เล่มที่ 18
ระบบการค้าผลิตผลการเกษตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัญหาการตลาดและความหมาย

            ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประจำทุกปี ก็คือ ราคาพืชตกต่ำ และให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไข เพราะราคาที่ขายได้ต่ำ ไม่คุ้มต้นทุนการผลิต พืชผลที่เคยมีปัญหา เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ยางพารา พริกไทย หอมหัวใหญ่ และกระเทียม สิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็เช่น จัดหาเงินมาก้อนหนึ่ง แล้วออกไปรับซื้อพืชผลดังกล่าวบ้างเล็กน้อย หรือให้สถาบันการเงินออกรับจำนำ หรือให้เงินกู้แก่เกษตรกร โดยเอาพืชผลจำนำไว้ เมื่อราคาสูงขึ้น จึงจะไถ่ถอนจำนำ แล้วขาย และใช้หนี้เงินกู้ ถ้าเป็นสินค้าที่ส่งออก จำหน่ายยังต่างประเทศ รัฐบาลก็อาจจะเร่งหาตลาดต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในปีต่อไปเหตุการณ์นี้ ก็อาจจะเกิดขึ้นอีก

            ตัวอย่างข้างต้นเป็นปัญหาหนึ่งของตลาดสินค้าเกษตร เหตุผลที่ราคาต่ำอาจจะเนื่องมาจาก เพราะสินค้าออกสู่ตลาดพร้อมกันมาก สินค้ามีมากเกินความต้องการของตลาด หรือถ้าเป็นสินค้าส่งออก อาจเป็นเพราะราคาในตลาดต่างประเทศต่ำ เหตุเพราะปริมาณสินค้ามีมาก หรือความต้องการของตลาดชะลอตัว หรือสินค้าที่เกษตรกรไทยผลิตมีคุณภาพไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการก็ได้

            ปัญหาดังกล่าว หรือปัญหาการตลาด จะไม่มี ถ้าผลิตสินค้าขึ้นมา เพื่อบริโภคเอง หรือผู้ผลิตที่อาศัยในหมู่บ้านเดียวกัน จะผลิตสินค้าขึ้นมา แล้วแลกเปลี่ยนกัน เพราะทราบว่า ต้องการสินค้าอะไร ก็ผลิตสินค้านั้นขึ้นมา บางอย่างถ้าผลิตไม่ได้ ก็สามารถเอาของที่ผลิตได้มาก ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านได้ แต่ภาวะเศรษฐกิจ และสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่อาจปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคเอง หรือแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนบ้านดังแต่ก่อนได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมี ๓ ประการคือ

เกษตรกรกำลังตกแต่งและคัดกะหล่ำปลี

สินค้าที่ผู้บริโภคต้องการตลอดทั้งปี สามารถซื้อหาจากร้านขายปลีกได้ 

๑. ผู้ผลิต และผู้บริโภคอยู่ห่างไกลกัน อยู่คนละจังหวัด คนละภูมิภาค หรือคนละประเทศ

๒. สินค้าผู้บริโภคต้องการแม้จะเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ลักษณะสินค้าเปลี่ยนแปลงไป และเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น เกษตรกรขายข้าวเปลือก แต่ผู้บริโภคต้องการข้าวซ้อมมือบรรจุถุงละหนึ่งกิโลกรัม เกษตรกรเลี้ยงไก่ขายไก่ แต่ผู้บริโภคซื้อไก่ชำแหละเป็นชิ้น หรือที่นำไปบริโภคได้เลย เช่น ไก่อบ ไก่ย่าง

๓. สินค้าเกษตรแทบทุกชนิด โดยเฉพาะการปลูกพืช ทำได้เฉพาะบางฤดูกาล มิใช่ปลูกได้ตลอดปี แต่ผู้บริโภคต้องการตลอดทั้งปี คือ ผู้บริโภคสามารถซื้อหาจากร้านขายปลีกทุกวันตลอดปี จะซื้อเวลาใดก็ได้

ทำอย่างไรจึงจะจัดหาสินค้า และบริการประเภทอาหาร ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิต และอยู่ห่างจากผู้บริโภค ในรูปแบบ และลักษณะสินค้า และในช่วงระยะเวลาที่ผู้บริโภคต้องการ นี่คือ ภาระหน้าที่ของการตลาดสินค้าเกษตร การตลาดจึงหมายถึง การดำเนินการทุกชนิดในการนำสินค้า และบริการ จากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค

            คำอธิบายข้างต้นอาจทำให้มองเห็นว่า การตลาดทำหน้าที่ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค เพราะการที่ผู้ผลิตผลิตสินค้า ก็เพื่อขายให้กับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องการสินค้าใด ก็ต้องผลิตสินค้าชนิดนั้น หรือที่เข้าใจกันว่า ผู้บริโภคคือ พระราชา แต่ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ผลิต เพราะผลิตขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีตลาด หรือมีผู้ซื้อ ซึ่งมิใช่ซื้อไปเพื่อบริโภคเองเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อขายต่ออีกหลายทอด จนสุดท้าย เพื่อขายต่อให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้นราคาที่ผู้ผลิตได้รับ ควรที่จะสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคมีความต้องการมาก ราคาก็ควรจะสูง หรือถ้าไม่ต้องการ ราคาก็ควรจะต่ำ ซึ่งถ้าหากตลาดไม่ได้ทำหน้าที่ ผลิตผลของเกษตรกรก็ไม่มีค่า โอกาสที่จะเพิ่มรายได้ของเกษตรกรจึงทำได้ยาก หากมองในแง่การตลาด สินค้าเกษตรก็มีความสำคัญต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก