เล่มที่ 20
จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
จิตรกรรม หรือภาพเขียนในประเทศไทย มีอยู่เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เป็นภาพเขียนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ก่อนที่จะเกิดจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

            ผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เขียนภาพบนผนังถ้ำ เพิงผา เช่น ภาพที่เกี่ยวกับการล่าสัตว์ การเกษตรกรรม หรือพิธีกรรม ซึ่งนักวิชาการในปัจจุบัน แม้ว่ายังอธิบายให้ชัดเจนไม่ได้ แต่ภาพเขียนเก่าแก่เหล่านี้ ก็ช่วยให้เรานึกถึงลักษณะทางสังคมของคนในยุคนั้น เช่น หากเป็นภาพการล่าสัตว์ หรือการเพาะปลูก ผู้คนในยุคนั้น ก็ย่อมมีวิถีชีวิตในระดับสังคมล่าสัตว์ หรือระดับสังคมเกษตรกรรม ซึ่งมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง เป็นต้น


ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี

ภาพเขียนเหล่านี้ยังไม่มีระเบียบแบบแผนชัดเจน องค์ประกอบภาพ ซึ่งมีรูปบุคคลกิริยาท่าทางต่างๆ หรือรูปสัตว์ ที่ล้วนเขียนขึ้นอย่างอิสระ ไม่ถูกต้องตามสัดส่วนสรีระ คงเขียนขึ้น เพื่อสื่อความในหมู่เหล่าของตน

            ภาพเขียนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เกิดจากการใช้เครื่องมือ ที่อาจเป็นกิ่งไม้ทุบปลายให้แตกเป็นฝอย ใช้เป็นแปรง เพื่อจุ่มสีเขียนภาพ ซึ่งได้เป็นเส้นหยาบๆ หรือระบายให้เป็นรูปร่างอย่างคร่าวๆ นอกจากนี้ยังมีการพ่นสี คงเป็นการอมสีไว้ในปาก แล้วพ่นออกมา หรือพ่นโดยผ่านกระบอกไม้ลงบนมือ ซึ่งทาบทับบนผนัง ก็จะได้รูปมือ ตลอดจนพิมพ์ทาบทับ เช่น ทาบฝ่ามือที่ชุบสีลงบนผนังให้เกิดเป็นรูปรอยฝ่ามือ บางแห่งได้พบว่า มีการเขียนแต่งเติมให้เป็นรูปมือที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น การสะบัดสีให้เป็นรูปรอยต่างๆ ก็มีอยู่ด้วย