การสวมเสื้อครุยในงานพระราชพิธี ผ้าตาดระกำไหม ผ้ายกดิ้นทอง ผ้ากรองทอง ผ้าตาดทอง การนุ่งผ้าม่วงของข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ หญิงชาววังในสมัยโบราณนุ่งห่มตามสีประจำวันที่นิยมกัน : วันเสาร์ หญิงชาววังในสมัยโบราณนุ่งห่มตามสีประจำวันที่นิยมกัน : วันอังคาร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงสนับสนุนการทอผ้าไหมและนิยมแต่งกายโดยใช้ผ้าไหม | สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๔๕๓) การใช้ผ้าเป็นเครื่องแต่งกายนั้น เดิมครั้งกรุงศรีอยุธยาคงมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่มีระเบียบเคร่งครัดว่า คนชั้นไหนใช้ผ้าชนิดใดได้บ้าง หรือชนิดไหนใช้ไม่ได้ ต่อมาระเบียบนี้ละเว้นไปไม่เคร่งครัด จึงปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ออกพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการแต่งกายการใช้ผ้า บังคับและห้ามไว้ใหม่ อีกครั้งหนึ่ง ดังความปรากฏว่า "...ธรรมเนียม แต่ก่อนสืบมา จะนุ่งผ้าสมปักท้องนาก และใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองต้นแขน กรองปลายแขน จะคาดรัดประคดหนามขนุนได้แต่ มหาดไทย กลาโหมจตุสดมภ์ และแต่งบุตรแลหลานขุนนาง ผู้ใหญ่ ผู้น้อยได้แต่เสมา แลจี้ภควจั่นจำหลักประดับพลอย แต่เพียงนี้ และทุกวันนี้ข้าราชการผู้น้อยนุ่งห่ม มิได้ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ผู้น้อยก็นุ่งสมปักปูมท้องนาก ใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองสังเวียน กรองสมรด คาดรัดประคดหนามขนุน กั้นร่มผ้า สีผึ้งกลตาไปจนตำรวจเลว แลลูกค้าวณิชกั้นร่ม สีผึ้ง แล้วแต่งบุตรหลานเล่า ผูกลูกประหล่ำ จำหลัก ประดับพลอยแลจี้กุดั่นประดับพลอย เพชรถมยา ราชาวดี ใส่เกี้ยวมีกระจังประจำยามสี่ทิศ ผูกภควจั่นถมยาประดับเพชรประดับพลอย สายเข็มขัดมี ดอกประจำยาม เข้าอย่างต้องห้าม เกินบรรดาศักดิ์ ผิดอยู่ แต่นี้สืบไป เมื่อหน้าให้ข้าราชการแลราษฎร ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน" "ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้แต่ขุนนางผู้ใหญ่ กั้นร่มผ้าสีผึ้ง คาดรัดประคดหนามขนุน ห้ามอย่าให้ข้าราชการผู้น้อยใส่เสื้อครุย กรองคอ กรอง สังเวียน กรองสมรด คาดรัดประคดหนามขนุน นุ่งสมปักท้องนาก สายเข็ดขัดอย่าให้มีดอกประจำยาม กั้นร่มผ้าสีผึ้ง ใส่เสื้อครุย ได้แก่ กรองปลายมือ จะแต่งบุตรแลหลาน ก็ให้ใส่แต่จี้เสมาภควจั่นจำหลักประดับพลอยแดงเขียวแต่เท่านี้ อย่าได้ประดับ เพชรถมยาราชาวดี ลูกประหล่ำเล่า ก็ให้ใส่แต่ลายแทงแลเกลี้ยงเกี้ยว อย่าให้มีกระจังประจำยาม สี่ทิศ และอย่าให้ใส่กระจับปิ้งพริกเทศทองคำ กำไลทองคำใส่เท้า อย่าให้ข้าราชการผู้น้อย และราษฎรกั้นร่มผ้าสีผึ้ง และกระทำให้ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมเกินบรรดาศักดิ์เป็นอันขาดทีเดียว และห้ามอย่าให้ช่างทองทั้งปวงรับจ้างทำจี้เสมาภควจั่น ประดับเพชร ถมยาราชวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นขาดทีเดียว..." ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า การใช้ผ้าก็ดี เครื่อง ประดับก็ดี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการใช้ตามฐานะรวมถึงบรรดาศักดิ์ ตามตำแหน่งหน้าที่การงาน และตามสกุล ผ้าในสมัยนี้คงใช้สืบต่อแบบเดียวกับที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงจะเพิ่มขึ้นใหม่อีกด้วย สมัยรัตนโกสินทร์มีผ้าต่างๆ เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ ส่วนหนึ่งเป็นผ้าทอในประเทศ อีกส่วนหนึ่งเป็นผ้าสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ผ้าไทย ได้แก่ ผ้ายก ผ้าไหม ผ้าสมปัก ผ้ายกทองระกำไหม สมัยรัชกาลที่ ๒ มีผ้าลาย ซึ่งเจ้านาย และคนสามัญนิยมใช้ จะต่างกันตรงที่ลวดลายว่า เป็นลายอย่าง หรือผ้าลายนอกอย่าง (ผ้า ซึ่งคนไทยเขียนลวดลายเป็นแบบอย่าง ส่งไปพิมพ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย) ถ้าเป็นของเจ้านายชั้นสูง ผ้าลายมักจะเขียนลายด้วยสีทอง เรียกว่า ผ้าลายเขียนทอง ซึ่งใช้ได้เฉพาะระดับพระเจ้าแผ่นดินถึงพระองค์เจ้าเท่านั้น ผ้าชนิดนี้ นิยมใช้เช่นเดียวกับผ้ายก ผ้าที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพวกเจ้านายคือ ผ้าใยบัว ผ้ากรองทอง และผ้าโขมพัสตร์ พวกชาวบ้านทั่วไป มักจะใช้ผ้าตาบัวปอก ผ้าดอก ส้มดอกเทียน ผ้าเล็ดงา ผ้าตามะกล่ำ ผ้าตาสมุก ผ้าไหมมีหลาชนิด เช่น ผ้าไหมตาตาราง ผ้าไหมตะเภา การเพิ่มความงามให้แก่เสื้อผ้าที่ใช้ นอกจากปักไหมเป็นลวดลายต่างๆ แล้ว ก็มีการปักด้วยทองเทศ ปักด้วยปีกแมลงทับ ซึ่งใช้ปักทั้งบนผ้าทรงสะพัก ผ้าสมรด หรือผ้าคาดเอว และเชิงสนับเพลาของเจ้านายผู้ชาย ในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ นักเลงห่มแพรเพลาะดำย้อมมะเกลือ คนมีเงินก็ใช้แพรจีนสีต่างๆ สองชั้น สีนวลอยู่ข้างใน ริมขลิบลูกไม้ มุมติดพู่ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ยังนิยมทรงผ้าลายอย่าง ผ้าตาด พวกข้าราชการนุ่งปูมอย่างเขมร ถือว่า เป็นดีที่สุด นุ่งสมปักตามยศ ถ้าในพระราชพิธีถือน้ำ เจ้านายทรงผ้าลายพื้นขาวเขียนทองบ้าง ลายเปล่าบ้าง ยกทองขาวเชิงชายบ้าง ฉลองพระองค์กระบอก ผ้าขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นผ้าปักทองแล่ง นอกจากนี้มีผ้าหิ่งห้อย ผ้าอุทุมพร ผ้าสังเวียน ซึ่งยังไม่อาจทราบได้ว่า มีลักษณะอย่างไร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประกาศการแต่งตัวในสมัยของพระองค์ ทำให้ทราบว่า "..ธรรมเนียมข้าราชการ นุ่งสมปักปูม ปักเชิง ปักล่องจวน ปักริ้ว เข้าเฝ้านั้น ก็เป็นธรรมเนียนมาแต่โบราณ แต่ข้าราชการปลงใจเสียว่า เป็นผ้าหลวง ได้มาอย่างไรก็ใช้ไปอย่างนั้น หาใคร่เอาใจใส่บำรุงให้สะอาดไม่ เหม็นสาบสาง เปื้อนเปรอะขะมุกขะมอม และฉีกขาด ก็ใช้นุ่งมาเฝ้า ไม่เป็นที่เจริญพระเกียรติ..." ผ้าสมปักปูมเขมร สร้างมาแต่เมืองเขมร ส่วนมาก เรียกว่า ปูมเขมร ที่เมืองเขมร ใช้นุ่งห่ม ทั้งไพร่ ผู้ดี ทั่วไปเป็นพื้นไทยมาใช้เป็นผ้าบอกเครื่องยศ ดูเหมือนเอาอย่างเขมรมาใช้ ไม่งดงาม ไม่เป็นอย่างไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้งดเลิกสมปักยศตามธรรมเนียมทุกอย่างนั้นเสีย โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมราชวงศ์ และขุนนางทั้งปวงนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่แทนสมปัก และสวมเสื้อต่างๆ ตามเวลา ผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่ ไม่ได้ทำในไทย แต่ให้ตัวอย่างสั่งทำมาแต่เมืองจีน ใช้ในไทยเท่านั้น จีนไม่ใช้นุ่งเลย ใช้เป็นผ้าสำหรับเจ้านาย และข้าราชการนุ่งห่มเป็นยศแทนสมปักอย่างเดิม เวลาเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่ง เวลาออกแขกเมืองใหญ่ หรือมีการใหญ่ พระราชทานพระกฐิน เวลาแต่งเต็มยศ อย่างใหญ่ก็ให้พระบรมราชวงศานุวงศ์แต่ง ผ้าม่วงที่สั่งจากประเทศจีนเข้ามาใช้นั้น เป็นชื่อเมืองที่ผลิต มิได้หมายถึงสีของผ้าแต่อย่างใด เพราะนอกจากสีน้ำเงินแล้ว ยังมีสีเหลือง สีแดง อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ผ้าสมปักก็มิได้เลิกไปเสียทีเดียว ยังมีใช้อยู่ต่อมาบ้าง ส่วนผ้ายก ผ้าเยียรบับ และผ้าเข้มขาบ คงใช้ตัดเสื้ออยู่ต่อมา แต่แบบของเสื้อก็โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงไปตามแบบยุโรปยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีผ้าต่างประเทศที่ใช้ในครั้งนั้นอยู่อีกบ้าง เช่น ผ้ามัสหรู่ ผ้าปัศตู ผ้ากุหร่า ซึ่งมักจะนำไปใช้ตัดเป็นเสื้อและกางเกงให้ทหารกองต่างๆ อย่างไรก็ดี การใช้ผ้านี้ในบางโอกาส ก็มีกฎเกณฑ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งบางอย่างเป็นประเพณีมาแต่เดิม และบางอย่างก็เป็นความเชื่อถือว่า ดี เป็นมงคล เป็นต้นว่า เวลาไปฟังเทศน์ พระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายมักทรงชุดขาวเวลาออกศึก จะฉลองพระองค์ตามสีวันอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่สำหรับผู้หญิงที่มิได้ไปศึกสงคราม ก็มีการนุ่งห่มใช้สีสันไปอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างหญิง สาวชาววังนั้น นิยมนุ่งห่มด้วยสีตัดกัน ไม่นิยมใช้สีเดียวกัน ทั้งผ้านุ่งและสไบ ดังนี้ วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อน ห่มน้ำเงินอ่อน หรือห่มสีบานเย็น นุ่งสีน้ำเงิน นกพิราบ ห่มจำปาแดง (สี ดอกจำปาแก่ๆ) วันอังคาร นุ่งสีปูน หรือม่วงเม็ดมะปราง ห่มสีโศก (สีเขียวอ่อนอย่างสี ใบโศกอ่อน) นุ่งสีโศกหรือ เขียวอ่อน ห่มม่วงอ่อน วันพุธ นุ่งสีตะกั่ว หรือสีเหล็ก ห่มสีจำปา วันพฤหัสบดี นุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนก นุ่งแสด ห่มเขียวอ่อน วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินแก่ ห่มเหลือง วันเสาร์ นุ่งม่วงเม็ดมะปราง ห่มสีโศก นุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มสีโศก วันอาทิตย์ จะแต่งเหมือนวันพฤหัสบดี ก็ได้คือ นุ่งเขียวห่มแดง หรือนุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่ หรือสีเลือดหมู ห่มสีโศก เวลาไว้ทุกข์ นุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มสีนวล ผู้หญิงชาววังคงนิยมนุ่งดังนี้เรื่อยมา คนไทยมิได้ใช้สีดำเป็นสีไว้ทุกข์แต่อย่างใด คนไทยมานิยมตามแบบยุโรป คือ ใช้สีดำล้วน เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ พวกที่มิได้อยู่ภายในวัง ก็มิได้ปฏิบัติตามความนิยมที่ใช้สีนุ่งห่มประจำวัน คือ อยากจะนุ่งห่มสีอะไรก็ได้ หรือใช้สีเดียวกันทั้งชุดก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์แต่อย่างใด ผ้าที่นิยมใช้กันตลอดมา ได้แก่ ผ้าไหม รัชกาลที่ ๕ ทรงพยายามสนับสนุนการทอผ้าไหมขึ้นอีกใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงสถาปนากรมช่างไหมขึ้น มีกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์) เป็นอธิบดีกรมช่างไหม และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเกษตร ที่วังใหม่สระปทุม กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงสนพระทัย ได้ขยายโรงเรียนช่างไหมออกไปที่จังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวญี่ปุ่นมาเป็นครูช่างไหมด้วย เพราะราษฎรญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรม ในครัวเรือนของชาวนา พันธุ์หม่อน และพันธุ์ไหมของญี่ปุ่น มีคุณภาพต่างกับของไทยคือ พันธุ์ไหมไทย เส้นไหมสีเหลืองที่เรียกชื่อทางวิชาการว่า ทุสซาห์ ซิลก์ (Tussah silk) และสั้นกว่าไหมญี่ปุ่น ที่ชื่อ บอนบิกซ์ โมริ (Bonbyx Mori) ซึ่งมีเส้นไหมสีขาวเกือบครึ่ง พันธุ์หม่อนของญี่ปุ่นมีใบใหญ่ และดกกว่าหม่อนไทย ทั้งมีหลายชนิด เลือกปลูก ให้เหมาะแก่ท้องถิ่นได้ดี พระองค์โปรดให้จัดสร้างเครื่องสาวไหมแบบญี่ปุ่น ซึ่งสาวไหมได้รวดเร็ว และได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอดีกว่าเครื่องสาวไหมไทย ใน ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) โปรดเกล้าฯ ให้แจกจ่ายเครื่องสาวเส้นไหม ๔๐๘ เครื่อง ดังนั้น การเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหมแบบพื้นเมือง ได้ดัดแปลงตามแบบญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่มีผู้ใดส่งเสริม โรงเรียนช่างไหมก็ล้มเลิกไป ในรัชกาลที่ ๖ ประเพณีการใช้ผ้าเป็นเครื่องแต่งกายทั้งของบรรดาเจ้านาย และประชาชนทั่วไป ก็ยังคงใช้สืบต่อมา เจ้านายทรงผ้ายก หรือผ้าลาย เขียนทอง แม้ว่าคนส่วนมากยังแต่งตัวแบบเก่าๆ แต่ก็มีพวกเจ้านาย และประชาชนที่เป็นพวกสมัยใหม่บางกลุ่ม เริ่มแต่งตัวอย่างตะวันตกกันบ้างแล้ว ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน หรือผ้าจีบหน้านาง หันมานุ่งถุงสำเร็จ ส่วนสไบนั้น ก็มิได้เลิกเสียทีเดียว แต่สวมเสื้อผ้าดอกลูกไม้แขนยาวทรงกระบอก หรือทรงขาหมูแฮม และใช้สไบพาดทับเสื้ออีกทีหนึ่ง ผู้ชายก็นิยมนุ่งกางเกง และสวมเสื้ออย่างชาวตะวันตก ความนิยมนี้มีมากขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และในกาลต่อมา ก็นิยมแต่งแบบตะวันตกกันทั่วไป ทั้งผู้ชาย และผู้หญิงดังเช่นปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงนิยมใช้ผ้าที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ มากกว่าผ้าทอในเมืองไทย ผ้าไทยแม้จะตกต่ำไปบ้างในบางเวลา ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันกล่าวได้ว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยสนับสนุนการทอผ้าพื้นเมือง โดยเฉพาะการทอผ้ามัดหมี่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้แพร่หลาย เป็นที่รู้จักอย่างมาก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นผลให้เกิดการตื่นตัว ที่จะอนุรักษ์ และพัฒนาการทอผ้าพื้นเมืองในภูมิภาคอื่นๆ ของไทยเรา ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เป็นที่นิยมของคนไทย ซื้อหานำมาใช้โดยทั่วไปอีกโสดหนึ่งด้วย ข้อความแต่โบราณที่ว่า "ผู้หญิงทอผ้า" นั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เพราะแสดงถึงวัฒนธรรมอันสูงส่ง ที่ไทยเรามีบรรพบุรุษ ซึ่งปราดเปรื่อง คิดประดิษฐกรรมวิธีการทอผ้า ทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหมได้อย่างดีเลิศ และคิดวิธีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะทอผ้าพื้น หรือทอให้เกิดลวดลายต่างๆ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ยก จก ขิด มัดหมี่ และล้วง เป็นต้น และวัฒนธรรมนี้ ได้รับการสืบทอดต่อมา นานนับร้อยพันปี จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น |