การสร้างตัวพิมพ์อักษรไทย
ผู้ที่ได้ดำเนินการดัดแปลงตัวอักษรไทยเป็นตัวพิมพ์เป็นคนแรกคือ นางจัดสัน ชื่อเดิมคือ นางแอนน์ ฮาเซลไตน์ จัดสัน (Mrs. Ann Hazeltine Judson) เป็นภรรยาของบาทหลวงอะโดนิราม จัดสัน (Adoniram Judson) มิชชันนารีอเมริกัน คณะแบบติสต์ในประเทศพม่า นางจัดสันเข้าไปอยู่ในเมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า ในปี พ.ศ.๒๓๕๖ (ค.ศ.๑๘๑๓) ได้พบคนไทย และลูกหลานคนไทย ที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลังไปอยู่ในพม่าเป็นจำนวนมาก ได้เริ่มศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยกับเชลยไทย ในราวปี พ.ศ.๒๓๕๙ ดังปรากฏในจดหมายที่นางได้เขียนถึงเพื่อนในสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๓๖๑ มีข้อความว่า "...ที่ส่งมาพร้อมนี้คือ คำสอนทางศาสนาเป็นภาษาไทย ซึ่งฉันเพิ่งลอกเสร็จ เธอจะได้เห็นแบบและลักษณะของการเขียนภาษาไทยได้ดี ฉันได้เรียนภาษาไทยมากกว่าหนึ่งปีครึ่ง และด้วยความช่วยเหลือของครู ฉันจึงสามารถแปลคำสอนทางศาสนาของพม่า และกอสเพลออฟแมททิวออกเป็นภาษาไทย..."
หน้าในเริ่มเรื่องของ
หนังสือคำสอนคริสตังภาคต้น
ในปี พ.ศ.๒๓๕๙ (ค.ศ.๑๘๑๖) นั้นเอง คณะแบบติสต์ได้ส่งนายยอร์ช เอช ฮัฟ (George H. Hough) ซึ่งเป็นช่างพิมพ์ให้นำแท่นพิมพ์ และตัวพิมพ์เข้าไปในประเทศพม่า บาทหลวงจัดสันได้ร่วมกับนางฮัฟสร้างตัวพิมพ์อักษรพม่า ในขณะเดียวกันนางจัดสันก็ได้ร่วมมือกับนายฮัฟสร้างตัวพิมพ์อักษรไทย หล่อขึ้นได้สำเร็จในพม่าในปี พ.ศ.๒๓๖๐ (ค.ศ.๑๘๑๗) และพิมพ์หนังสือขึ้นด้วยตัวพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรกในปีนั้น แต่ไม่มีหลักฐานเหลือมาว่า เป็นหนังสืออะไร
ในปี พ.ศ.๒๓๖๒ (ค.ศ.๑๘๑๙) กรุงอังวะผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน มีเหตุการณ์ยุ่งยากคับขันในพม่า มิชชันนารีชุดนั้นได้นำแท่นพิมพ์ และตัวพิมพ์ที่สร้างขึ้นทั้งหมด มีตัวพิมพ์อักษรไทย พม่า กะเหรี่ยง และมอญ อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่เมืองเซรัมโปร์ นครกัลกัตตา ในประเทศอินเดีย กล่าวกันว่า ได้มีการพิมพ์หนังสือคำสอนศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นคำแปลที่นางจัดสันได้แปลขึ้นเป็นภาษาไทย ที่โรงพิมพ์ของคณะแบบติสต์ในกัลกัตตา แต่ก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือเหลือให้เห็น จนในปี พ.ศ.๒๓๗๑ (ค.ศ.๑๘๒๙) ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ "A Grammar of the Thai or Siamese Language" เป็นตำราไวยากรณ์ไทยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ โดย ร.อ.เจมส์โลว์ (Capt. James Low) ซึ่งเคยเป็นข้าราชการของอังกฤษ ทำงานที่เกาะหมาก หรือเกาะปีนัง และมีความรู้ภาษาไทย พิมพ์ที่โรงพิมพ์คณะแบบติสต์ (The Baptist Mission Press) ที่เมืองเซรัมโปร์ นครกัลกัตตา เป็นหนังสือที่มีขนาดโตกว่าหนังสือแปดหน้ายกเล็กน้อย มีความหนา ๑๐๒ หน้า มีหน้าที่พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์อักษรไทยหลายหน้า และมีหน้าพิมพ์ที่แสดงให้เห็นตัวอย่างลายมือเขียนภาษาไทย เป็นการพิมพ์จากแม่พิมพ์หินด้วย หนังสือเล่มนี้ยังมีเหลือให้เห็นหลายเล่ม นับว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์อักษรไทยที่เก่าแก่ที่สุด ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นางแอนน์ ฮาเซลไตน์ จัดสัน
(Mrs. Ann Hazeltine Judson)
ในปี พ.ศ.๒๓๖๖ (ค.ศ.๑๘๒๓) สมาคมมิชชันนารีลอนดอน (London Missionary Society) ได้ซื้อตัวพิมพ์ไทยที่หล่อเป็นชุดแรกจากนครกัลกัตตาเข้ามาใช้ในสิงคโปร์ และได้จัดพิมพ์แนวคำสอนของคณะมิชชันนารีลอนดอนขึ้นใน พ.ศ.๒๓๗๔ (ค.ศ.๑๘๓๑) จำนวน ๖,๐๐๐ ฉบับ และได้มอบให้มิชชันนารี อะบีล (Abeel) นำเข้ามาแจกในกรุงเทพฯ จึงน่าจะเป็นการนำหนังสือที่พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ไทยมาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก
ใน พ.ศ.๒๓๗๗ (ค.ศ.๑๘๓๔) คณะมิชชันนารีอเมริกัน American Board of Commissioners for Foreign Missions (A.B.C.F.M.) ได้ซื้อกิจการโรงพิมพ์ของคณะมิชชันนารีลอนดอน และได้ส่งนายอัลเฟรด นอร์ธ (Alfred North) ช่างพิมพ์จากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา มาเป็นผู้ดูแลกิจการพิมพ์ในสิงคโปร์ นอร์ธเป็นผู้มีความรู้กว้างขวางในวิชาการพิมพ์ ตลอดจนการหล่อและตบแบบตัวพิมพ์ (Stereotype) ในการทำการสำรวจสิ่งของในโรงพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๓๗๘ ปรากฏว่า มีตัวพิมพ์อักษรไทยอยู่สองกระบะคู่ ซึ่งเท่ากับ ๒ ชุด ตัวพิมพ์อักษรไทยชุดหนึ่งประกอบด้วยกระบะตัวพิมพ์คู่ หนึ่งหรือสองกระบะ ในขณะนั้นที่สิงคโปร์ไม่ได้มีแต่ตัวพิมพ์ไทย แต่ได้มีการซื้อแม่ทองแดง ที่ใช้หล่อเป็นตัวพิมพ์อักษรไท จากเมืองเบงกอล ในอินเดีย เข้ามาด้วย ผู้ควบคุมทำแม่ทองแดงนั้นคือ ดร.มาชแมน (Dr. Marshman) สิงคโปร์จึงสามารถหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นใช้งานได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