เล่มที่ 16
การฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางด้านการศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ

            เยาวชนผู้พิการมีอยู่ในสังคมของทุกประเทศตลอดมา ตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน แต่บริการทางการศึกษาพิเศษ ที่จะสนองความต้องการของเยาวชนเหล่านี้ ที่เป็นพื้นฐานของการจัดการศึกษาพิเศษในปัจจุบัน ได้เกิดขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ โดยเริ่มมีการพัฒนากระบวนการที่มีประสิทธิภาพ สอนเด็กตาบอด และหูหนวก และในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีความพยายามจัดระบบการให้การศึกษากับเด็กปัญญาอ่อน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดการศึกษาให้กับเด็กปัญญาอ่อน และเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ในปัจจุบัน ในช่วงก่อนหน้านี้ เรื่องที่สังคมทำได้ดีที่สุด คือ ให้ความคุ้มครองเยาวชนผู้พิการ โดยจัดเป็นสถานที่พิเศษให้เด็กเหล่านี้ มาอยู่รวมกัน เพื่อปกป้องเด็กจากความโหดร้ายของโลกมนุษย์ ในสถานที่เช่นนี้ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้ ต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ได้มีความคิด เกี่ยวกับประชาธิปไตย ความอิสระของบุคคล และความเชื่อที่ว่า คนทุกคนเกิดมามีสิทธิเท่าเทียมกัน ควรได้รับสิทธิ และประโยชน์ อันพึงได้เท่าเทียมกัน ความคิดเหล่านี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติ กล่าวคือ ได้มีการสนับสนุนให้สอนทักษะให้กับเด็ก และผู้ใหญ่พิการ ให้เป็นคนที่สามารถดำรงชีวิตอิสระ และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการให้ศักดิ์ศรี ในความเป็นมนุษย์แก่บุคคลพิการ ที่ไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน

            ผู้ที่ริเริ่มการศึกษาพิเศษส่วนใหญ่เป็นแพทย์ในประเทศทางยุโรป เป็นคนหนุ่มสาวมีความทะเยอทะยาน ที่กล้าท้าทาย ความเชี่ยวชาญล้ำลึกของผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการ ที่เป็นเพื่อนและครูของเขาในขณะนั้น

เด็กพิการสามารถรับการกระตุ้นพัฒนาการจากศูนย์ที่จัดให้เป็นพิเศษเด็กพิการสามารถรับการกระตุ้นพัฒนาการจากศูนย์ที่จัดให้เป็นพิเศษ

อิทารด์ (Itard) (พ.ศ. ๒๓๑๘ - ๒๓๘๑)

            แพทย์ชาวฝรั่งเศส มีความเชี่ยวชาญทางโรคหู และการให้การศึกษาแก่นักเรียนหูหนวก เขาเป็นคนแรก ที่พยายามสอนเด็กชายวิคเตอร์ (Victor) อายุ ๑๒ ปี ที่อาศัยอยู่ในป่าในประเทศฝรั่งเศส ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เขาไม่สามารถช่วยให้วิคเตอร์หายพิการได้ เพียงแต่ช่วยให้วิคเตอร์มีพฤติกรรมที่เป็นมนุษย์มากขึ้น โดยใช้กระบวนการสอน เขาเป็นผู้ค้นคิดวิธีการปรับพฤติกรรม เป็นผู้สร้างระบบการศึกษาแบบการสอนพูดให้กับเด็กหูหนวก และทำให้มีผู้เชี่ยวชาญการฝึกพูด และฝึกฟังในเวลาต่อมา เขาเป็นบิดาแห่งการศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กปัญญาอ่อน และร่างกายพิการด้วย

ชีกวิน (Sequin) (พ.ศ. ๒๓๕๕-๒๔๒๓)

            เป็นลูกศิษย์ของอิทารด์ ได้อพยพเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๑ เป็นนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ในการให้การศึกษาแก่เด็กปัญญาอ่อน แม้ว่าในขณะนั้นเกือบทุกคนแน่ใจว่า ไม่สามารถที่จะสอนอะไรที่สำคัญๆ ให้แก่เด็กปัญญาอ่อนได้ ชีกวินได้รับปริญญาทางการแพทย์ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ งานเขียนของเขาเป็นงานที่เกี่ยวกับ การใช้วิธีการของอิทารด์ ซึ่งเป็นพื้นฐานให้กับงานของมอนเทสซอรี (Montessori) ในเวลาต่อมา

มอนเทสซอรี (Montessori) (พ.ศ. ๒๔๑๓- ๒๔๙๕)

