เล่มที่ 16
การฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางด้านการศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
จำนวนเยาวชนผู้พิการ

ในประเทศไทยได้มีการสำรวจจำนวนผู้พิการ โดยบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงานต่างๆ ไว้ดังนี้

            ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า มีผู้พิการทั่วประเทศคิดเป็นร้อยละ ๐.๗๙ คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๖๗,๕๔๐ คน ของจำนวนประชากรทั้งหมด

            ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า มีบุคคลพิการทั่วประเทศ ๑๒.๕๑ คน ต่อจำนวนประชากร ๑,๐๐๐ คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๑.๒๕

            ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ นายแพทย์ฉลาด ถิรพัฒน์ ได้รวบรวมผลการวิจัยระบาดวิทยาของบุคคลพิการ รายงานว่า มีจำนวนบุคคลพิการประเภทต่างๆ รวม ๑,๐๖๕.๒ คน ต่อ ประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๑.๐๗

            ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ กองการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ สำรวจพบว่า บุคคลพิการ ทั่วประเทศมีร้อยละ ๐.๕๔ และทำการคาดคะเน ตามผลการสำรวจดังกล่าว ได้จำแนกบุคคลพิการ ตามโอกาสทางการศึกษาไว้ว่า กำลังเรียน เคยเรียน และไม่เคยเรียน

            เมื่อพิจารณาจำนวนบุคคลพิการโดยสรุปแล้ว ประเทศไทยมีจำนวนคนพิการอยู่ในช่วงร้อยละ ๐.๕๔-๑.๒๕ ของจำนวนประชากร ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลข ที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก รวมทั้งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าจำนวน ซึ่งองค์การอนามัยโลก และองค์การยูเนสโก ประมาณไว้ร้อยละ ๑๐ และ ๑๐.๙ เป็นอย่างมาก อาจใช้เหตุผลอธิบายได้ว่า ในการนิยาม และแบ่งประเภทบุคคลพิการ ที่กำหนดไว้ในการสำรวจของไทย ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละสาขา การวินิจฉัย หรือบ่งชี้ว่า เป็นบุคคลพิการ หรือบุคคลที่ต้องการการศึกษาพิเศษ ก็ยังไม่ชัดเจน และมีความเห็นไม่ตรงกัน เครื่องมือ หรือแบบสำรวจที่ใช้ อาจไม่สามารถแยกประเภท และครอบคลุมบุคคล ที่มีความพิการต่างๆ ได้ทั้งหมด ความรู้ความสามารถของบุคลากรที่จะบ่งชี้ว่า เด็กมีความบกพร่องหรือไม่ มีความแตกต่างกัน เจตคติของครอบครัวที่มีต่อการเปิดเผยว่า มีบุคคลพิการในครอบครัวต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้จำนวนผู้พิการ ที่สำรวจในประเทศไทยของหน่วยงานต่างๆ มีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับขององค์กรระดับนานาชาติแล้ว จะเห็นได้ว่า มีจำนวนน้อย