เล่มที่ 18
ประวัติการพิมพ์ไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การศึกษาวิชาการพิมพ์

            สมัยเริ่มแรกที่หมอบรัดเลย์นำการพิมพ์เข้ามาในเมืองไทยต้องจ้างช่างเรียง และช่างพิมพ์ เข้ามาจากอเมริกา ช่างพิมพ์คนแรกที่จ้างเข้ามาในเมืองไทยคือ นายโรเบิร์ต ดี ดาเวนพอร์ต เข้ามาถึงเมืองไทยในปี พ.ศ.๒๓๗๙ ช่างเหล่านี้นอกจากทำงานแล้ว ยังได้ฝึกสอนคนไทยให้เข้าใจในงาน จึงจะให้ทำงานในโรงพิมพ์ สมัยรัชกาลที่ ๔ ขณะดำรงพระยศเป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ และทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น ก็ได้โปรดฯ ให้พระ เณร และศิษย์วัดได้ฝึกหัดวิชาการพิมพ์จากโรงพิมพ์นั้นเอง การศึกษาวิชาการพิมพ์ในยุคแรกๆ นี้ จึงอาศัยฝึกหัดกันเองในโรงพิมพ์ แต่เมื่อกิจการพิมพ์ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไป ก็ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนให้บุคคลที่สนใจ เข้าทำงานในหน้าที่ต่างๆ ด้านการพิมพ์เข้าศึกษาเล่าเรียนโรงเรียนของราชการ โรงเรียนแรกที่เปิดสอนวิชาการพิมพ์คือ โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เปิดสอนวิชาการทางช่างพิมพ์ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้เปิดสอนวิชาชีพแขนงต่างๆ ในวิชาช่างพิมพ์ โดยตอนแรกรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ให้เรียนต่อตามหลักสูตรอีก ๔ ปี ต่อมาได้ลดระดับความรู้ลง โดยรับนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ มาเรียนต่ออีก ๓ ปี ได้ผลิตนักเรียนออกมาหลายรุ่น และได้ยกเลิกการสอนในประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๗ อันเป็นเวลาอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุปกรณ์ต่างๆ ทางการพิมพ์ขาดแคลน ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดการสอนวิชาทางการพิมพ์ขึ้นมาอีกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ สังกัดกรมอาชีวศึกษา รับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ในขณะนั้น เรียนต่อตามหลักสูตรขั้นต้น ๓ ปี และขั้นสูงอีก ๒ ปี ได้วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เทียบกับวุฒิอนุปริญญานับว่า เป็นการศึกษาในระดับที่เป็นอุดมศึกษา โรงเรียนสารพัดช่างสังกัดกรมอาชีวศึกษา ก็ได้เปิดสอนวิชาช่างพิมพ์ เป็นวิชาชีพสำหรับผู้สนใจทั่วไปด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้มีโรงเรียนของเอกชนหลายแห่ง ได้เปิดสอนวิชาการพิมพ์เป็นวิชาชีพทั่วไป ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดสอนวิชาการพิมพ์ระดับปริญญาตรีขึ้น ในคณะวิทยาศาสตร์ ตอนแรกสังกัดอยู่ในภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป และได้ยกระดับขึ้นเป็นภาควิชาภาพถ่าย และเทคโนโลยีทางการพิมพ์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ การศึกษาวิชาการพิมพ์ จึงเป็นการศึกษาระดับอุดมศึกษา

โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช