หน้าที่และค่าใช้จ่ายในการตลาด
ในการทำหน้าที่การตลาด มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาก ลองพิจารณาข้าวสารที่ผู้บริโภคซื้อ ขณะที่ชาวนาผลิตและขายข้าวเปลือก การตลาดเริ่ม เมื่อพ่อค้าในหมู่บ้านออกรับซื้อข้าวเปลือก รวบรวมให้มีสินค้ามากพอ ขนส่งไปขายโรงสี สีแล้วบรรจุกระสอบขนาด ๑๐๐ กิโลกรัม แยกตามชนิด ขายต่อให้พ่อค้าขายส่งภายในประเทศ ส่วนหนึ่งขายให้กับผู้ส่งออก ผู้ส่งออกจัดคุณภาพใหม่ บรรจุใหม่ แล้วส่งจำหน่ายต่างประเทศ ในส่วนที่จำหน่ายภายในประเทศ พ่อค้าขายส่งอาจจะบรรจุใหม่ ถุงละ ๒-๕ กิโลกรัม พิมพ์ยี่ห้อการค้า หรือตราบริษัท แล้วจำหน่ายให้ร้านค้าปลีก อาจจะมีการโฆษณา สินค้าชนิดอื่นๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ หรือเนื้อ ต่างก็ต้องการการบริการ หรือหน้าที่ในการตลาดมาก
ข้าวสารบรรจุในกระสอบเพื่อขายปลีก
โดยสรุปการตลาดทำหน้าที่หลักในสามเรื่องคือ
(๑) ทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนสินค้า คือ การซื้อ-ขาย ระหว่างพ่อค้าในตลาดแต่ละระดับ
(๒) ทำหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับสินค้า เช่น รวบรวม ขนส่ง เก็บรักษา หรือแปรรูปสินค้าอย่างหนึ่ง ให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง
(๓) ทำให้การซื้อขายได้ดำเนินไปได้สะดวก เช่น มีการแยกสินค้าเป็นพวกๆ เป็นชนิด มีการให้กู้ยืมเงิน เพื่อนำไปซื้อสินค้า มีการประกันภัย เพื่อประกันความเสี่ยงในช่วงขนส่ง หรือระหว่างเก็บรักษาสินค้า การให้บริการข่าวสารด้านการตลาด และการโฆษณา
ลองพิจารณาสินค้าอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันกับข้าวสาร เช่น ผัก ผลไม้ ต่างก็ต้องรวบรวมมาจากแหล่งผลิต ขนส่งกันมาเป็นทอดๆ กว่าจะถึงพ่อค้าขายปลีก และสินค้าบางชนิดต้องทำหน้าที่เหล่านี้ด้วยความรวดเร็ว เช่น ผักและผลไม้ เพราะเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย
การขนส่งผลิตผลจากไร่ไปสู่ตลาด
การทำหน้าที่ข้างต้นจะต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องมาก เพราะบางหน้าที่ เช่น การซื้อขาย ก็มีตลาดหลายระดับ เช่น ตั้งแต่แหล่งผลิตในหมู่บ้าน ในระดับอำเภอ ตลาดกลางที่เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค อาจจะเป็นในจังหวัด ตลาดในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลาง เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา กรุงเทพมหานคร และระดับค้าปลีก ซึ่งกระจัดกระจายทั่วไป ในแต่ละระดับก็มีการขนส่ง มีการเก็บรักษา แต่ละหน้าที่ในตลาดแต่ละระดับ ก็มีผู้ทำหน้าที่มาก การทำหน้าที่ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายจริง เช่น ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายที่ผู้ทำหน้าที่คิดว่าควรจะได้ ซึ่งเป็นผลตอบแทน หรือกำไร ถ้ารวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเป็นเงินมากมาย เป็นยอดเงินที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายในการซื้อสินค้าระดับขายปลีก เมื่อลบด้วยค่าใช้จ่ายในการตลาดแล้ว จะเหลือเป็นเงินที่ผู้ผลิตได้รับ เช่น ส้มเขียวหวาน สมมติว่าผู้บริโภคซื้อกิโลกรัมละ ๑๕ บาท แต่ชาวสวนได้รับกิโลกรัมละ ๔ บาท ส่วนที่ต่างกัน กิโลกรัมละ ๑๑ บาท ก็ต้องถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการตลาด ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายจริง และกำไรของผู้ทำหน้าที่การตลาด