เล่มที่ 18
ระบบการค้าผลิตผลการเกษตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การทำความเข้าใจระบบตลาด

            เนื่องจากระบบตลาดเป็นเรื่องสลับซับซ้อน การทำความเข้าใจภาพรวมทั้งหมด จึงเป็นเรื่องยาก
จะทำได้ก็แต่เฉพาะสินค้าบางสินค้า ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ดังได้อธิบายมาแล้ว แม้กระทั่งในสินค้าแต่ละชนิด ก็มีวิธีทำความเข้าใจอยู่ได้หลายวิธี ดังนั้นในการทำความเข้าใจ อาจจะต้องใช้หลายวิธี ประกอบ เช่น

วิธีแรก

            เป็นการให้ภาพกว้างๆ ว่า หลังจากที่สินค้าออกจากมือผู้ผลิต ได้ผ่านขั้นตอนการตลาดไปอย่างไร กว่าจะถึงมือผู้บริโภค ซึ่งรู้จักกันดีว่า เป็นการพิจารณาช่องทาง หรือวิถีการตลาด ทำให้ทราบว่า สินค้าผ่านผู้ทำหน้าที่ในการตลาด โดยเฉพาะหน้าที่ในการซื้อขาย มักจะแสดงเป็นร้อยละ คือ คิดว่า สินค้าออกจากผู้ผลิต ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผ่านใครได้บ้าง มากน้อยแค่ไหน แล้วให้ไปถึงผู้บริโภค ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน ต้องปรับเทียบให้สินค้ามีลักษณะเหมือนกันเสียก่อน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสินค้าชนิดหนึ่ง เช่น ข้าวเปลือก แต่เมื่อผู้บริโภคซื้อไป จะเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งคือ ข้าวสารชนิดต่างๆ จากวิถีการตลาด ทำให้ทราบว่า ใครทำหน้าที่ในการตลาดบ้าง

            ตัวอย่างวิถีการตลาดของสับปะรดในภาคตะวันออก ซึ่งไม่สลับซับซ้อนเหมือนข้าวสาร หรือข้าวโพด เพราะถ้าไม่ส่งโรงงานสับปะรดกระป๋องก็ต้องบริโภคสด จะมีลักษณะง่ายๆ ดังแผนภาพข้างล่างนี้



วิธีที่สอง

            เป็นการพิจารณาว่าหน้าที่ในการตลาดแต่ละหน้าที่ มีใครทำหน้าที่ใดบ้าง ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าใด เช่น ในการขนส่งสินค้าจากเกษตรกร จนถึงนำสินค้าไปยังผู้บริโภค ต้องเสียค่าขนส่งในแต่ละระดับรวมกันมากน้อยแค่ไหน ค่าเก็บรักษา ค่าจ้างแรงงาน ค่าแปรรูปก็สามารถจะศึกษาได้เช่นกัน การพิจารณาในลักษณะนี้ นอกจากจะเข้าใจว่า มีใครทำหน้าที่อะไรบ้างแล้ว จะทำให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายในการทำหน้าที่นั้นๆ ด้วย ซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการทำหน้าที่ต่างๆ และทราบผลตอบแทนของผู้ทำหน้าที่ได้แล้ว ก็จะทราบว่า ค่าใช้จ่ายในการตลาดของสินค้าแต่ละชนิด มีมากน้อยแค่ไหน มี รายการค่าใช้จ่ายใดบ้างที่ควรจะลด

            ตัวอย่างง่ายๆ เพื่อประกอบความเข้าใจ เช่น พ่อค้าที่รับซื้อหัวมันสดจากชาวไร่มันสำปะหลัง แล้วขายต่อให้กับโรงงานมันเส้น ค่าใช้จ่ายต่อกิโลกรัม แยกตามหน้าที่หลักของการตลาดจะมีดังนี้



วิธีที่สาม

            คือ มองจากผู้ทำหน้าที่การตลาด เพื่อต้องการทราบว่า ผู้ทำหน้าที่เหล่านั้น ทำหน้าที่อะไรบ้าง เช่น มีหน้าที่ในการรวบรวมสินค้าการซื้อขาย การขนส่ง หรือทำหน้าที่เป็นแต่เพียงนายหน้า ผู้ที่ทำหน้าที่เหล่านี้ มีทั้งเอกชนรายบุคคล บริษัท สมาคม รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ การทำความเข้าใจลักษณะนี้ ทำให้ทราบว่า ผู้ทำหน้าที่ในการตลาดมีใครบ้าง จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว

            การทำความเข้าใจเป็นการมองโครงสร้างของการตลาด เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า การที่ใครเข้ามาทำหน้าที่การตลาด คิดค่าใช้จ่าย และกำไรมากน้อยแค่ไหน ทำหน้าที่แล้ว มีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตลาดสินค้าชนิดนั้นๆ การพิจารณาโครงสร้างมักจะดูว่า ผู้ที่ทำหน้าที่มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ถ้าจำนวนมาก โอกาสที่จะกำหนดราคา หรือค่าใช้จ่ายตามใจชอบ มักจะทำไม่ได้ แต่จะแข่งขันกัน ถ้าไม่มาก ก็ต้องพิจารณาต่อว่า มีเหตุผลอย่างไร เป็นเพราะขนาดธุรกิจมีน้อย หรือต้องใช้เงินลงทุนสูง หรือทำได้ เพราะได้รับสิทธิพิเศษ การที่ไม่มีคู่แข่ง ทำให้การให้บริการอาจจะไม่ดี แต่คิดค่าบริการแพง การศึกษาลักษณะนี้ จะทำให้เข้าใจเหตุผลดีขึ้น

            การทำความเข้าใจการตลาดอีกลักษณะหนึ่งก็คือ ดูเฉพาะตลาดในแต่ละระดับ เป็นการมองทั้งจากหน้าที่ที่ทำ และผู้ที่ทำหน้าที่การตลาด ในตลาดระดับหนึ่งๆ หน้าที่ในการตลาดจะมีมากน้อยต่างกัน เช่น ในแหล่งผลิตก็มีตลาดรับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรรายย่อย เมื่อรวบรวมได้มากพอ ก็นำไปขายในตลาดกลาง ที่มีการซื้อขายกันมากๆ และมักจะมีโรงงานแปรรูป เสร็จแล้วก็จะส่งสินค้าไปตลาดกลางปลายทาง ในเมืองใหญ่ ที่เป็นแหล่งแจกจ่ายสินค้าไปยังผู้บริโภคทั้งประเทศ รวมทั้งแจกจ่ายไปให้โรงงานอุตสาหกรรม และส่งออก เช่น การตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งง่ายและไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรเมื่อขุดหัวมันขึ้นมาแล้ว ก็ต้องขายให้โรงงานทำมันเส้น ดังนั้น ตลาดในท้องที่ก็คือ โรงงานมันเส้น ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งผลิต เมื่อทำมันเส้นเสร็จแล้ว ก็ขายต่อให้โรงงานมันอัดเม็ด ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ และในอำเภอบ้านไผ่ รวมทั้งในตัวจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ถือได้ว่า เป็นตลาดกลางต่างจังหวัด ต่อไปก็ส่งมันอัดเม็ด หรือขายมันเส้น ไปตลาดกลางปลายทาง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางไทร และอำเภอเมือง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งในตลาดเหล่านี้ อาจจะมีโรงงานมันอัดเม็ดอยู่ด้วย และพร้อมที่จะส่งออกต่างประเทศ

            ลักษณะตลาดข้างต้นอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับเส้นทางการขนส่ง และความสะดวกในการขนส่ง เช่น เมื่อก่อนสินค้าส่วนมากมาจากพระนครศรีอยุธยา ลงมายังกรุงเทพฯ โดยขนส่งทางเรือ ต่อมาเมื่อขนส่งทางถนนสะดวกกว่า จึงใช้รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ ต่อมาก็มีการใช้รถพ่วง ทำให้ขนส่งทางถนนมากขึ้น แต่ในฤดูฝน ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำสูง ประกอบกับปัญหาการจราจร ในเขตกรุงเทพมหานคร จึงใช้การขนส่งทางเรือมากขึ้น ทำให้ศูนย์กลางการค้าเปลี่ยนไปด้วย