เล่มที่ 18
ประวัติการพิมพ์ไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การพิมพ์ของคนไทย

            ศาสตราจารย์จอห์น เทเลอร์ โจนส์ (John Taylor Jones) เขียนไว้ว่า ในปี พ.ศ.๒๓๗๖ มีคนไทยคนหนึ่งสนใจในวิชาการพิมพ์ ไปฝึกเรียนงานมาจากสิงคโปร์หลายเดือน และได้พยายามจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้น แต่ไม่ค่อยมีทุน

            คนไทยคนแรกที่ริเริ่มกิจการพิมพ์หนังสือขึ้นคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ และยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเห็นประโยชน์ของหนังสือ ในเมื่อคณะมิชชันนารีพิมพ์หนังสือเผยแผ่ศาสนาคริสต์ พระองค์ทรงดำริให้ใช้การพิมพ์เผยแผ่ศาสนาพุทธ จึงโปรดฯ ให้สั่งเครื่องพิมพ์มาตั้งที่วัดบวรนิเวศวิหาร ดังปรากฏในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

            "ครั้งนั้นการตีพิมพ์หนังสือยังไม่แพร่หลาย มีโรงพิมพ์แต่ของพวกมิชชันนารี พิมพ์หนังสือสอนศาสนา ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดพิมพ์พระปาติโมกข์บ้าง สวดมนต์บ้าง แบบแผนอย่างอื่นบ้าง เป็นอักษรอริยกะใช้กันในสำนักนี้ แทนหนังสือลาน"

            การจัดตั้งโรงพิมพ์จะเป็นวันใด พ.ศ.ใด ยังค้นเวลาไม่ได้ ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ เมื่อทางคณะมิชชันนารีของหมอบรัดเลย์หล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นได้สำเร็จ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎชุดหนึ่ง พร้อมด้วยตัวพิมพ์ภาษาอังกฤษ ๑ ชุด ซึ่งอาจเป็นต้นเค้าของการเกิดโรงพิมพ์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ใน พ.ศ.๒๓๘๖ ปรากฏในรายงานของคณะมิชชันนารี A.B.C.F.M. ว่า เจ้าฟ้าใหญ่คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ มีโรงพิมพ์ที่เยี่ยมยอด มีตัวพิมพ์อักษรโรมันหลายแบบ มีแม่ทองแดงหล่อตัวพิมพ์ และเบ้าหล่อตัวพิมพ์เอง พระองค์ยังได้ทรงสร้างอักษรขึ้นชุดหนึ่งคือ ตัวอักษรอริยกะ

สภาพโรงพิมพ์ที่วัดบวรนิเวศวิหารในสมัยเริ่มแรก (ภาพจากจินตนาการ)

หนังสือราชกิจจานุเบกษ

            ใน พ.ศ.๒๓๙๐ หนังสือบางกอกคาเลนเดอร์ของหมอบรัดเลย์ระบุว่า โรงพิมพ์ของเจ้าฟ้าใหญ่มีแท่นพิมพ์ ๑ แท่น ตัวพิมพ์อักษรไทย ๑ ชุด ตัวพิมพ์อังกฤษ ๒ ชุด และตัวพิมพ์ภาษาบาลี ๒ ชุด สิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลี และกล่าวว่ เป็นโรงพิมพ์โรงแรกของไทย

            สภาพของโรงพิมพ์ที่วัดบวรนิเวศวิหารได้มีผู้บันทึกไว้ว่า "พวกเราขอดูในห้องพิมพ์ของพระองค์ ที่นั้นพระสงฆ์หนุ่มๆ หลายองค์กับคนใช้นั่งอยู่บนม้าทำด้วยไม้ไผ่ พระรูปหนึ่งกำลังเรียงพิมพ์ อีกรูปหนึ่งกำลังพับเข้าเล่ม และอีกรูปหนึ่งกำลังตรวจปรู๊ฟ พวกพระสงค์ให้หนังสือแก่เราเล่มหนึ่ง ซึ่งได้พิมพ์เป็นภาษาบาลี โดยตัวพิมพ์ใหม่ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าได้ทรงกระทำเอง หนังสือนั้นเป็นเรื่องพระบัญญัติสิบประการตามพระพุทธศาสนา กับทั้งคำอธิบายพระบัญญัตินั้น หมอแคสเวลได้ทูลพระองค์ไว้แต่ครั้งก่อนให้ทราบว่า มิตรสหายของเราชื่อ จี ดับบลิว เอดดี้ ในเมืองวอเตอร์ฟอร์ด ได้ถวายน้ำหมึกสำหรับพิมพ์หนังสือหีบหนึ่ง พระองค์จึงทรงถามว่า น้ำหมึกนั้นมาจากใคร"

            ในปี พ.ศ.๒๓๙๒ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีหนังสือติดต่อกับพระสหายคือ นายและนางเอ็ดดี้ ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ช่วยจัดหาซื้อเครื่องพิมพ์หินจากสหรัฐอเมริกาส่งมาให้พระองค์เครื่องหนึ่ง มีหลักฐานปรากฏเป็นลายพระหัตถ์ที่มีพระราชทานไปถึงนายและนางเอ็ดดีถึงสองฉบับ การพิมพ์หินในขณะนั้นยังไม่มีในเมืองไทย แต่ตามพระราชหัตถเลขานั้น แสดงว่า ทรงรอบรู้ และเข้าใจเรื่องการพิมพ์หินเป็นอย่างดี ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า เครื่องพิมพ์หินได้มีการนำเข้ามาในเมืองไทยเมื่อใด แต่ตามบันทึกของหมอบรัดเลย์ว่า การพิมพ์หินครั้งแรกในเมืองไทยมีในปี พ.ศ.๒๔๐๒ หลังจากพระราชหัตถเลขาติดต่อสั่งซื้อไปหลายปี

            พ.ศ.๒๓๙๔ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงลาผนวช ขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการพิมพ์ในวัดบวรนิเวศวิหาร ก็ยังคงดำเนินการอยู่ ภายใต้การดูแลของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพิมพ์ขึ้นอีกแห่งหนึ่งในบริเวณพระราชวังชั้นกลาง บริเวณโรงแสงต้น เป็นตึกสองชั้นพระราชทานชื่อว่า โรงพิมพ์อักษรพิมพการ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์หลวง ทำหน้าที่เป็นโรงพิมพ์แห่งชาติโรงแรก ใน พ.ศ.๒๔๐๑ ได้จัดพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาอันเป็นหนังสือพิมพ์ของราชการฉบับแรก สำหรับบอกข่าวคราวในราชสำนัก และเก็บความจากประกาศของราชการต่างๆ พิมพ์ออกเผยแพร่

            ใน พ.ศ.๒๔๐๔ เมื่อส่งคณะทูตไทยไปอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ขุนมหาสิทธิโวหาร ร่วมไปด้วยในคณะทูต และทรงมอบหมายให้ไปศึกษาดูงานในเรื่องการพิมพ์ เพื่อจะได้นำความรู้ทางการพิมพ์เข้ามาปรับปรุงกิจการพิมพ์ของโรงพิมพ์หลวงให้ดีขึ้น ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงขุนมหาสิทธิโวหารระหว่างที่อยู่ในอังกฤษดังนี้

