เล่มที่ 15
ผ้าไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

เส้นไหม นำมาทอเป็นผ้าไหม

ผ้าไทย

            ผ้าที่คนไทยเราใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มนั้น จะค้นคิดประดิษฐ์ได้สำเร็จตั้งแต่เมื่อไรนั้น ไม่มีหลักฐานแน่นอนเด่นชัด ทราบแต่ว่า คนไทยเรารู้จักนำเอาฝ้าย ปอ และไหม มาทอเป็นผ้าได้นานแล้ว ปัจจุบันเจริญขึ้น ถึงขั้นค้นคิดประดิษฐ์ใยสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ทอเป็นผ้า ดังที่พบอยู่มากมาย หลักฐานทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะที่พบ แสดงให้เห็นว่า บนแผ่นดินไทยมีร่องรอยการใช้ผ้าและทอผ้าได้ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ เมื่อราว ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว และสืบทอดต่อมาตลอด ทั้งสมัยทวารวดี ศรีวิชัย และลพบุรี ในจดหมายเหตุจีน ที่บันทึกเกี่ยวกับดินแดนของไทยไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ และได้มีการลอกต่อๆ มา ปรากฏข้อความเกี่ยวกับผ้า บันทึกอยู่ในภาพเขียน "คนไทย" จากส่วนหนึ่งของแผ่นภาพ บันทึกเรื่องชาติ ที่ถวายเครื่องราชบรรณาการจีน ภาพนี้เขียนโดยเซียะสุย (Hsich-Sui) จิตรกรแห่งราชสำนักจีน ใน ค.ศ. ๑๗๖๒ (พ.ศ. ๒๓๐๕) รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ บันทึกเป็นข้อความภาษาจีน และภาษาแมนจู แปลได้ความว่า

            "สยาม" ตั้งอยู่บนบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแจ้นเฉิน ในสมัยราชวงศ์สุย และราชวงศ์ถัง เรียกประเทศนี้ว่า "ซื่อถู่กวั๋ว" แปลว่า ประเทศที่มีดินสีแดง ต่อมา ซื่อถู่กวั๋ว ได้รับการแบ่งออกเป็นสองรัฐ รัฐหนึ่งเรียกว่า หลัวฮู่ อีกรัฐหนึ่งเรียกว่า ฉ้วน (เสียน หรือ เสียมในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมารัฐฉ้วนถูกรัฐหลัวฮู่เข้าตี และรวมกันได้ พระเจ้าหงอู่ แห่งราชวงศ์หมิง จึงทรงเรียกประเทศใหม่ ว่า "ฉ้วนหลัว" ซึ่งได้ส่งเครื่องบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงจีน และรัฐทั้งสองอ่อนน้อม เชื่อฟังจีนมาก ประเทศฉ้วนหลัวมีเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ลี้ ประกอบด้วยรัฐต่างๆ ๙ รัฐเมืองใหญ่ๆ ๑๔ เมือง กับอีก ๗๒ จังหวัด

            ตำแหน่งขุนนางมี ๙ ชั้น ๔ ชั้นแรก ปกติจะสวมหมวกทองที่มียอดสูง และประดับด้วยอัญมณีต่างๆ ชั้นต่ำลงมาใช้ผ้าโพกศีรษะ ซึ่งจีนเรียกว่า หลงต้วน ทำด้วยผ้าไหม กำมะหยี่ ผ้าเหล่านี้ปักอย่างสวยงาม และทอด้วยเส้นทอง หรือมีผ้าสั้นที่มีลายพิเศษด้านนอก ผู้ชายมีผ้าคาดเอว ทำด้วยผ้าปักไหม ผู้หญิงมีปิ่นทอง หรือปิ่นเงินปักผม ผ้าคลุมชั้นนอกมี ๕ สี ส่วนผ้าชั้นในมีสีสันสวยงาม และทอผสมกับเส้นทอง ผ้านุ่งยาวมากกว่าตัวผู้นุ่ง ๒-๓ ชุ้น และผู้หญิงจะสวมรองเท้าหนัง สีแดง

            บันทึกนี้เป็นหลักฐานที่สำคัญ ที่สนับสนุนถึงความเจริญรุ่งเรื่องทางวัฒนธรรมของคนไทย ที่มีมานานนับพันปีได้อย่างดียิ่ง หลักฐานหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องผ้า ซึ่งปรากฎว่า เราสามารถผลิตได้เอง และได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ นำผ้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้ประโยชน์ต่างๆ ตลอดมา