถานที่ขายผ้าในกรุงศรีอยุธยา ยังมีอีกย่านหนึ่ง เรียกว่า ย่านฉะไกรใหญ่ ขายผ้าสุหรัด และผ้าขาว ที่วัดลอดช่องก็มีพวกแขกจามทอผ้าไหม กับผ้าด้ายขาย ย่านวัดขุนพรหมเขียนผ้าพิมพ์ แสดงว่า ผ้าพิมพ์นั้น ภายในกรุงศรีอยุธยาก็มีทำที่ย่านวัดขุนพรหมด้วย นอกจากนี้ยังมีผ้าทอจากหัวเมืองมาขาย เช่น จากโคราช มีผ้าตาราง นอกจากนี้ยังมีผ้าสายบัว ผ้าขาวม้าแดง ซึ่งเมืองลพบุรี ส่งเป็นส่วย (ของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองจำนวนหนึ่ง ส่งเป็นภาคหลวง ตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากร ในสมัยโบราณ)
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นแหล่งค้าผ้าที่สำคัญของพ่อค้า นอกจากผ้า ซึ่งเราทอเองแล้ว ยังมีผ้าสั่งเข้ามาจากเมืองจีน อินเดีย และประเทศทางยุโรป เช่น อังกฤษ ฮอลันดา ในเวลาต่อมาด้วย
ผ้าสมปัก
การที่มีผ้ามากมายมาซื้อขายกันที่กรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยนิสัยของคนไทย ซึ่งพ่อค้ารู้ดีคือ คนไทยชอบเปลี่ยนแบบ และลายเขียนบนเสื้อผ้าอยู่เป็นนิจ สินค้าที่ขายดีในกรุงสยามได้แก่ ผ้าชนิดต่างๆ จากอินเดีย จากสุรัต และคาบลู นอกจากนี้ก็ได้แก่ ผ้าต่างๆ จากฝั่งโคโรมันเดล และการค้าขายผ้าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงขาย และทรงควบคุมการส่งสินค้าผ้า ออกไปยังหัวเมืองต่างๆ ที่นั่นจะมีคลังสินค้าตั้งอยู่ ทำหน้าที่ขายของต่างๆ ให้กับประชาชน การใช้ผ้าในสมัยนั้น มิได้นำมานุ่งห่มแต่อย่างเดียว แต่คนไทยนิยมนำผ้ามาตกแต่งอาคาร บ้านเรือน และทำเป็นเครื่องใช้อย่างอื่นอีกด้วย เช่นเดียวกับยุคก่อนๆ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความนิยมให้ลักษณะของผ้าเป็นเครื่องแสดงฐานะ และตำแหน่งของผู้สวมใส่ ข้าราชการที่ทำความดีความชอบ พระเจ้าแผ่นดินก็จะทรงมีบำเหน็จรางวัลให้ และของอย่างหนึ่งที่ใช้ปูนบำเหน็จรางวัลก็คือ ผ้า ขุนนางจะรับพระราชทานผ้าสมปักไว้นุ่งเข้าเฝ้า ผ้าพระราชทานนี้เปรียบเสมือนเงินเดือน แต่พระราชทานรายปี เรียกว่า ผ้าหวัดรายปี ผ้าสมปักมีหลายชนิด
สำหรับฐานะ และตำแหน่งแตกต่างกัน เช่น สมปัก ลายหัวหมื่นนายเวรใช้ สมปักไหมเจ้ากรมปลัดกรมใช้ ส่วนมหาดเล็กใช้ผ้าลาย บางทีการนุ่งผ้าสมปักก็ขึ้นอยู่กับโอกาส หรือพิธีบางอย่างอีกด้วย
ในการนำผ้ามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มนั้น คนไทยมีความเชื่อในเรื่องสีด้วย ซึ่งมาจากการเชื่อถือเรื่อง เทวดาสัปตเคราะห์ หรือแม่ซื้อ ๗ องค์ แต่ละองค์มีสีกายแตกต่างกันไป ซึ่งก็คือ สีประจำวันทั้งเจ็ดนั่นเอง นั่นคือ วันอาทิตย์สวมเสื้อผ้าสีแดง วันจันทร์สวมสีขาวนวล วันอังคารสวมสีชมพู วันพุธสวมสีเขียว วันพฤหัสบดีสวมสีเหลืองอ่อน วันศุกร์สวมสีฟ้าอ่อน และวันเสาร์สวมสีดำ คนโบราณกำหนดวันนุ่งผ้าใหม่เป็นแบบข้างขึ้นข้างแรม เช่น ขึ้น ๔, ๖, ๙ ค่ำ ตัดผ้า เย็บผ้า นุ่งผ้าใหม่ดี จะได้ลาภ แรม ๔, ๑๑ ค่ำ ตัดผ้า เย็บผ้า นุ่งผ้าใหม่ดี มีลาภ เป็นต้น