            พระราชหัตถเลขาถึงขุนมหาสิทธิโวหาร "จดหมายมาถึง ขุนมหาสิทธิโวหาร ว่าซึ่ง จัดให้ขุนมหาสิทธออกไปครั้งนี้ ด้วยประสงค์จะให้เจริญความรู้ในการทำหนังสือพิมพ์ เพื่อจะให้ไปดูเห็นการเห็นงานในการ ซึ่งเป็นต้นๆ อ่อนๆ เบาๆ พอไทยจะทำได้นั้น ถ้าการไปถึงจักรฟืน จักรไฟก็เป็นการโตใหญ่สูงกว่ากำลังเมืองไทย และต้องการในเมืองไทยนี้ไปอย่างตื่นฟืนตื่นไฟไป เพราะในเมืองไทยนี้หนังสือคนอ่านก็ได้น้อย ก.ข. นโม ก็ไม่เป็นรสเรื่องอะไรเท่าไรนัก ซึ่งให้ไป ทั้งนี้ คือ จะให้สังเกตการณ์ซึ่งเป็นร้านๆ สิ่งไรที่ยากมาแต่ก่อน จะให้ง่ายเข้า สิ่งไรที่ไม่สู้ดีมาแต่ก่อน จะให้ดีขึ้น อันนั้นก็คือ เมื่อทำตัวเหล็ก ตัวทองแดง ซึ่งเป็นแบบหล่อ ทำอย่างไรจะเที่ยงจะงามดี หนังสือจะไม่เลอะเทอะนัก และจะแล้วได้เร็วได้ง่ายต่อไปเล่า คือ การหล่อตัวดีบุก แต่งตัวดีบุก อย่างไรจึงจะเที่ยงดีจะง่ายจะเร็วเข้าไม่หนักแรง จะมีเครื่องมือแปลกประหลาดไปอย่างไรบ้าง ให้คิดอ่านร่ำเรียนมาหามา แต่ถ้าถึงกลฟืนกลไฟไปนัก อย่าตื่นไปอย่าออไปนัก คิดแบ่งเอาแต่พอสมควร กับการในเมืองไทย

            อนึ่งสำคัญที่อย่างธรรมเนียมแบบแผนใช้ คนที่จะเรียงพิมพ์ เก็บพิมพ์นี้แล เขาใช้คนลูกจ้าง ทำการอย่างไรที่ควรจะเลียนเอามาเป็นอย่าง ให้ สังเกตเปรียบเทียบคิดอ่านในการที่จะใช้คนทำงานให้ดีได้กว่าแต่ก่อนอย่างไร จะเรียงได้เร็ว จะ เก็บได้ไม่ยุ่งด้วย การเก็บพิมพ์เรียงพิมพ์คงต้องใช้มือคนตาคน ต้องเอาใจใส่ แต่ในการธรรมเนียม ซึ่งจะมาเอาอย่างใช้คนนั้น อีกนัยหนึ่งเหมือน หนังสือพิมพ์ที่จะต้องการประกาศไปนานๆ เป็นกฎหมายจะต้องตีแล้วตีอีกนั้น ได้ยินว่าเขามีแบบ สำหรับหล่อถ่ายเป็นปีกไว้ แต่พิมพ์ที่เรียงแล้วเพื่อ จะไม่ต้องเรียงบ่อยๆ ก็เครื่องเช่นนี้ของเรายังหามีไม่ จงเอาใจใส่หาเครื่องมือมา หรือดีบุกที่จะหล่อนั้น จะเอาดีบุกเมืองนี้ใช้ ก็จะยาก ก็ให้จัดซื้อดีบุก สำหรับหล่อพิมพ์เข้ามา ได้ยินว่า พิมพ์ปีกเช่นนี้เขาถ่ายถอนลงในดินขาวเช่นปั้นตุ๊กตา ที่อังกฤษเรียกว่า เกลหรือฉอก ก็ของเช่นนี้จะหาที่ในกรุงเห็นจะไม่ได้ ให้หาเข้าพอใช้เป็นตัวอย่าง แล้วจึงหาสิ่งอื่นใช้ที่นี่ แต่ให้รู้แห่งที่สั่งไว้ ถ้าหาที่นี่ไม่ได้จะได้สั่งให้จัดซื้อ หรือควรใช้หมึกและสิ่งใดที่แปลกๆ ก็ให้เข้าใจมา

            อนึ่งพิมพ์ลิสอกแกรฟี ที่ใช้ตีด้วยศิลานั้น เป็นของเอาเร็ว ได้เขียนรูปภาพก็ได้ ที่นี้เครื่องมือ ก็มีอยู่ แต่สรรพยาที่ใช้เก่าไปหมดไป สนใจหา เข้ามาและหัดทำให้คล่องให้ดี เมื่อต้องการจะ ใช้การเร็ว เมื่อทุนรอนจะต้องจ่ายลง ในการจัด ซื้อเครื่องเหล่านี้ไม่พอก็ให้คิดอ่านกับทูตขอยืมผู้ ครองฝ่ายฝรั่งเศสหรืออังกฤษให้ออกเงินให้ก่อน จึงค่อยคิดใช้แก่กงสุลของเขาที่กรุงก็ได้ดอก

            ออกไปครั้งนี้อย่าไปตื่นอื่นๆ ต่าง ๆ ทำให้เสียงานเสียการที่ประสงค์ไป ให้ได้ประโยชน์ที่ประสงค์มา ทำให้การโรงพิมพ์ของเราดีขึ้นกว่าแต่ก่อนบ้าง เพราะการอื่นๆ เหมือนอย่างเครื่องกลไฟ และอะไรที่ประหลาด ท่านทั้งปวงท่านขวนขวายขึ้นได้ดีๆ ในเมืองไทยนี้เป็นอันมาก แต่การพิมพ์นี้ไม่มีใครเอาใจใส่ การก็ใช้เป็นประโยชน์มาก ทั้งราชศาสตร์ พุทธศาสตร์ คิดเอาราชการของเจ้าของนายให้เป็นเกียรติยศ เป็นคุณแก่การแผ่นดิน และการศาสนาไว้บ้างเถิด"

จดหมาย ณ วัน ๒ฯ๘๘๘ ค่ำ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓

            จากพระราชหัตถเลขาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในการพิมพ์เป็นอย่างมาก ทรงมีความรอบรู้ในวิชาการทางการพิมพ์เป็นอย่างดี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ นั้น โรงพิมพ์อักษรพิมพ์การมีการพิมพ์หินแล้ว แต่อุปกรณ์น้ำยาทางเคมีคงหมดสิ้นไป จึงรับสั่งให้ขุนมหาสิทธิโวหารได้หาซื้อกลับมาด้วย หนังสือที่พิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์หินที่ยังเหลือให้เห็นเป็นที่ประจักษ์คือ หนังสือกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ตัว หนังสือเป็นตัวเขียนลายมือบรรจงสม่ำเสมอ สวยงามมาก เป็นหนังสือที่ครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น ตลอดจนศาสนา มีความหนา ๓๙๐ หน้า ท้ายเล่มหนังสืออธิบายไว้ว่า

            "หนังสือเรื่องนี้ คิดเป็นหกเล่มสมุดไทย รวมลงในสมุดฝรั่งเป็นเล่มหนึ่ง จะขอขายเป็นราคาเงินบาท มิใช่จะหากำไรเป็นผลประโยชน์ทางค้าขาย ในหนังสือเรื่องนี้หามิได้แต่ พอได้ทุนค่ากระดาษ แลค่าเครื่องมือค่าเครื่องยา แลค่าจ้างผู้ทำเท่านั้น พอจะได้ทำต่อๆ ไปอีก ก็ที่ราคาแพงกว่าพิมพ์หมอบรัดเลย์นั้น ก็เพราะพิมพ์ หมอบรัดเลย์เป็นพิมพ์ดีบุก ทำได้เร็ว พิมพ์นี้เป็น พิมพ์เขียนตีได้ช้านัก ค่าจ้างแลแรงคนจึงได้มาก ขึ้นไป ถ้าจะคิดให้ละเอียดจริงๆ เล่มละก็อยู่ใน ขาดทุนสักบาทหนึ่ง แต่ปรารถนาจะให้หนังสือนี้ กว้างขวางออกไป จึงสู้ทนขาดทุนไป ถ้าท่านผู้ใด จะประสงค์หนังสือนี้อ่านแล้ว ก็จงไปซื้อเอาที่ ศาลาเวร กรมท่านั้นเทอญ"