            เป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศอิตาลีที่ได้รับปริญญาทางการแพทย์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักการศึกษาสำหรับเด็กปัญญาอ่อน และยังเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมการให้การศึกษา สำหรับเด็กวัยก่อนประถมศึกษา และเด็กที่มีพัฒนาการในช่วงต้นๆ ของชีวิต เป็นผู้สานต่องานของอิทารด์

ในประเทศสหรัฐฯ ผู้ที่มีความสนใจในการให้การศึกษาแก่เด็กพิการ คือ

ฮาว (Howe) (พ.ศ. ๒๓๔๔-๒๔๑๙)

            ซึ่งเป็นทั้งแพทย์และนักการศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดเปอร์กินส์ (Perkins) ในเมืองวอเตอร์ทาวน์ (Watertown) รัฐแมสซาชูเซต และเป็นครูสอนเด็กพิการซ้อน คือ หูหนวก และตาบอด ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการสอน ลอร่า บริดจ์แมน (Laura Bridgman) ผู้ซึ่งทั้งหูหนวก และตาบอด ความสำเร็จนี้ ก็มีอิทธิพลต่อการศึกษาของเฮเลน เคลเลอร์ (Helen Keller) เป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ฮาวยังเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียน เพื่อทดลองสอนเด็กปัญญาอ่อน ในแมสซาชูเซต ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ และรู้จักกับชีกวินเป็นอย่างดี

กาลอเด็ต (Gallaudet) (พ.ศ. ๒๓๓๐- ๒๓๙๔)

            เป็นบาทหลวง ได้พบเด็กหูหนวกคนหนึ่ง และพยายามสอนเด็กคนนี้ ขณะที่กาลอเด็ตเอง ยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่สถาบันสอนศาสนา ใน ปี พ.ศ. ๒๓๖๐ เขาได้จัดตั้งโรงเรียนประจำแห่งแรก สำหรับเด็กหูหนวก ในเมืองฮาร์ตฟอร์ด (Hart- ford) มลรัฐคอนเนกติกัต ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีมหาวิทยาลัยกาลอเด็ต เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียว ที่รับนักศึกษาหูหนวกเข้าเรียน จนถึงระดับปริญญาเอก ซึ่งตั้งชื่อ โดยใช้ชื่อของกาลอเด็ต เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

            นอกจากนี้ ยังมีบุคคลอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาพิเศษ ทั้งในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ในโลก คือ ปิเอเจย์ (Piaget) นักจิตวิทยาพัฒนาการ และฟรอสติก (Frostig) นักสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช และนักฟื้นฟูบำบัดที่เคยทำงานในประเทศออสเตรีย และโปแลนด์ ได้อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ต่อมาได้รับการศึกษาด้านจิตวิทยา และได้ทำงานกับเด็กปัญญาอ่อน ยุวอาชญากร และเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ทำให้มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ต่อการพัฒนาการศึกษาพิเศษ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวกับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้

สเทราสส์ (Strauss) เป็นนักประสาทวิทยา และ เวอร์เนอร์ (Werner) นักจิตวิทยาพัฒนาการ

ได้เริ่มโปรแกรมฝึกอบรม และดำเนินงานวิจัย ในมลรัฐมิชิแกน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาพิเศษ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓ จนถึงปัจจุบัน

            ฮอบส์ (Hobbs) นักจิตวิทยา และนักการศึกษา ที่มีชื่อเสียง รู้สึกประทับใจต่อการปฏิบัติอาชีพในบทบาทต่างๆ ของนักการศึกษา ในยุโรป ในการดูแล และให้การศึกษาแก่เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ก็ได้ริเริ่มโปรแกรมช่วยเด็กเหล่านี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นับเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์

ประเทศไทย

            ได้มีการจัดการศึกษาพิเศษมาเป็นเวลานานแล้ว แต่มิได้บังคับให้เด็กไทยทุกคนต้องเข้าเรียน จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มีการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาภาคบังคับ แต่ให้การยกเว้นแก่เยาวชนผู้พิการไม่ต้องเข้าเรียน จนกระทั่งต่อมา เมื่อได้มีการเปลี่ยนมาใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนเข้ารับการศึกษา ทำให้ผู้ปกครอง ที่ไม่ต้องการให้เด็กพิการเข้าเรียน ต้องยื่นคำร้องขอยกเว้น จึงจะได้รับการยกเว้น ทั้งนี้เพราะกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้จัดการสอนเยาวชนผู้พิการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พบว่า เยาวชนพิการสามารถเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการประเภทใด

การศึกษาพิเศษของประเทศไทย

            ได้เริ่มขึ้น เมื่อมีสุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกันชื่อ นางสาวเจเนวีฟ คอลฟิลด์ (Geneviev Caulifield) (พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๕๑๕) เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งเป็นระยะเวลา ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยได้ร่วมกับเพื่อนคนไทย และชาวอเมริกัน นำคนไทยตาบอดคนหนึ่งมาเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ให้ฝึกหัดอ่าน และเขียนอักษรเบรลล์ ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ โดยการฝึกหัดทำงานการฝีมือ เช่น ถักนิตติ้ง โครเชต์ ฝึกทำงานบ้าน และงานในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการทำอาหาร จนกระทั่งต่อมา จำนวนคนตาบอด ที่เข้ามารับการเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนมีเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ พร้อมๆ กับจัดตั้งมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ฉะนั้นจึงจัดได้ว่า การจัดการศึกษาพิเศษในประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒

รูปปั้นของนางเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ชาวอเมริกัน
ผู้ริเริ่มการศึกษาพิเศษในประเทศไทย

            การศึกษาสำหรับเยาวชนผู้พิการตาบอด ได้มีความเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนพิเศษอีกหลายแห่งถือกำเนิดขึ้น คือ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จังหวัดขอนแก่น โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา นอกจากนี้ ยังได้จัดให้เยาวชนผู้พิการตาบอด เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในระดับชั้นมัธยมศึกษา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่โรงเรียนเซนต์คาเบียล กรุงเทพฯ จนปีพ.ศ. ๒๕๐๕ กรมสามัญศึกษา ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิอเมริกัน เพื่อคนตาบอดโพ้นทะเล (American Foundation for Overseas Blind) จัดทำโครงการทดลองให้เด็กตาบอดเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร และได้ขยายโครงการออกสู่ภูมิภาคในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ แต่ต่อมาก็ล้มเลิกไป ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับเรื่อง งบประมาณ และสภาพครอบครัวของเด็กตาบอด แต่ในกรุงเทพมหานครก็ยังดำเนินการต่อไป และต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๐ กองการศึกษาพิเศษก็ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการขยายโอกาสให้เด็กตาบอด เรียนร่วมในโรงเรียนปกติระดับประถมศึกษา ในสังกัดกองศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ตามกำลังงบประมาณที่กำหนดไว้ในแผนการพัฒนาการศึกษา ระยะที่ ๕ และ ๖ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๕- ๒๕๓๔

            ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มเด็กตาบอดและครอบครัว" ขึ้น ที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต เพื่อให้บริการแก่ครอบครัวที่มีลูกตาบอด และแก่เด็กตาบอดอายุ ๐-๗ ปี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นพัฒนาการเด็กตาบอด และส่งเสริมให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกตาบอดได้อย่างถูกวิธี เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้ คือ ให้สามารถเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติได้เร็วขึ้น และปีการศึกษา ๒๕๓๔ นี้ ก็ได้ทดลองนำเด็กตาบอด และเด็กเห็นเลือนลาง เข้าเรียนร่วมในระดับชั้นอนุบาล ที่โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ
โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
            นอกจากความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาแล้ว ก็ยังมีการขยายงานช่วยเหลือบุคคลตาบอดในด้านอาชีพด้วย กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดขึ้นหลายแห่ง ในปัจจุบัน มีนักเรียนตาบอดที่มีความสามารถเรียนได้ในระดับสูง ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ ในสถาบันต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เช่น วิทยาลัยครูสวนดุสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น

เด็กตาบอดกำลังถักนิตติ้ง
            ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ กรมสามัญศึกษาได้รับอนุมัติให้จัดตั้งหน่วยทดลองสอนเยาวชนหูหนวกขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอาศัยห้องเรียน ๑ ห้องเรียนของโรงเรียนเทศบาล ๑๗ วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร ต่อมามีจำนวนเด็กมากขึ้น จึงได้จัดตั้ง "มูลนิธิเศรษฐเสถียร" ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้ง "โรงเรียนสอนคนหูหนวก" ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ คุณหญิงโต๊ะ นรเนติบัญชากิจ ได้บริจาคที่ดินพร้อมอาคารตึก ให้เป็นสถานที่เรียน ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนเศรษฐเสถียร" ใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการยกเลิกมูลนิธิเศรษฐเสถียร และจัดตั้งเป็น "มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก" แทน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โปรดเกล้าฯ ทรงรับมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์

            ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวกทุ่งมหาเมฆ ในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ" และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบันนี้ กระทรวงศึกษาธิการก็ได้เปิดโรงเรียนพิเศษ สำหรับสอนเยาวชนผู้พิการหูหนวกอีกหลายแห่งทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนสอนคนหูหนวกขอนแก่น โรงเรียนสอนคนหูหนวกตาก โรงเรียนสอนคนหูหนวกสงขลา เป็นต้น สำหรับโรงเรียนสอนคนหูตึงชลบุรี โรงเรียนโสตศึกษาจำปา กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนที่รับเด็กหูตึง ที่สูญเสียการได้ยินไม่เกิน ๘๕ เดซิเบล สามารถใช้เครื่องช่วยฟัง และใช้วิธีการสอนพูดกับเด็กเหล่านี้
โรงเรียนเศรษฐเสถียร จัดตั้งขึ้นสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
โรงเรียนเศรษฐเสถียร จัดตั้งขึ้นสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
            ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ กรมการฝึกหัดครู อนุมัติให้วิทยาลัยครูสวนดุสิต จัดตั้งศูนย์ทดลองสอนเด็กหูพิการชั้นเด็กเล็ก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ก็ได้จัดให้เด็กอนุบาลปกติเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กอนุบาลหูตึง และต่อมา ก็ได้ส่งเด็กหูตึงเข้าเรียนร่วมในระดับชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนปกติ ที่กองการศึกษาพิเศษได้จัดการสอนที่โรงเรียนพญาไท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖

            ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายโครงการสอนเด็กหูตึง เรียนร่วมในระดับประถมศึกษาออกไปอีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนอนุบาลสามเสน โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ โรงเรียนอนุบาลวัดนางนองใน กรุงเทพมหานคร และในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ขยายโครงการออกสู่ภูมิภาค ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สกลนคร จังหวัดสกลนคร และโรงเรียนจิตต์อารี จังหวัดลำปาง เป็นต้น

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
องค์อุปถัมภ์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ

            การศึกษาพิเศษสำหรับเยาวชนผู้พิการทางร่างกายในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มโดยกรมสามัญศึกษา อนุมัติให้กองการศึกษาพิเศษ จัดทำโครงการสอนเด็กเจ็บป่วย ด้วยโรคโปลิโอ ในโรงพยาบาลในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ทั้งนี้เพราะระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๔ - พ.ศ. ๒๔๙๕ โรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) ระบาดในประเทศไทย ทำให้มีเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก จึงมีกลุ่มบุคคลคณะหนึ่ง จัดตั้งมูลนิธิสงเคราะห์คนพิการขึ้น เพื่อช่วยเหลือในการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่เด็กเหล่านี้ ให้สามารถอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลได้สะดวกขึ้น ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธินี้ จึงได้ชื่อว่า "มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี"

            ต่อมามีเด็กจำนวนหนึ่งที่สามารถกลับบ้านได้ แต่แพทย์ให้มารับการตรวจรักษาอีกเป็นครั้งคราว พร้อมทั้งให้เข้ารับการฟื้นฟูบำบัดสมรรถภาพเป็นประจำเกือบทุกวัน เด็กเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน และมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และไกลจากโรงพยาบาลศิริราช ในกรุงเทพมหานคร ทางมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์บริการเด็กพิการ" ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
เด็กหูตึงเรียนร่วมกับเด็กปกติ
เด็กหูตึงเรียนร่วมกับเด็กปกติ
            ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จำนวนเด็กที่ศูนย์บริการเด็กพิการมีจำนวนมากขึ้น และเด็กจำเป็นต้องได้รับการศึกษา ให้สามารถกลับไปเรียนต่อ ที่โรงเรียนเดิมได้ โดยไม่ต้องหยุดเรียน หรือกลับไปเรียนซ้ำชั้น ทางมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ จึงได้จัดตั้ง "โรงเรียนสอนเด็กพิการ" ขึ้น โดยมีบุคลากรจากกองการศึกษาพิเศษ ไปทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร และทำการสอนทั้งในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น
            ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติเงินก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม และในโอกาสนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนศรีสังวาลย์"

            ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ที่ได้มีการเริ่มจัดทำโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคโปลิโอในโรงพยาบาลนั้น ก็ได้มีการดำเนินการมาตลอด จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้รวมเอาเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง ด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด โรคไต โรคเบาหวาน ที่ต้องรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน เข้ามาในโครงการจัดการศึกษาดังกล่าวด้วย และในปัจจุบัน ก็ได้มีการขยายโครงการไปที่โรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และภูมิภาค เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลมหาราชที่จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลขอนแก่น ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น และยังมีแผนที่จะขยายสู่โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้นต่อไปอีก
โรงเรียนศรีสังวาลย์สำหรับสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ
โรงเรียนศรีสังวาลย์สำหรับสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ
            ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๙ - พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้ที่เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกได้ทำการสำรวจจำนวนบุคคลปัญญาอ่อนในประเทศไทย โดยวิธีสุ่มตัวอย่างปรากฏว่า มีบุคคลพิการทางสติปัญญา ประมาณร้อยละ ๑ ของพลเมืองทั้งประเทศ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงขอจัดตั้งโรงพยาบาลปัญญาอ่อนขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และได้มีการจัดตั้ง "มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์" ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และต่อมา ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ก็ได้จัดชั้นเรียนพิเศษขึ้น ในโรงพยาบาล เพื่อสอนเด็กปัญญาอ่อนอายุ ระหว่าง ๗ - ๑๘ ปี โดยจัดเด็กเรียนตามระดับความสามารถ คือ ระดับเรียนได้ ระดับฝึกได้ และระดับปัญญาอ่อนรุนแรง และในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเปิดโรงเรียน ซึ่งพระราชทานนามว่า "โรงเรียนราชานุกูล" ที่ได้พระราชทานรายได้ จากการฉายภาพยนต์ส่วนพระองค์ จัดสร้างอาคารเรียนให้ ภายในบริเวณโรงพยาบาล

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดตั้ง "โรงเรียนปัญญาวุฒิกร" สำหรับเด็กพิการทางสติปัญญาระดับเรียนได้ เป็นโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กประเภทนี้ เป็นแห่งที่ ๒ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ทางโรงเรียน และมูลนิธิฯ ได้ขยายงาน โดยจัดตั้งโรงงานในอารักษ์ฝึกอาชีพคนปัญญาอ่อนขึ้น ที่โรงเรียนปัญญาวุฒิกร และที่ศูนย์วิชาชีพหญิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และยังได้มีการขยายงานไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนในภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ และในภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐

เด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรังในชั้นเรียนพิเศษในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
            ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ กรมสามัญศึกษาได้รับโอนโรงเรียนกาวิละวิทยา กองทัพบกอุปถัมภ์ และเปิดเป็นโรงเรียนสอนเด็กปัญญาอ่อนขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนกาวิละอนุกูล จังหวัดเชียงใหม่" ได้รับนักเรียนปกติ ที่อยู่ใกล้โรงเรียน เข้าเรียนร่วมกับเด็กปัญญาอ่อนด้วย

             ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดตั้ง "ศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนประภาคารปัญญา" เพื่อฝึกเด็กปัญญาอ่อนรุนแรง ศูนย์ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มูลนิธิฯ ก็ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กปัญญาอ่อนวัยก่อนเข้าเรียน ในชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร เพื่อฝึกอบรม และกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ และเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กเหล่านี้ก่อนเข้าเรียน
            ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ กองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา ได้จัดตั้ง "โรงเรียนอนุบาลปัญญานุกูล" จังหวัดอุบลราชธานี โดยรับโอนมาจากโรงเรียนบ้านคำไฮวิทยา จากกองการมัธยมศึกษาโรงเรียนราชานุกูลสำหรับสอนเด็กปัญญาอ่อน
โรงเรียนราชานุกูล
สำหรับสอนเด็กปัญญาอ่อน
            ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อน ก็ได้เริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพแบบโรงงานในอารักษ์ ที่นนทนิเวศน์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพแก่บุคคลพิการทางสติปัญญาวัยผู้ใหญ่

            สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่เป็นเด็กเรียนช้านั้น ก็ได้มีการจัดการศึกษาพิเศษให้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยกรมสามัญศึกษา จัดเป็นชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติ ในเขตกรุงเทพมหานคร ๔ แห่ง คือ ที่โรงเรียนพญาไท โรงเรียนวัดชนะสงคราม โรงเรียนวัดนิมมานรดี และโรงเรียนวัดหนัง ต่อมาได้ขยายออกไปอีก ๕ แห่ง และในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้มีบางโรงเรียนยกเลิกโครงการไป แต่กรมสามัญศึกษาก็ยังสงวนไว้ ๕ แห่ง คือ โรงเรียนวัดชนะสงคราม โรงเรียนพญาไท โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ โรงเรียนวัดหนัง และโรงเรียนวัดเวตวันธรรมาวาส

ศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนประภาคารปัญญา
เป็นศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนรุนแรง

            ในปัจจุบัน ได้มีการขยายโอกาสให้เด็กพิการทางสติปัญญา ทั้งประเภทเรียนช้า และปัญญาอ่อนระดับเรียนได้ ในระดับประถมศึกษาออกไปอีกหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ สังกัดกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา รวมทั้งในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เช่น กาญจนบุรี เลย สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา