โรงพิมพ์ในเมืองไทย
หมอบรัดเลย์ได้ตั้งโรงพิมพ์มิชชันนารีขึ้นในเมืองไทย ในปีพ.ศ.๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในวัดบวรนิเวศวิหาร ขณะยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ และยังทรงผนวชอยู่ราวประมาณปี พ.ศ.๒๓๘๕ ทรงตั้งโรงพิมพ์อักษรพิมพการขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อครองราชย์แล้ว ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ หลังจากนั้นก็ได้มีคนอื่นๆ จัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมาตามลำดับ เพื่อพิมพ์หนังสือพิมพ์ และพิมพ์งานทั่วไปแข่งขันกับหมอบรัดเลย์ ใน พ.ศ.๒๔๐๗ หมอจันดเล (Chandler) ได้พิมพ์หนังสือพิมพ์สยามวีคลี และหนังสือบางกอกเพรส (ไม่ทราบนามเจ้าของ) ออกเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ทั้งสองเล่ม ออกได้ปีเดียว ก็เลิกกิจการไป ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ มีหนังสือพิมพ์สยามวีคลี โมนิเตอร์ และ พ.ศ.๒๔๑๑ มีหนังสือพิมพ์บางกอกซัมมารี เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์พิมพ์ออกมา และล้มเลิกไปในปีเดียวทั้งสองฉบับ หนังสือยุคแรกๆ เป็นหนังสือพิมพ์ของฝรั่งทั้งสิ้น ที่ออกมาแข่งขันกันล้มลุกคลุกคลาน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๑ หมอสมิท (Samuel John Smith) ได้ตั้งโรงพิมพ์หมอสมิทขึ้น อยู่ที่ตำบลบางคอแหลมจัดพิมพ์หนังสือต่างๆ ออกจำหน่าย
หมอแซมมวล จอห์น สมิท
หนังสือพิมพ์รายวัน ชื่อ Siam Daily Advertiser
หนังสือที่หมอบรัดเลย์จัดพิมพ์ ส่วนมากเป็นหนังสือปกแข็งรูปเล่มคงทนสวยงาม เป็นหนังสือกฎหมายพงศาวดารเรื่องสำคัญเป็นหลักฐาน หนังสือที่หมอสมิทจัดพิมพ์มีทั้งปกแข็ง และปกอ่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือประโลมโลก พิมพ์เป็นสมุดเล็กๆ เนื้อเรื่องแต่ละเล่มเท่ากับเล่มสมุดไทย พิมพ์เป็นปกอ่อน ขายราคาเล่มละสลึง ดังมีกลอนกล่าวกันติดปากว่า "เล่มสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ" หนังสือของหมอสมิทจึงเป็นหนังสืออ่านเล่น เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นส่วนใหญ่ ผู้อ่านนิยม ขายได้ดีมีกำไร หมอสมิทจึงพิมพ์หนังสือ เพื่อการค้าเป็นสำคัญ ทั้งยังเป็นผู้สั่งแท่นพิมพ์หนังสือเข้ามาขาย ทำให้เกิดโรงพิมพ์ขึ้นอีกหลายโรง และยังเป็นผู้พิมพ์หนังสือตำราการพิมพ์ขึ้นอีกด้วย โรงพิมพ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มีทั้งที่เป็นของคนไทย ฝรั่ง และจีน ตั้งอยู่ในบริเวณกรุงเทพฯ และธนบุรี
ในปี พ.ศ.๒๔๑๑ หมอสมิท และหมอแอนดูรส์ (Mr. John smith and Mr. Thomas S. Andrew) ได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันเป็นฉบับแรกในประเทศไทย หนังสือพิมพ์ที่เคยพิมพ์ออกมาก่อนหน้านั้น เป็นการออกหลายวันต่อฉบับ หนังสือพิมพ์รายวันที่พิมพ์ออกมาชื่อ Siam Daily Advertiser ระยะแรกออกวันละแผ่น มีข่าวเรือเข้าเรือออก และแจ้งความประสงค์การจำหน่ายสินค้าของห้างร้านต่างๆ ๒-๓ เรื่อง ข่าวคนตาย ข่าวบุคคลสำคัญชาวต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทย และข่าวพิธีทางคริสต์ศาสนา พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาจึงได้มีการพิมพ์เป็นภาษาไทยควบคู่กันไป จำนวนหนังสือที่พิมพ์กันในสมัยรัชกาลที่ ๔ พิมพ์รายการละ ๒๐๐-๓๐๐ ฉบับเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นคำสอนทางศาสนาคริสต์ที่พิมพ์ เผยแพร่ จึงพิมพ์เป็นจำนวนพัน และประกาศห้ามสูบฝิ่นที่พิมพ์ในรัชกาลที่ ๓ พิมพ์ถึง ๙,๐๐๐ ฉบับ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การพิมพ์ได้ขยายกว้างขวางขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องหนังสือ ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เองหลายเล่ม ทรงก่อตั้งโรงเรียน และสร้างระบบการศึกษาขึ้นใหม่ โรงพิมพ์อักษรพิมพการที่มีอยู่เดิมดำเนินการขาดทุน ทรงให้เลิกกิจการในปี พ.ศ.๒๔๓๔ และทรงรับสั่งให้เจ้าพระยาอภัยราชา ตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นชื่อว่า กอบเวิร์นแมน พริ้นติ้ง ออฟฟิศ (Government Printing Office) ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙
หนังสือพิมพ์รายวันของคนไทยฉบับแรกที่ออกมาคือ หนังสือพิมพ์คอร์ต (Court) พิมพ์ออกมาในรัชกาลนี้ เริ่มออกในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๘ มีเจ้านายหลายพระองค์ได้ร่วมกันจัดทำ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เปลี่ยนชื่อเป็นข่าวราชการ และเลิกกิจการไปในปีนั้นเอง ในรัชกาลนี้ได้มีการจัดตั้งโรงพิมพ์มากขึ้นทั้งของส่วนราชการและของเอกชน ทั้งคนไทยและคนต่างชาติซึ่งมีทั้งฝรั่งและจีน เช่น โรงพิมพ์มหันตโทษโรงพิมพ์กรมไปรษณีย์โทรเลขสยาม โรงพิมพ์สกุลพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงพิมพ์ศุภมิตรบำรุง โรงพิมพ์สารนคร โรงพิมพ์บ้านนายสิน โรงพิมพ์นายเทพ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์อักษรนิติ์ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร โรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ โรงพิมพ์แมกฟาแลนด์ เป็นต้น ปริมาณหนังสือที่พิมพ์เล่มหนึ่งๆ ก็มีปริมาณสูงขึ้นถึง ๑,๕๐๐-๑,๗๐๐ ฉบับ
สมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหาธีรราชเจ้า ทรงสนพระทัยในหนังสือมาก ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่างๆ มากมาย และบทความต่างๆ ลงพิมพ์ในวารสาร ในหนังสือพิมพ์เป็นอันมาก การจัดพิมพ์ในยุคนี้จัดทำกันอย่างประณีตสวยงาม ตลอดจนการเข้าเล่ม ทำปกแข็งเดินทอง ก็ทำกันด้วยฝีมือประณีต ทรงกำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับ ทำให้การศึกษาขยายตัว เศรษฐกิจของบ้านเมืองก็มั่นคง การทำหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพในการจัดทำ การพิมพ์ของบ้านเมืองก็ได้ขยายตัวเจริญขึ้นตามการขยายตัวของการศึกษาและความเจริญด้านเศรษฐกิจของบ้านเมือง เว้นแต่ตอนเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๗ และตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๘ การพิมพ์และการผลิตหนังสือซบเซาลงเพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจการขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการพิมพ์ ทำให้การผลิตทางการพิมพ์มีคุณภาพต่ำและมีปริมาณน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองกระดาษขาดแคลนมาก ต้องพิมพ์หนังสือด้วยกระดาษที่ผลิตภายในประเทศในขณะนั้น ซึ่งมีคุณภาพต่ำมากและมีสีคล้ำจัด เมื่อนำมาพิมพ์ทำให้ได้สิ่งพิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพ ตลอดช่วงสงครามซึ่งเป็นระยะเวลาหลายปี ไม่ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มปริมาณเครื่องมือทางการพิมพ์เลย