ปัญหาของระบบตลาดสินค้าเกษตร
มองจากภาพรวมแล้ว ปัญหาที่ต้องปรับปรุงระบบตลาดสินค้าเกษตรมีอยู่อีกมาก ซึ่งถ้าปรับปรุงได้ จะทำให้สังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์ ผู้ผลิตจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะมีสินค้าที่มีคุณภาพดี และราคาพอสมควร ผู้ทำหน้าที่การตลาด ก็จะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า สรุปได้ว่า ถ้าได้รับการปรับปรุงแล้ว ผลดีจะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ปัญหาที่สำคัญๆ มีดังนี้
๑. ไม่มีการซื้อขายตามคุณภาพสินค้า ในปัจจุบันการซื้อขายในระดับการส่งออก มีการกำหนดราคา ตามคุณภาพ เพราะผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศ และในระดับผู้บริโภคในเมืองใหญ่ ต้องการสินค้าบางชนิด มีการซื้อขายตามคุณภาพ แต่เป็นคุณภาพที่คัดกันเอง โดยพ่อค้าขายส่ง หรือพ่อค้าปลีก แต่ขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน หรืออาจจะมี แต่ไม่เป็นระบบ และใช้เฉพาะตลาดระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีการปฏิบัติในระดับไร่นา สินค้าแทบทุกชนิด พ่อค้าซื้อจากเกษตรกร โดยอาศัยคุณภาพเฉลี่ย หรือราคาเฉลี่ย ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดก็คือ ผู้ผลิต
๒. ขาดหน่วยที่ใช้ชั่ง ตวง วัด ที่เป็นมาตรฐานในตลาดทุกระดับ มีทั้งซื้อขาย โดยยึดน้ำหนัก เช่น เป็นกิโลกรัม หรือยึดปริมาตร เช่น ตวงกันเป็นถัง ถังเองก็มีทั้งที่เป็นมาตรฐาน และภาชนะที่ใช้เฉพาะในท้องถิ่น แต่ละระดับตลาด ก็ใช้ไม่เหมือนกัน เช่น การซื้อข้าวในระดับไร่นาใช้ตวงเป็นถัง ซึ่งขนาดถังก็ไม่เท่ากัน ระดับพ่อค้าขายส่งใช้หน่วยเป็นหาบ (หาบหนึ่งมี ๖๐ กิโลกรัม) ระดับส่งออก และขายปลีก มีทั้งชั่งเป็นกิโลกรัม และมีตวงเป็นลิตร สินค้าอื่นๆ ก็เช่นกัน การใช้หน่วยวัดต่างกันในตลาดแต่ละระดับ จะทำให้มีผู้ได้เปรียบ และเสียเปรียบ
เครื่องชั่งข้าว
ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงตราดอยคำ
๓. เกษตรกรยังขาดข้อมูลข่าวสารการตลาด พ่อค้าคนกลาง เช่น ผู้ส่งออก และพ่อค้าขายส่งรายใหญ่ สามารถจัดหาข่าวสารการตลาดได้เอง เพราะมีผู้ให้บริการในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เกษตรกรรายย่อยไม่อาจจะจัดหาได้ เพราะเป็นบริการที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลจึงต้องจัดหาให้ แต่ก็ทำได้จำกัด เพียงแต่ประกาศราคาสินค้าทางวิทยุ หรือทางโทรทัศน์ ผู้ผลิตยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ ข่าวสารการตลาดที่จะได้ประโยชน์ นอกจากจะต้องบอกภาวะตลาดในปัจจุบันแล้ว ยังต้องคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตได้ด้วย เพื่อเกษตรกรจะได้ตัดสินใจวางแผนการผลิต และการขายได้
๔. เนื่องจากเกษตรกรผู้ผลิตแต่ละราย มีสินค้าเหลือขายไม่มาก และกระจัดกระจายกันไปในแหล่งผลิต และห่างไกลจากแหล่งซื้อขายหลัก ประกอบกับส่วนใหญ่ขายทันทีหลังเก็บเกี่ยว โอกาสที่เกษตรกรจะขายได้ตามราคาตลาดในขณะนั้น และตามคุณภาพของสินค้ามีน้อย เพราะเกษตรกรแต่ละคนไม่มีโอกาสทราบว่า ราคาตลาดจริงๆ เป็นอย่างไร นอกจากผู้ซื้อจะบอก การปรับปรุงในเรื่องนี้ทำได้ในหลายลักษณะ เช่น พยายามที่จะให้มีแหล่งซื้อขายในท้องที่ ที่จะให้ผู้ผลิตนำสินค้ามาขาย และมีผู้ซื้อหลายคน ก็คิดว่า ราคาที่ซื้อขายจะเป็นธรรมมากขึ้น การปรับปรุงอีกอย่างหนึ่งคือ ให้เกษตรกรรวมเป็นกลุ่ม อาจจะเป็นในรูปของสหกรณ์ หรือในรูปของกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้กลุ่มรวบรวมผลิตผลให้มีปริมาณมากพอ แล้วนัดหมายกับผู้ซื้อให้มาตกลงราคาซื้อขาย แต่ในทางปฏิบัติยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่
การปรับปรุงในเรื่องข้างต้น แต่ละฝ่ายต่าง ก็มีบทบาทได้ ผู้ผลิตเองก็ทำได้ โดยคัดและแยกสินค้าตามคุณภาพก่อนขาย คนกลางมีหน้าที่ต้องทำอยู่แล้ว ถ้าผู้บริโภคต้องการ ผู้บริโภคเองก็มีบทบาทที่จะแสดงให้พ่อค้าคนกลางได้ทราบว่า ต้องการบริการตลาดอะไรบ้าง เช่น ถ้าอยากได้ สินค้าคุณภาพดี ก็ต้องจ่ายเงินซื้อแพง การปรับปรุงส่วนหนึ่ง รัฐบาลต้องดำเนินการ เช่น ในเรื่องสร้างถนนหนทาง การสื่อสารคมนาคม การออกระเบียบ และข้อบังคับ รวมทั้งดูแลให้มีการปฏิบัติตามระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ด้วย