การพิมพ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
การพัฒนาต่างๆ ได้หยุดชะงักไปตลอดระยะเวลาที่มีสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสงครามสิ้นสุดลง จึงได้มีการฟื้นฟูเร่งรัด และพัฒนา ในทุกด้านของบ้านเมือง มีการขยายตัวในด้านการศึกษา และพัฒนา ในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้มีการปรับปรุง และขยายตัวทางด้านการพิมพ์ในเมืองไทยออกไปอย่างกว้างขวาง และพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์ จัดให้มีการปรับปรุงการศึกษาทางด้านการพิมพ์เพื่อเตรียมบุคลากร และยกระดับคุณภาพของบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ทั้งยังได้มีการนำเครื่องจักรเครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้งาน กิจการด้านการพิมพ์ได้กระจายออกไปยังภูมิภาค มีการจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในจังหวัดและอำเภอใหญ่ๆ ทั่วราชอาณาจักร มีการนำระบบการพิมพ์ออฟเซตเข้ามาใช้งาน ในทศวรรษสุดท้ายของพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ต่อมาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๖ โรงพิมพ์ที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ขนาดเล็ก ก็ได้เริ่มขยายตัวเป็นโรงพิมพ์ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ องค์การค้าของคุรุสภาได้สร้างโรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าวขึ้น เป็นโรงพิมพ์ที่มีเครื่องจักรต่างๆ ทางการพิมพ์เป็นจำนวนร้อยเครื่องได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีพนักงานกว่าพันคน ปริมาณการพิมพ์แบบเรียนแต่ละเล่มครั้งหนึ่งๆ มีปริมาณสิ่งพิมพ์เป็นจำนวนแสน จำนวนล้าน ต่อมาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้นำแท่นพิมพ์โรตารีออฟเซต มาใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์เป็นรายแรก การพิมพ์หนังสือพิมพ์ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้สร้างโรงพิมพ์ พิมพ์หนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่อย่างสมบูรณ์แบบ หนังสือพิมพ์หลายฉบับมีปริมาณการพิมพ์ในแต่ละวันจำนวนเป็นแสนๆ และบางวันที่มีข่าวสำคัญๆ ปริมาณพิมพ์จะมีจำนวนเป็นล้าน โรงพิมพ์กรมแผนที่ได้นำระบบการเรียงพิมพ์ด้วยแสงเข้ามาใช้เป็นรายแรกโรงพิมพ์โรงงานยาสูบได้นำระบบการพิมพ์พื้นลึกเข้ามาใช้พิมพ์ซองบุหรี่ โรงพิมพ์คุรุสภาได้นำเครื่องพิมพ์สองสีและเครื่องพิมพ์สี่สีเข้ามาใช้งานเป็นรายแรก และได้นำเครื่องทำเล่มปกอ่อนอัตโนมัติสมบูรณ์แบบ เข้ามาใช้งานเป็นรายแรกเช่นเดียวกัน เครื่องจักร เครื่องมือ และระบบการพิมพ์ใหม่ๆ ต่างก็ทยอยนำเข้ามาใช้งานในประเทศเป็นจำนวนมากในระยะนี้ จนกิจการด้านพิมพ์เป็นอุตสาหกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ และเป็นสินค้าส่งออกอีกด้วย