เล่มที่ 16
การฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางด้านการศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กฎหมายคนพิการ

            ในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และสวีเดน เป็นต้น ได้มีการตรากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการ กล่าวคือ สิทธิในการศึกษา การทำงานประกอบอาชีพ การมีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม จึงทำให้มีการจัดการ ให้การฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลพิการทุกด้าน คือ ด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม และอาชีพ ในประเทศต่างๆ เหล่านี้

สัญลักษณ์สากลที่บอกให้ผู้พิการทราบว่าสามารถใช้สถานที่นั้น ๆ ได้สัญลักษณ์สากลที่บอกให้ผู้พิการทราบว่า
สามารถใช้สถานที่นั้นๆ ได้

            สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการร่าง "พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยที่กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบ ทางกรมประชาสงเคราะห์ ได้ประกาศที่จะให้ พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เป็นของขวัญแก่คนพิการไทย ในปีคนพิการสากล ที่ทางองค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว ้ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๒๔ แต่ก็ไม่บรรลุผล คนพิการจึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง "สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย" ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เพื่อรณรงค์ให้มีกฎหมายดังกล่าว สภาคนพิการฯ ได้จัดสัมมนาในระหว่างกลุ่มคนพิการด้วยกัน และกับบุคคลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ หลายครั้ง เพื่อนำข้อมูลมายกร่าง พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เสนอต่อรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ทางกรมประชาสงเคราะห์ ก็ได้นำร่างพระราชบัญญัติ ที่กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบ เสนอคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ของกระทรวงมหาดไทย และได้รับการพิจารณาให้มีการปรับปรุงแก้ไข และให้ดำเนินการจัดหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาใหม่ ต่อมาได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี และจนในที่สุดคณะรัฐมนตรีที่ประชุมวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ขึ้น โดยมีมติเห็นชอบด้วยตามร่าง พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบพิจารณา และยังให้กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้คงหลักการเดิมในร่างมาตรา ๑๗ คือ การกำหนดให้เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นๆ จัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ และกำหนดให้นายจ้าง หรือสถานประกอบการของรัฐ หรือสถานประกอบการ ของเอกชน รับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับลูกจ้างอื่น แต่ให้ปรับลักษณะที่เป็นบทบังคับ บทกำหนดโทษ ในร่างมาตรา ๑๘ เป็นลักษณะให้การสนับสนุน ให้สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ เช่น กำหนดให้เจ้าของอาคารสถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะสุขอื่นๆ ที่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เสียไป เพื่อการนั้น ตามจำนวนที่เหมาะสม ไปหักเป็นค่าลดหย่อน เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้ และผู้ใดจ้างคนพิการปฏิบัติงาน ให้สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้เป็น ๒ เท่า เป็นต้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้แก้ไขเพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรี และได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๔ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติ ให้นำเสนอร่าง พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติ ผ่านพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่หนึ่ง พร้อมทั้งได้ส่งให้คณะกรรมาธิการการปกครองพิจารณา จนเสร็จสิ้น แล้วจึงนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่สอง และที่สาม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง ๒ วาระ รัฐบาลจึงได้นำร่าง พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และได้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๕ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔ แล้ว

            จากปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ รวมเป็นเวลาประมาณ ๑๒ ปี ทั้งฝ่ายรัฐบาล และหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง กับบุคคลพิการเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องมอบกฏหมายฉบับนี้แก่คนพิการ เพื่อประกาศอย่างชัดแจ้งว่า ทั้งรัฐบาล และปวงชนชาวไทย มีความเห็นว่า คนพิการเป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่สำคัญของประเทศ และจะไม่ถูกปล่อยปละละเลยอีกต่อไป คนพิการจะได้รับการพัฒนาฟื้นฟูสมรรถภาพทุกด้าน และมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับคนปกติ และมีการเปิดโอกาสให้คนพิการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง และสังคมได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรี