เล่มที่ 18
ระบบการค้าผลิตผลการเกษตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัจจัยที่มีผลต่อระบบการตลาดสินค้าเกษตร

            ระบบการตลาดสินค้าเกษตรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เหตุผลสำคัญก็คือ ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้การผลิตเปลี่ยนไปด้วย นอกจากนี้สินค้าบางชนิดต้องการรูปแบบการตลาดเฉพาะ เช่น สินค้าที่เน่าเสียง่าย การพัฒนาระบบ การผลิต และการตลาด จึงเปลี่ยนไป คือ แทนที่จะปลูก แล้วขายให้ใครก็ได้ แต่เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ผลิตว่า ผลิตแล้วขายได้ และทางฝ่ายผู้ซื้อแน่ใจว่า จะมีสินค้าพอกับความต้องการ จึงมีการตลาดแบบใหม่เกิดขึ้นที่เรียกว่า ตลาดแบบมีข้อตกลง ซึ่งจะอธิบายในแต่ละข้อดังนี้

ไร่ปอ

ข้าว
การเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต

            การผลิตสินค้าเกษตรเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยน มีการผลิตสินค้าใหม่ เมื่อ ๒๐ ปีก่อนพืชหลักก็มี ข้าว ข้าวโพด ปอ ต่อมามีมันสำปะหลัง อ้อย การเลี้ยงโคนม กาแฟ พืชน้ำมันก็มี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ปาล์ม น้ำมัน มีผักและผลไม้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความต้องการของตลาดเปลี่ยนไป ผู้บริโภคเมื่อมีการศึกษาสูงขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยทั่วไปจะบริโภคอาหารจำพวกแป้งน้อยลง แต่จะบริโภคอาหารประเภทผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาสาขาเกษตร ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ ๖ หมวดคือ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง ป่าไม้ การให้บริการในทางเกษตร เช่น รับจ้างไถ รับจ้างนวดข้าว และบริการแปรรูปอย่างง่าย เช่น จัดแยกสินค้าตามคุณภาพ การคัดสินค้า ความสำคัญของแต่ละหมวดเปลี่ยนแปลงไปมากในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๑๐ - ๒๕๓๑) สัดส่วนของมูลค่าการผลิตพืชมีแนวโน้มลดลง ขณะที่มูลค่าการเลี้ยงสัตว์ และบริการการแปรรูปเพิ่มขึ้น กิจกรรมด้านป่าไม้ลดลง เพราะป่าไม้ และผลิตภัณฑ์ป่าลดลง เช่นเดียวกับการประมง เพราะปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง

            ถ้าจะดูมูลค่ารวมของพืชที่ปลูก สัดส่วนความสำคัญของพืชแต่ละชนิดเปลี่ยนไปมาก เช่น ในช่วง พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๓๑ ข้าวซึ่งเป็นพืชหลักมีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๔๗ ของมูลค่าการผลิตพืช ในช่วง พ.ศ.๒๕๑๐ เหลือเพียงร้อยละ ๓๓ ใน พ.ศ.๒๕๓๑ พืชไร่ เช่น ปอ ข้าวโพด มันสำปะหลัง มีสัดส่วนลดลง ไม้ยืนต้นทั้งยางพารา และไม้ผล มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ผัก ผลไม้ และไม้ตัดดอก รวมทั้งผักและผลไม้ ที่เป็นวัตถุดิบในโรงงานแปรรูป เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น การที่มีสินค้าใหม่เกิดขึ้น ก็เท่ากับระบบตลาดของสินค้าชนิดนั้น ก็ต้องพัฒนาขึ้น ซึ่งจะมีลักษณะพิเศษต่างกับสินค้าเดิม

ลักษณะการผลิต และการจำหน่ายของเกษตรกร

            สินค้าเกษตรนอกจากจะมีลักษณะพิเศษต่างจากสินค้าอื่นแล้ว เช่น เน่าเสียง่าย เป็นสินค้าวัตถุดิบ คือ ต้องนำไปแปรรูป ปริมาณการผลิตและคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ยังมีลักษณะพิเศษอีกหลายประการที่ทำให้ระบบ ตลาดสินค้าเกษตรต่างจากสินค้าอื่น และสินค้าแต่ละชนิดก็ต่างกัน ลักษณะพิเศษที่สำคัญมีดังนี้

เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ประชาชนจะบริโภคอาหารประเภทนมและเนื้อเพิ่มขึ้น

ผลิตผลการเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกร
:ต้นปาล์มน้ำมัน

ผลิตผลการเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกร
:ไม้ตัดดอก

๑. สินค้าเกษตรผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยและกระจัดกระจาย

            นั่นก็คือ ปริมาณการผลิต และปริมาณสินค้าที่เหลือขายมีไม่มาก และกระจัดกระจาย พืชหรือสินค้าแต่ละชนิดมีปลูก และมีขาย เกือบทั่วทุกจังหวัด จากครัวเรือนเกษตรกร ประมาณ ๕.๒ ล้านครัวเรือน แต่ละครัวเรือนอาจจะขายพืชผลบางชนิด แต่ละชนิดคุณภาพก็ต่างกัน มีทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวเจ้าเองก็มีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ก็ต่างกัน ทั้งความยาวของเมล็ด คุณภาพในการสี คุณภาพในการหุงต่างกัน

ตัวอย่าง เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก มีข้าวเหลือขาย ครัวเรือนละประมาณ ๔ เกวียน หรือ ๔ ตัน (ประมาณ ๔,๐๐๐ กิโลกรัม) ทำให้การตลาดในระดับไร่นากระจัดกระจายกันเกือบทั้งประเทศ มีผู้รับซื้อในทุกหมู่บ้าน ปริมาณขาย ของเกษตรกรแต่ละคน มีไม่มากพอ ที่จะขนส่งไปขายให้กับโรงสีได้

๒. เกษตรกรขายพืชผลทันทีหลังเก็บเกี่ยว

            เหตุผลเนื่องจากต้องการเงินสด สำหรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และจ่ายค่าปัจจัยการผลิต ประกอบกับขาดที่เก็บรักษา ทำให้ต้องรีบขายทันที เช่น ข้าวนาปี ประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขาย จะขายในเดือนมกราคม-มีนาคม ประมาณร้อยละ ๖๐ ของข้าวนาปรังจะขายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ประมาณร้อยละ ๗๓ ของกระเทียมที่ปลูกในภาคเหนือ จะขายในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน การที่สินค้าออกสู่ตลาดมาก ทำให้การกระจายสินค้าของพ่อค้าทำได้ไม่ทัน เพราะพ่อค้าคนกลางต้องมียุ้งฉางเก็บ บางทีก็รับซื้อได้ไม่หมด ทำให้ราคาต่ำในฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่จะขายพืชผลในไร่นา หรือถ้าขายข้าวเรียกว่า ขาย "หน้าลาน" คือ เก็บเกี่ยวเสร็จ นวดและขาย โดยไม่มีการขนเข้าเก็บในยุ้ง มีจำนวนน้อยที่นำไปขายยังตลาดหรือโรงสี และมีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ขายไปล่วงหน้า หรือเรียกว่า "ขายเขียว" ซึ่งมีปฏิบัติกันมากในเรื่องของผลไม้ เช่น เงาะ ลำไย ทุเรียน โดยพ่อค้าจะไปติดต่อขอซื้อเหมา หลังจากทราบคร่าวๆ ว่า ผลิตผลมีเท่าใด ตกลงซื้อขายกัน แล้วชำระเงินให้ส่วนหนึ่ง แล้วให้เกษตรกรเป็นผู้ดูแลผลิตผล จนกว่าจะถึงเวลาเก็บเกี่ยว

            ลักษณะการผลิต และการเก็บเกี่ยวข้างต้น มีผลทำให้การตลาดสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้มีผู้ซื้อมากในระดับไร่นา สินค้าที่ขายอาจยังมีคุณภาพไม่ดี เพราะเพิ่งเก็บเกี่ยวเสร็จ แต่ต้องรีบขาย ทำให้พ่อค้าต้องเสียค่าใช้จ่าย และเสี่ยงในเรื่องคุณภาพสินค้า จะลดความเสี่ยง ก็โดยรับซื้อในราคาต่ำ ไม่ซื้อตามคุณภาพ และอาจหาทางเอารัดเอาเปรียบในเรื่องชั่ง ตวง วัด

ชาวนา

รสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค

            ความต้องการของผู้บริโภคในระดับขายปลีก เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น นิยมการซื้ออาหารในร้านที่ทันสมัย และมีเครื่องปรับอากาศ อาหารแต่ละชนิดแปรรูปมา พร้อมที่จะนำไปปรุงอาหารได้เลย เช่น ไก่สับเป็นชิ้นๆ หรือมีเครื่องปรุง บรรจุถาดสำหรับนำไปปรุงได้ทันที ผักและผลไม้ต้องมีคุณภาพดี มีการบรรจุกล่อง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ระบบตลาดสินค้าต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ต้องมีการแปรรูป การบรรจุ คัดเลือกสินค้าแยกตามคุณภาพ สุดท้ายจะสะท้อนไปถึงผู้ผลิตโดยตรงว่า สินค้าอะไรที่ตลาดต้องการ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่อาจจะคาดการณ์ได้ ขึ้นกับรายได้ และรสนิยม สภาพแวดล้อมในการทำงาน และที่อยู่อาศัย กรณีตัวอย่างข้างต้นเท่ากับว่า ผู้บริโภคต้องการบริการในการตลาดเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการเหล่านี้ เวลาซื้อสินค้ามา

ส้มเขียวหวานเป็นพืชผลชนิดหนึ่ง
ที่มีการขายเขียว

ทัศนคติและค่านิยมของผู้บริโภค

            ความนึกคิดของผู้บริโภค มีความสำคัญมากในระบบตลาด ซึ่งก็คล้ายๆ กับเรื่องรสนิยมของผู้บริโภค แต่เป็นเรื่องความรู้สึกนึกคิด และค่านิยมว่า ควรจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สินค้าดีน่าจะมีลักษณะอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งคิดว่า ผลไม้หรือผักที่ซื้อมา ควรจะมีคุณภาพดี สวยงาม ขนาดต้องสม่ำเสมอ ไม่มีรอยตำหนิ แม้ราคาแพงก็จะซื้อ แต่ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะคุณภาพไม่ต่างกัน ขอให้ราคาไม่แพงก็ใช้ได ้ทำให้ระบบตลาดเปลี่ยนไป กลุ่มแรกต้องการของมีคุณภาพดี ไม่เน่าเสีย ขนาดผลเท่ากัน ผิวของผลไม้ต้องสวย อาจจะต้องล้างทำความสะอาดตบแต่งให้แลดูสวยงาม แต่อีกกลุ่มหนึ่ง สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็น ดังนั้นจะเห็นว่า มิใช่แต่บริการการตลาดในระดับขายปลีกจะต่างกัน แต่จะต่างกันตั้งแต่ผู้ผลิต การบรรจุ การขนส่ง ค่านิยมของผู้บริโภค เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ระบบตลาดเปลี่ยนแปลง

การขนส่งส้มเขียวหวานออกจากสวน

พืช ผัก ผลไม้ ที่วางขายตามตลาด

ลักษณะพิเศษของตลาดสินค้าบางชนิด

            สินค้าเกษตรแต่ละชนิด ปกติจะดำเนินการไป โดยกลไกการตลาด แต่ก็มีสินค้าหลายชนิด ไม่ได้ดำเนินการไปเอง แต่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาล อาจจะกำหนดกฎเกณฑ์การซื้อขาย หรือรัฐบาลต้องจัดระเบียบการตลาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ระบบตลาดเปลี่ยนไปจากที่ควรจะเป็น เช่น การที่รัฐบาลไทยมีข้อตกลงกับตลาดประชาคมยุโรป (ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อสินค้ามันเส้นจากประเทศไทย เกือบทั้งหมด) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา ให้ประเทศไทยส่งมันสำปะหลังไปจำหน่ายได้ ไม่เกินปีละประมาณ ๕.๒๕ ล้านตัน ทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรว่า จากจำนวนดังกล่าว ผู้ส่งออกรายใด จะส่งออกได้มากน้อยแค่ไหน ประกอบกับไม่มีการใช้มันเส้นเป็นอาหารสัตว์ในประเทศ ทำให้ระบบตลาดมันสำปะหลังมีลักษณะพิเศษ เมื่อเกษตรกรขายเป็นหัวมัน โรงงานมันเส้นก็จะแปรรูปหัวมันเป็นมันเส้น แล้วโรงงานมันอัดเม็ดจะผลิตมันอัดเม็ดเกือบตลอดปี ขณะที่เกษตรกรจะขุดหัวมันขายเป็นช่วงๆ เหมือนสินค้าเกษตรอื่นๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีตลาดน้ำตาลทราย ซึ่งจัดระบบตลาดแบบแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างชาวไร่ และแรงงาน ในสัดส่วน ๗๐ : ๓๐ ระบบตลาดภายใน และตลาดส่งออก จึงถูกกำหนดว่า จะขายตลาดภายในประเทศจำนวนเท่าใด ราคากิโลกรัมละเท่าใด และการส่งออกจะแบ่งกันอย่างไร ระหว่างกลุ่มโรงงานต่างๆ ดังนั้นระบบตลาดน้ำตาล จึงต่างกับสินค้าอื่นๆ

            ตัวอย่างระบบตลาดข้าวเปลือก เมื่อเกษตรกรเกี่ยวข้าว และนวดเสร็จแล้ว ก็จะขายให้กับพ่อค้าในพื้นที่ แล้วนำไปขายให้กับโรงสี โรงสีนำไปตาก แล้วเก็บ เมื่อได้ปริมาณพอ และตลาดมีความต้องการ ก็จะสีเป็นข้าวสาร แล้วขายต่อให้กับพ่อค้าขายส่ง หรือนายหน้าที่ซื้อข้าวสารสำหรับผู้ส่งออก ผู้ขายส่งภายใน ก็ส่งต่อให้กับพ่อค้าปลีก แล้วจำหน่ายให้กับผู้บริโภค  

            เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำนมสดจะต่างกัน เพราะเมื่อเกษตรกรรีดนมแล้ว ซึ่งปกติรีดวันละ ๒ เวลา คือ ตอนเช้า และตอนเย็น เมื่อรีดเสร็จ ก็นำน้ำนมส่งให้กับสหกรณ์ หรือศูนย์รวมนมในพื้นที่ทันที ซึ่งศูนย์รวมนี้ จะมีอุปกรณ์ห้องเย็นเก็บรักษาน้ำนมที่อุณหภูมิต่ำ เมื่อได้มากพอแล้ว จึงส่งให้โรงงานแปรรูป เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มต่อไป ผู้ที่ทำหน้าที่ในการตลาดน้ำนมสดจึงมีน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวเปลือก ต้องขนส่งน้ำนมทันที เพราะจะเน่าเสีย ขณะที่ข้าวเปลือกเก็บรักษาไว้ได้เป็นปี

 
การรีดนม

การแทรกแซงของรัฐบาล

            แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว การตลาดสินค้าเกษตรในประเทศไทย จะดำเนินการโดยธุรกิจเอกชน รัฐบาลมีบทบาทน้อยมาก จะมีก็แต่เฉพาะให้บริการด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น ให้บริการข่าวสารการตลาด และราคา สร้างถนนหนทาง และท่าเรือ และอื่นๆ แต่ก็มีเหมือนกันที่รัฐบาลออกแทรกแซงการตลาด คือ  แทนที่จะปล่อยให้ตลาดดำเนินการไปเอง รัฐบาลจะออกไปรับซื้อ ซึ่งมีไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเกษตรกร บางปีอาจจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตรออกรับจำนำข้าวเปลือก ปริมาณที่ออกรับซื้อมีน้อย ไม่ถึงกับทำให้ระบบการตลาดเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็มีส่วนให้ระบบการตลาดในปีนั้น เปลี่ยนไปจากที่ควรจะเป็นบ้าง


โรงงานผลิตอาหารสัตว์

ข้าวโพดฝักอ่อน (สำหรับนำมาประกอบอาหาร)

การเปลี่ยนแปลงของระบบตลาด

            อุตสาหกรรมแปรรูปจะต้องทำต่อเนื่อง เช่น การ ผลิตอาหารสัตว์ ต้องใช้วัสดุอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ในปริมาณที่แน่นอน และตลอดทั้งปี โรงงานแปรรูปอาหารกระป๋อง ที่ต้องการวัตถุดิบตลอดทั้งปี ปัญหาของโรงงานเหล่านี้ก็คือ ทำอย่างไรจึงมีวัตถุดิบเพียงพอตลอดปี เกษตรกรผู้ผลิตเอง ก็มีปัญหาในการขายพืชผลเหล่านี้ เพราะบางปีราคาแพง บางปีราคาต่ำ จึงได้มีรูปแบบการตลาดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ตลาดแบบมีข้อตกลง ผู้ซื้อจะรับซื้อสินค้าในราคาที่ตกลงกัน ซึ่งอาจจะต่ำกว่าราคาตลาดบ้างเล็กน้อย หรือรับซื้อตามราคาตลาด แต่ผู้ผลิตก็มีความมั่นใจว่า ผลิตแล้ว ขายได้ในราคาที่กำหนด ขณะเดียวกันผู้ผลิต ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้รับซื้อ เช่น ในเรื่องการใช้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช ระยะเวลาที่ทำการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยว เช่น ข้าวโพดฝักอ่อน ต้องปลูกปีละ ๔-๕ รุ่น ส่วนมากผู้รับซื้อ จะจัดหาปัจจัยการผลิตให้ผู้ผลิต การตลาดแบบมีข้อตกลง จะมีมากขึ้นในอนาคต เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผัก ข้าวโพดฝักอ่อน และมะเขือเทศ สำหรับโรงงานแปรรูป ระบบตลาดของสินค้าเหล่านี้ จึงไม่สลับซับซ้อนเหมือนสินค้าทั่วไป เก็บเกี่ยวแล้วก็จัดส่ง จำหน่ายให้ผู้รับซื้อที่มีข้อตกลงกัน อาจจะโดยตรง หรือผ่านผู้รวบรวมในท้องถิ่น

            ระบบตลาดโดยมีข้อตกลง มิใช่จะมีแต่การปลูกพืช การเลี้ยงไก่กระทงในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๕) แทบทั้งหมด ก็เลี้ยงโดยอาศัยระบบตลาดแบบนี้ ผู้รับซื้อไก่เป็นจะจัดพันธุ์ อาหาร ยารักษาสัตว์ให้กับผู้เลี้ยง ที่มีข้อตกลง ผู้เลี้ยงไก่ต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำ เมื่อถึงกำหนดก็จะส่งไก่ให้กับโรงชำแหละของผู้ซื้อ ตามราคาที่ตกลงกัน

            ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้ระบบตลาดเปลี่ยนแปลง บางคราวก็ยากที่จะแยกออกมาพิจารณาในแต่ละเรื่อง เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลพร้อมกัน ต่อไปในอนาคตอาจจะมีปัจจัยอย่างอื่นเพิ่มอีกก็ได้