เล่มที่ 20
จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การสร้างจิตรกรรมฝาผนังของช่างไทยในสมัย โบราณ

            กรรมวิธีสร้างจิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณไม่ได้มีการบันทึกไว้แน่ชัดว่า มีขั้นตอนโดยละเอียดอย่างไร ใช้วัสดุอะไรบ้าง แต่เท่าที่มีผู้ศึกษา และสอบถามช่างเขียนรุ่นเก่า ที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถเรียบเรียงเป็นความรู้เบื้องต้นได้ว่า ต้องมีการเตรียมผนัง มีการลงสีรองพื้น ด้วยวิธีการพิเศษ ก่อนที่จะเขียนภาพ

สีที่ใช้ในการสร้างภาพจิตรกรรม

การตัดเส้นด้วยสีแดงและสีดำและปิดทอง จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่ง
พุทไธสวรรย์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            เพื่อไม่ให้พื้นผนังดูดสีที่จะเขียน การเตรียมผนังจึงต้องหมักปูนขาวที่จะฉาบผนังไว้นานราว ๓ เดือน หรือนานกว่านั้น ระหว่างหมักปูนต้องหมั่นถ่ายน้ำจนความเค็มของปูนลดน้อยลง ต่อจากนั้นจึงนำปูนที่หมักมาเข้าส่วนผสม มีน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนเหนียวประมาณความเหนียวของน้ำผึ้ง และยังมีส่วนผสมของกาวที่ได้จากยางไม้ หรือกาวหนังสัตว์ที่ได้จากการเคี่ยวหนังวัว หนัง ควาย หรือหนังกระต่ายก็มี บางแห่งมีทรายร่อนละเอียดเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ส่วนผสมดังกล่าวจะทำให้ปูนมีความแข็ง เหนียว และผิวเรียบเป็นมัน เมื่อปูนฉาบแห้งสนิทแล้ว มีการชโลมผนังด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็ก เพื่อลดความเป็นด่างของผนัง เพราะเชื่อว่า ด่างจะทำปฏิกิริยากับสีบางสี เช่น สีแดง ให้จางซีด

            การทดสอบว่า ผนังยังมีความเป็นด่างอยู่อีกหรือไม่ กระทำได้ด้วยการใช้ขมิ้นขีดที่ผนัง หากสีเหลืองของขมิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดงแสดงว่า ผนังยังมีความเป็นด่าง ต้องชะล้างด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็กต่อไปอีก

            เสร็จจากขั้นตอนการเตรียมผนัง ก็ถึงการทารองพื้นก่อนการเขียนภาพ โดยใช้ดินสอพองบดละเอียด นำไปหมักในน้ำ กรองเอาสิ่งสกปรกออกไป แล้วทับน้ำให้หมาด นำมาผสมกับกาวที่ได้จากน้ำต้มเม็ดในของมะขาม เมื่อแห้งจึงขัดให้เรียบ ก่อนเริ่มขั้นตอนการเขียนภาพ อนึ่ง ภาพเขียนบนผืนผ้า (พระบฏ) ภาพเขียนบนแผ่นไม้ หรือบนกระดาษที่เรียกว่า สมุดข่อย ก็ต้องรองพื้นด้วยวิธีเดียวกันด้วย

            สีที่ใช้ระบายภาพเตรียมด้วย ธาตุ หรือแร่ เช่น สีดำได้จากเขม่า หรือถ่านของไม้เนื้อแข็ง สีเหลือง สีนวล ได้จากดินตามธรรมชาติ สีแดงได้จากดินแดง บางชนิดเตรียมจากแร่ ก่อนเขียนต้องนำมาบดให้ละเอียด สีจะละลายน้ำได้ง่าย น้ำที่ใช้ผสมกับน้ำกาวเตรียมจากหนังสัตว์ หรือกาวกระถิน โดยผสมในภาชนะเล็กๆ เช่น โกร่ง หรือกะลา เมื่อใช้ไปสีแห้งก็เติมน้ำ ใช้สากบดฝนให้กลับเป็นน้ำสีใช้งานได้อีก สีแดง เหลือง เขียว คราม ขาว ดำ ใช้เป็นหลักโดยนำมาผสมกันเกิดเป็นสีอื่นๆ ได้อีก

            นอกจากนี้ยังมีสีทองคือ แผ่นทองคำเปลว ใช้ปิดส่วนสำคัญที่ต้องการความแวววาว ก่อนปิดทองต้องทากาว เช่น กาวได้จากยางต้นรัก หรือจากยางต้นมะเดื่อ หลังจากปิดทองแล้ว จึงตัดเส้นเป็นรายละเอียด การตัดเส้นมักตัดด้วยสีแดง หรือสีดำ เพราะ ๒ สีนี้ ช่วยขับสีทองให้เปล่งประกายได้ดีกว่าสีอื่น จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นิยมปิดทองมาก เช่น ภาพพระราชาที่เครื่องแต่งพระองค์ เครื่องสูง ปราสาทราชมณเฑียร ราชรถ ตลอดจนเครื่องประดับฉากอื่นๆ มีผู้กล่าวว่า ในรัชสมัยดังกล่าวนี้ เป็นช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

            การตัดเส้น ใช้พู่กันขนาดเล็ก เรียกกันตามขนาดที่เล็กว่า พู่กันหนวดหนู ความจริงทำจากขนหูวัว มีขนาดใหญ่ขึ้นตามการใช้งาน เช่น ระบายบนพื้นที่ขนาดเล็ก แปรงสำหรับระบายพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำจากรากต้นลำเจียก หรือจากเปลือกต้นกระดังงา โดยนำมาตัดเป็นท่อนพอเหมาะต่อการใช้ นำไปแช่น้ำ เพื่อจะทุบปลายข้างหนึ่งให้แตกเป็นฝอยได้ง่าย เพื่อใช้เป็นขนแปรง นอกจากใช้ระบายพื้นที่ใหญ่ที่กล่าวมาแล้ว ช่างไทยยังใช้ปลายแปรงแตะสีหมาดๆ เพื่อแตะแต้ม หรือที่เรียกว่า กระทุ้งให้เกิดเป็นรูปใบไม้เป็นกลุ่มเป็นพุ่ม นิยมทำกันในจิตรกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วิธีการนี้ใช้แทนการระบายสี และตัดเส้น ด้วยพู่กัน ให้เป็นใบไม้ทีละใบ ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าการใช้แปรงกระทุ้ง การระบายสีตัดเส้นเป็นใบไม้ ทำกันในช่วงเวลาของจิตรกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา

            ในช่วงเวลาต่อมาอิทธิพลตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทยอย่างมากมาย ตั้งแต่รัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผลต่อการปรับเปลี่ยนลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี โดยมีพัฒนาการตามแนวจิตรกรรมตะวันตกเรื่อยมา เช่น เขียนให้มีบรรยากาศตามธรรมชาติ จนกลายเป็นภาพเหมือนจริงยิ่งขึ้นทุกที รูปแบบจิตรกรรมเช่นนี้ สอดคล้องกับแนวความคิดของสังคม ที่เริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่แนวสัจนิยมอย่างตะวันตก เรื่องราวแนวอุดมคติอันเนื่องในพุทธศาสนา ถูกแทนที่ความนิยม ด้วยภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ เช่น พระราชพงศาวดาร หรือพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

            พัฒนาการดังกล่าวได้กลายเป็นจิตรกรรม แบบสากลในที่สุด ดังจิตรกรรมที่เขียนขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวทางการแสดงออกที่หลากหลาย มีสีให้เลือกใช้มากมายหลายชนิด เป็นสีที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ สีน้ำมัน สีอะคริลิก สีน้ำ เป็นต้น เรื่องราวไม่จำกัดอยู่กับเรื่องราว ทางศาสนาอีกต่อไป